แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีอาญาที่มีผู้เสียหายหลายคน ผู้เสียหายแต่ละคนย่อมมีสิทธิฟ้องผู้กระทำผิดได้ การที่ผู้เสียหายคนหนึ่งฟ้องผู้กระทำผิดก่อนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็ไม่มีบทบัญญัติห้ามผู้เสียหายคนอื่นฟ้องผู้กระทำผิดอีก ส่วน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 วรรคสอง (1) ซึ่งได้บัญญัติห้ามโจทก์เมื่อได้ยื่นฟ้องต่อศาลแล้วและคดีอยู่ในระหว่างพิจารณายื่นฟ้องจำเลยเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่นอีก ก็เป็นการห้ามเฉพาะโจทก์ในคดีเดิมเท่านั้นมิให้ฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกัน แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 จะให้นำมาใช้บังคับในคดีอาญาได้แต่โจทก์ก็ไม่ได้ฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันกับที่ฟ้องคดีนี้มาก่อนการที่ ม. ภรรยาโจทก์เคยฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันกับคดีนี้ก็ยังไม่ถือว่าเป็นการฟ้องแทนโจทก์ด้วย ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีที่ ม. เคยฟ้องจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองสมคบกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรม คือ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2529 ถึงวันที่ 2 ตุลาคม2529 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้งสองสมคบกันปลอมหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำอันเป็นเอกสารสิทธิ โดยจำเลยทั้งสองปลอมลายมือชื่อโจทก์ ทั้งชื่อตัวและชื่อสกุลลงในช่องผู้จะขาย มีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในช่องผู้จะซื้อ โดยมีเจตนาเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2529 จำเลยทั้งสองสมคบกันใช้หรืออ้างเอกสารสิทธิที่จำเลยทั้งสองปลอมขึ้นดังกล่าวมาฟ้องโจทก์ต่อศาลชั้นต้นตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1662/2529 ของศาลชั้นต้นทำให้โจทก์เสียหาย เพราะหากศาลเชื่อตามสัญญาดังกล่าวก็จะพิพากษาให้โจทก์โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264, 265, 268, 91 และนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1741/2529 ของศาลแขวงนครราชสีมา
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268, 91 แต่ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามมาตรา 268 จำคุกคนละ 2 ปี คำให้การของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามมาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 2 ไว้ 1 ปี 4 เดือนนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1741/2529ของศาลแขวงนครราชสีมา
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า เกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่ 2ตามฟ้องคดีนี้ นางมุยเตียง ศรีแสง ภรรยาโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 2ไว้แล้ว ศาลชั้นต้นได้ออกหมายจับจำเลยที่ 2 และให้จำหน่ายคดีชั่วคราว ได้ตัวจำเลยที่ 2 มาแล้วจะได้ยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไปตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1657/2529 ของศาลชั้นต้น ถือว่าคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ฟ้องโจทก์คดีนี้สำหรับจำเลยที่ 2 จึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ส่วนจำเลยที่ 1 พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักพอฟังลงโทษได้ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่2 ตุลาคม 2529 จำเลยที่ 2 ได้ฟ้องโจทก์และนางมุยเตียงภรรยาโจทก์ต่อศาลชั้นต้นให้โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 40541 ตำบลหัวทะเลอำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ของโจทก์และนางมุยเตียงให้จำเลยที่ 2 ตามสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.1ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2529 แล้วถอนฟ้องไป ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้นางมุยเตียงได้ฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 2ปลอมเอกสารหมาย จ.1 และใช้เอกสารปลอมดังกล่าว ศาลชั้นต้นได้ออกหมายจับจำเลยที่ 2 และจำหน่ายคดีชั่วคราวปรากฏตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1657/2529 ของศาลชั้นต้น แม้โจทก์ไม่ได้ฎีกาว่าฟ้องของโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1657/2529ของศาลชั้นต้น แต่เมื่อโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามฟ้องด้วยก็จำเป็นต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่าฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2เป็นฟ้องซ้อนกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1657/2529 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ในคดีอาญาที่มีผู้เสียหายหลายคนผู้เสียหายแต่ละคนย่อมมีสิทธิฟ้องผู้กระทำผิดได้ การที่ผู้เสียหายคนหนึ่งคนใดฟ้องผู้กระทำผิดก่อน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็ไม่มีบทบัญญัติห้ามผู้เสียหายคนอื่นฟ้องผู้กระทำผิดอีก ส่วนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ซึ่งได้บัญญัติห้ามโจทก์เมื่อได้ยื่นฟ้องต่อศาลแล้วและคดีอยู่ในระหว่างพิจารณายื่นคำฟ้องจำเลยเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่นอีก ก็เป็นการห้ามเฉพาะโจทก์ในคดีเดิมเท่านั้นมิให้ฟ้องจำเลยซ้ำในเรื่องเดียวกัน แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 จะให้นำมาใช้บังคับในคดีอาญาได้ แต่โจทก์ก็ไม่ได้ฟ้องจำเลยที่ 2 ในเรื่องเดียวกันกับที่ฟ้องคดีนี้มาก่อน การที่นางมุยเตียง ภรรยาโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในเรื่องเดียวกับคดีนี้ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1657/2529 ของศาลชั้นต้น ก็ยังไม่ถือว่าเป็นการฟ้องแทนโจทก์ด้วย ฟ้องของโจทก์คดีนี้เกี่ยวกับจำเลยที่ 2จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีอาญาดังกล่าว แล้วศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำผิดตามฟ้อง
พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265, 268 ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมเพียงกระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง จำคุกคนละ 2 ปีคำเบิกความของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 4 เดือน นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1741/2529 ของศาลแขวงนครราชสีมา