คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 770/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ราชพัสดุราชการใช้สำหรับรับเสด็จและเป็นที่พักกรมการอำเภอ สุขาภิบาลใช้ปลูกสร้างที่ทำการประปา ที่ประชุมสุขาภิบาล จึงเป็นทรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(3)แม้จะได้มีการจดทะเบียนโอนไปยังบุคคลภายนอกโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทนก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิประการใด
ทะเบียนที่ราชพัสดุที่จำเลยอ้าง เป็นเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น ย่อมให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องเป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายัน จะต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือไม่ถูกต้องแห่งเอกสารจำเลยไม่จำต้องนำพยานบุคคลมาสืบประกอบ เมื่อโจทก์สืบหักล้างเอกสารไม่ได้ศาลก็รับฟังทะเบียนที่ราชพัสดุเป็นพยานได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ดูแลที่ดินราชพัสดุ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ตกลงให้จำเลยที่ 2 สั่งสรรพากรจังหวัดเป็นผู้ดูแลแทน จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นสรรพากรจังหวัดนำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ของโจทก์เพื่อออกโฉนดเป็นกรรมสิทธิ์ของที่ราชพัสดุ ขอให้ห้ามจำเลยและบริวารมิให้เกี่ยวข้อง ฯลฯ

จำเลยให้การว่า ที่พิพาทไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ แต่เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินทรัพย์สินของแผ่นดิน ซึ่งทางราชการสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

ศาลชั้นต้นเห็นว่า ที่พิพาทเป็นที่ราชพัสดุ ฯลฯ พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาฟังว่า ที่พิพาทอยู่ในเขตที่ราชพัสดุ ได้ขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุมาแต่ พ.ศ. 2465 ก่อนนั้นก็เป็นที่หลวงมาประมาณ 19 ปี และใช้ราชการสำหรับรับเสด็จ และเป็นที่พักกรมการอำเภอกระทรวงการคลังได้อนุมัติให้สุขาภิบาลห้วยยอดปลูกสร้างที่ทำการประปาและที่ประชุมสุขาภิบาล ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ราชพัสดุแปลงนี้เป็นทรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1304(3) แม้จะได้มีการจดทะเบียนโอนไปยังบุคคลภายนอกโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิประการใด ทั้งจะยกอายุความขึ้นต่อสู้ก็ไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1305 และ 1306 ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยมีแต่ทะเบียนที่ราชพัสดุเป็นหลักฐานอย่างเดียว ไม่มีพยานบุคคลมาสืบประกอบ จึงรับฟังเป็นหลักฐานไม่ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ทะเบียนที่ราชพัสดุเป็นเอกสารมหาชน ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น ย่อมให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง เป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่ยกอ้างเอกสารนั้นมายันต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 จำเลยไม่จำต้องนำพยานบุคคลมาสืบประกอบ เมื่อโจทก์สืบหักล้างเอกสารนี้ไม่ได้ ศาลก็รับฟังทะเบียนที่ราชพัสดุเป็นพยานได้

พิพากษายืน

Share