คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8201/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้หนังสือแต่งตั้งตัวแทนจะมิได้ประทับตราสำคัญของบริษัท ส. ก็ตาม ก็เป็นเรื่องความเกี่ยวพันระหว่างโจทก์และบริษัท ส. เท่านั้น ซึ่งบริษัท ส. ไม่เคยโต้แย้งปฏิเสธว่าโจทก์มิใช่ตัวแทนของตนแต่อย่างใด ทั้งยังยอมรับการกระทำของโจทก์โดยออกกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามที่โจทก์แจ้งต่อบริษัท ส. โจทก์จึงเป็นตัวแทนโดยชอบของบริษัท ส. เมื่อจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์รับเงินค่าเบี้ยประกันภัยดังกล่าวไว้จากผู้เอาประกันภัยจึงมิใช่เป็นการรับไว้ในฐานะตัวแทนของผู้เอาประกันภัย หากแต่เป็นการรับไว้แทนโจทก์เพื่อนำไปมอบให้แก่โจทก์การที่จำเลยเบียดบังเอาเงินดังกล่าวไปเป็นของตนเองอันแสดงถึงเจตนาทุจริต ซึ่งโจทก์ต้องรับผิดชอบต่อบริษัท ส. โดยอาจจะต้องถูกบังคับให้ชดใช้จากหลักประกันที่โจทก์วางไว้ต่อบริษัท ส. โจทก์จึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลย ย่อมเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 28(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352, 91

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก, 91 รวม 5 กระทงให้เรียงกระทงลงโทษ จำคุกกระทงละ 2 เดือนรวมจำคุก 10 เดือนข้อหาอื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3รับฟังมาว่า โจทก์เป็นตัวแทนของบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์มีหน้าที่เก็บเงินค่าเบี้ยประกันแทนโจทก์ จำเลยเก็บเงินค่าเบี้ยประกันภัยจากลูกค้าแล้วไม่นำส่งให้แก่โจทก์ซึ่งโจทก์ต้องรับผิดต่อบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าหนังสือตั้งโจทก์เป็นตัวแทน ไม่ได้ประทับตราสำคัญของบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด โจทก์จึงมิได้เป็นตัวแทนโดยชอบของบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด ทั้งเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่จำเลยเก็บมาจากลูกค้าดังกล่าวเป็นเงินของลูกค้าที่ยังมิได้เข้ามาอยู่ในความครอบครองของโจทก์หรือบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด แต่อย่างใดนั้น เห็นว่าแม้หนังสือแต่งตั้งตัวแทน จะมิได้ประทับตราสำคัญของบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด ก็ตาม ก็เป็นเรื่องความเกี่ยวพันระหว่างโจทก์และบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด เท่านั้น ซึ่งบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด ไม่เคยโต้แย้งปฏิเสธว่าโจทก์มิใช่ตัวแทนของตนแต่อย่างใด ทั้งยังยอมรับการกระทำของโจทก์โดยออกกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามที่โจทก์แจ้งต่อบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัดโจทก์จึงเป็นตัวแทนโดยชอบของบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด เมื่อจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์รับเงินค่าเบี้ยประกันภัยดังกล่าวไว้จากผู้เอาประกันภัยจึงมิใช่เป็นการรับไว้ในฐานะตัวแทนของผู้เอาประกันภัยหากแต่เป็นการรับไว้แทนโจทก์เพื่อนำไปมอบให้แก่โจทก์การที่จำเลยเบียดบังเอาเงินดังกล่าวไปเป็นของตนเอง อันแสดงถึงเจตนาทุจริตซึ่งโจทก์ต้องรับผิดชอบต่อบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด โดยอาจจะต้องถูกบังคับให้ชดใช้จากหลักประกันที่โจทก์วางไว้ต่อบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด โจทก์จึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลย ย่อมเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) มีอำนาจฟ้องจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28(2)ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษแก่จำเลยนั้นเห็นว่า ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษและพิพากษาลงโทษจำเลยเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นเดียวกัน”

พิพากษายืน

Share