แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศของโจทก์ที่แจ้งให้ลูกจ้างทราบถึงความจำเป็นของโจทก์ที่ต้องหยุดกิจการทั้งหมดลงชั่วคราวและจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในอัตราร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่โจทก์หยุดกิจการชั่วคราวตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 มิใช่หนังสือเลิกจ้างลูกจ้าง แม้ในประกาศจะระบุให้ลูกจ้างพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานไปทันทีที่ไปทำงานประจำกับนิติบุคคลอื่น ก็เป็นเพียงเงื่อนไขที่โจทก์จะใช้สิทธิเลิกจ้างลูกจ้างเท่านั้น การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างไปทำงานกับนิติบุคคลอื่นจึงมิใช่เป็นการตกลงเลิกสัญญาจ้างกับโจทก์ จำเลยที่ 2 ยังคงเป็นลูกจ้างโจทก์ ระหว่างที่โจทก์ประกาศหยุดกิจการชั่วคราว โจทก์มิได้มอบหมายงานให้จำเลยที่ 2 ทำ ส่วนเงินที่โจทก์จ่ายให้ในอัตราร้อยละห้าสิบของค่าจ้างก็มิใช่ค่าจ้าง แต่เป็นเงินที่ต้องจ่ายตาม มาตรา 75 และบทมาตราดังกล่าวก็มิได้บัญญัติห้ามลูกจ้างไปทำงานกับบุคคลอื่นในระหว่างที่นายจ้างประกาศหยุดกิจการชั่วคราว การที่จำเลยที่ 2 ไปทำงานกับนิติบุคคลอื่นจึงมิใช่การละทิ้งหน้าที่หรือทำผิดสัญญาจ้าง เมื่อโจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 2 โดยที่จำเลยที่ 2 มิได้กระทำผิดตาม มาตรา 119 โจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่จำเลยที่ 2
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานจำเลยที่ 1 ที่ 105/2545 และมีคำสั่งให้การเลิกจ้างจำเลยที่ 2 เป็นการเลิกจ้างที่โจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ยอมรับข้อเท็จจริงตามฟ้อง แต่การเลิกจ้างจำเลยที่ 2 นั้น โจทก์ต้องจ่ายค่าชดเชย เพราะกรณีดังกล่าวไม่เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กแผ่นชนิดต่าง ๆ ต่อมาในปี 2540 กิจการของโจทก์ประสบกับการขาดสภาพคล่องเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ โจทก์มีประกาศแจ้งให้ลูกจ้างทราบถึงความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดเป็นการชั่วคราวและจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างร้อยละห้าสิบของค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่โจทก์ไม่ให้ลูกจ้างทำงานตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2544 เป็นต้นไป โดยกำหนดเงื่อนไขว่าหากลูกจ้างคนใดไปทำงานกับนิติบุคคลอื่นให้สถานภาพการเป็นลูกจ้างสิ้นสุดลงทันที ประกาศของโจทก์นั้น เป็นเพียงประกาศแจ้งให้ลูกจ้างทราบถึงความจำเป็นของโจทก์ที่ต้องหยุดกิจการทั้งหมดลงชั่วคราวและจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในอัตราร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่โจทก์หยุดกิจการชั่วคราว ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 แต่มิใช่หนังสือเลิกจ้าง แม้ในประกาศจะระบุให้ลูกจ้างพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานทันทีที่ไปทำงานประจำกับนิติบุคคลอื่น ก็เป็นเพียงเงื่อนไขที่โจทก์จะใช้สิทธิเลิกจ้างลูกจ้างเท่านั้น การที่จำเลยที่ 2 ไปทำงานกับนิติบุคคลอื่น จึงมิใช่เป็นการตกลงเลิกสัญญาจ้างกับโจทก์อันจะทำให้สัญญาจ้างสิ้นสุด จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของโจทก์มีหน้าที่ต้องทำงานตามที่โจทก์มอบหมายตามวันเวลาทำงานและสถานที่ทำงานที่โจทก์กำหนดโดยอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของโจทก์ ซึ่งโจทก์ต้องจ่ายค่าจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานของจำเลยที่ 2 ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 2 ทำงานให้แก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 และ 583 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 แม้จำเลยที่ 2 ยังเป็นลูกจ้างของโจทก์ในระหว่างโจทก์ประกาศหยุดกิจการชั่วคราว แต่โจทก์ก็มิได้มอบหมายงานให้จำเลยที่ 2 ทำในระหว่างนี้ ส่วนเงินที่โจทก์จ่ายให้จำเลยที่ 2 ในอัตราร้อยละห้าสิบของค่าจ้างนั้น ก็เป็นเงินที่ต้องจ่ายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 มิใช่เงินค่าจ้างที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงาน อีกทั้งมาตรา 75 ก็มิได้บัญญัติห้ามลูกจ้างไปทำงานให้แก่บุคคลอื่นในระหว่างที่นายจ้างประกาศหยุดกิจการชั่วคราว การที่จำเลยที่ 2 ไปทำงานกับนิติบุคคลอื่น จึงมิใช่เป็นการละทิ้งหน้าที่หรือทำผิดสัญญาจ้าง และไม่เป็นการเอาเปรียบโจทก์ที่รับเงินสองทาง เพราะเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยที่ 2 ในอัตราร้อยละห้าสิบนั้น มิใช่ค่าจ้าง เมื่อโจทก์มีหนังสือเลิกจ้างจำเลยที่ 2 ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2545 โดยที่จำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 โจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่จำเลยที่ 2 ตามมาตรา 118 อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.