คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7688/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การตั้งประเด็นในฎีกาเพื่อขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยนั้น ต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา จะทำเป็นคำแถลงการณ์หาได้ไม่ ดังนั้น แม้จำเลยจะยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีไม่ปิดอากรแสตมป์ก็ตาม แต่จำเลยยื่นหลังจากพ้นกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาแล้ว คำร้องดังกล่าวของจำเลยเป็นเพียงคำแถลงการณ์เท่านั้น จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นในชั้นฎีกา
แม้โจทก์จะตั้ง จ. เป็นตัวแทนทำสัญญาเช่าอาคารพิพาทกับจำเลยโดยมิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 789 ก็ตาม แต่จำเลยยอมรับว่าจำเลยเช่าอาคารพิพาทตามที่โจทก์ฟ้อง และโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่าแก่จำเลยแล้ว อีกทั้งคดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและเรียกค่าเสียหาย อันเป็นเรื่องที่จำเลยและบริวารอยู่ในอาคารที่เช่าโดยละเมิดโจทก์จึงมีอำนาจขับไล่จำเลยและบริวารออกจากอาคารพิพาทและเรียกค่าเสียหายโดยมิต้องอาศัยสัญญาเช่าแต่ประการใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากอาคารที่เช่า และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 116,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับค่าเสียหายต่อไปอีกเดือนละ 4,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 4,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกจากอาคารที่เช่า

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากอาคารเลขที่ 1535/4 ซอยพระยาเพชร์ ถนนเจริญกรุง แขวงยานนาวา เขตสาธร กรุงเทพมหานคร และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 5,800 บาทและค่าเสียหายต่อไปอีกเดือนละ 200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินทั้งสองดังกล่าว นับแต่วันที่ 30 มกราคม 2540 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากอาคารดังกล่าว

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยอ้างว่าหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์มอบอำนาจให้นายอภิชาติ กมลทิพย์ ฟ้องคดีไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า จำเลยยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะเหตุดังกล่าวหลังจากพ้นกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาแล้ว จึงถือว่าคำร้องดังกล่าวของจำเลยเป็นเพียงคำแถลงการณ์เท่านั้น การตั้งประเด็นคดีในชั้นฎีกาเพื่อขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยนั้น จำเลยจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา จะทำเป็นคำแถลงการณ์หาได้ไม่ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการที่สองว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าบันทึกข้อตกลงเรื่องสิทธิเก็บกินเอกสารท้ายฟ้องโจทก์หมายเลข 1 มีข้อความสับสนเลอะเลือน อ่านไม่ออก อ่านไม่เข้าใจ และค่าเสียหายของโจทก์ที่เรียกมาไม่ชัดเจน เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายไว้ชัดเจนแล้วว่า โจทก์เป็นผู้ทรงสิทธิเก็บกินตลอดชีวิตโดยชอบด้วยกฎหมายบนที่ดินโฉนดเลขที่ 5161 และ 671 ตำบลบางขวาง (บ้านทวาย) อำเภอยานนาวา (บางรัก) จังหวัดพระนคร อันเป็นที่ตั้งของอาคารเลขที่ 1535/4ถนนสาธรใต้ แขวงและเขตยานนาวา (สาธร) กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้จดทะเบียนสิทธิเก็บกินที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2513 ต่อมาวันที่ 1 กันยายน 2534 จำเลยได้ทำสัญญาเช่าอาคารเลขที่ 1535/4ถนนเจริญกรุง แขวงยานนาวา เขตสาธร กรุงเทพมหานคร มีกำหนดระยะเวลาการเช่า 3 ปี ค่าเช่าเดือนละ 100 บาท และบรรยายฟ้องเกี่ยวกับค่าเสียหายว่าเมื่อหมดอายุสัญญาเช่าแล้ว จำเลยไม่ได้ทำสัญญาเช่าใหม่ จำเลยและบริวารยังคงครอบครองอาคารที่เช่าเป็นการละเมิด โจทก์อาจนำไปให้บุคคลภายนอกเช่าจะได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 4,000 บาท โจทก์ขอคิดค่าเสียหายจากจำเลยนับแต่วันที่สัญญาเช่าสิ้นสุดลงจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 116,000 บาท เห็นว่าตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 เมื่ออ่านแล้วสามารถเข้าใจได้ว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิเก็บกินตลอดชีวิตในที่ดินที่อาคารพิพาทตั้งอยู่ ซึ่งโจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า โจทก์มีสิทธิเก็บกินตลอดชีวิตบนที่ดินโฉนดเลขที่ 5161 และ 671 ตำบลบางขวาง (บ้านทวาย) อำเภอยานนาวา (บางรัก) จังหวัดพระนคร ซึ่งอาคารพิพาทตั้งอยู่ และโจทก์ได้บรรยายฟ้องต่อมาเกี่ยวกับค่าเสียหายว่า โจทก์อาจนำอาคารพิพาทให้บุคคลภายนอกเช่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 4,000 บาทเป็นค่าเสียหายนับแต่วันทำสัญญาเช่าสิ้นสุดลงจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 116,000บาท จึงเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว คำฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการสุดท้ายว่า โจทก์มอบอำนาจให้นางสาวจิตรา รักตประจิต ทำสัญญาเช่าแทนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า สัญญาเช่าอาคารพิพาทมีกำหนด 3 ปี ซึ่งการเช่าจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ การที่โจทก์อ้างนางสาวจิตรารักตประจิต เป็นตัวแทนเพื่อทำสัญญาเช่าอาคารพิพาทกับจำเลย จึงต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออ้าง แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือมอบให้นางสาวจิตรา รักตประจิต เป็นผู้มีอำนาจทำสัญญาเช่าอาคารพิพาทกับจำเลยสัญญาเช่าจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า แม้โจทก์จะตั้งนางสาวจิตรา รักตประจิต เป็นตัวแทนทำสัญญาเช่าอาคารพิพาทกับจำเลยโดยมิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 ก็ตาม แต่จำเลยยอมรับว่าจำเลยเช่าอาคารพิพาทตามที่โจทก์ฟ้อง และโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่าแก่จำเลยแล้ว อีกทั้งคดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและเรียกค่าเสียหาย อันเป็นเรื่องที่จำเลยและบริวารอยู่ในอาคารที่เช่าโดยละเมิดโจทก์จึงมีอำนาจขับไล่จำเลยและบริวารออกจากอาคารพิพาทและเรียกค่าเสียหายโดยมิต้องอาศัยสัญญาเช่าแต่ประการใด ฎีกาจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share