แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินต่อกันโดยต่างทำนิติกรรมยกให้ที่ดินซึ่งกันและกัน ภายหลังศาลฎีกาได้พิพากษาว่า นิติกรรมที่จำเลยโอนที่ดินให้โจทก์ตกเป็นโมฆะ โจทก์ต้องคืนที่ดินให้จำเลย ดังนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยภายใน 1 ปี นับแต่วันทราบคำพิพากษาศาลฎีกา ขอให้จำเลยคืนที่ดินซึ่งจำเลยรับโอนจากโจทก์ไม่ว่าศาลจะวินิจฉัยเรื่องอายุความในลักษณะขอให้เพิกถอนนิติกรรมหรือเรียกคืนลาภอันมิควรได้หรือในลักษณะใด คดีของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์, จำเลย ที่ ๑ ได้ตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินเฉพาะส่วนของคนต่อกัน โดยต่างทำนิติกรรมยกให้ที่ดินซึ่งกันและกัน ต่อมาจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ ๑ ได้เป็นโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซึ่งจำเลยที่ ๑ โอนที่ดินเฉพาะส่วนให้โจทก์นั้นเสีย โดยอ้างว่าจำเลยที่ ๑ กระทำไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสามี ศาลฎีกาพิพากษาว่า นิติกรรมตกเป็นโมฆะให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว ที่ดินซึ่งจำเลยที่รับโอนจากโจทก์จึงเป็นลาภมิควรได้ของจำเลยที่ ๑ จึงขอเรียกที่ดินเฉพาะส่วนซึ่งโจทก์โอนให้จำเลยที่ ๑ กลับคืน และเรียกค่าเสียหาย ๒,๐๐๐ บาท
จำเลยให้การปฏิเสธฟ้อง และตัดฟ้องว่าคดีขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนที่ดินให้โจทก์ตามฟ้อง และใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ปีละ ๖๓๐ บาท ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๘ จนหยุดละเมิด
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ได้ทราบสิทธิที่จะเรียกที่ดินคืนจากจำเลยนั้นเกิดจากผลที่ศาลฎีกาพิพากษาว่า นิติกรรมที่จำเลยที่ ๑ โอนที่ดินให้โจทก์ตกเป็นโมฆะโจทก์ต้องคืนที่ดินให้จำเลยที่ ๑ โจทก์ได้ทราบคำพิพากษาฎีกาซึ่งเป็นคำพิพากษาชั้นที่สุด เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๔๙๘ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๙ไม่ว่าศาลจะวินิจฉัยเรื่องอายุความในลักษณะขอให้เพิกถอนนิติกรรมหรือเรียกคืนลาภอันมิควรได้ หรือในลักษณะใด คดียังไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน