คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2076/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ผู้ร้องอ้างว่าเหตุที่ไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์และไม่ได้ขอขยายระยะเวลาฟ้องคดีภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว เป็นเพราะไม่ได้รับทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เนื่องจาก ส. คนงานของผู้ร้องลงชื่อรับไว้แทนแต่หลงลืมและเดินทางกลับต่างจังหวัดจึงไม่ได้นำมามอบให้แก่ผู้ร้องภายในระยะเวลาที่ผู้ร้องสามารถยื่นคำฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางได้นั้น ไม่ใช่กรณีที่มีเหตุสุดวิสัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฟ้องคดีลงวันที่ 24 ตุลาคม 2546 และคำแถลงลงวันที่ 27 ตุลาคม 2546 ว่า เมื่อประมาณปี 2537 ผู้ร้องซื้อที่ดินจากนายสมพงษ์ โดยกู้เงินจากธนาคารมหานคร 250,000,000 บาท (รวมดอกเบี้ย) กำหนดชำระคืนภายใน 3 ปี และผู้ร้องได้ลงลายมือชื่อในใบมอบอำนาจให้ธนาคารไว้เพื่อจำหน่ายจ่ายโอนได้เมื่อครบกำหนดตามสัญญา ต่อมาธนาคารได้ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวเพื่อชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญาจำนองโดยผู้ร้องไม่ทราบเรื่อง หลังจากนั้นผู้ร้องได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2545 จากกรมสรรพากร แจ้งให้ชำระภาษีอันเกิดจากการโอนที่ดินดังกล่าวเพื่อชำระหนี้จำนองแก่ธนาคารคิดเป็นภาษีที่ต้องชำระทั้งสิ้น 44,212,928.76 บาท เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2545 ผู้ร้องได้ยื่นอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยยืนตามการประเมิน โดยลดเบี้ยปรับให้คงเหลือภาษีที่เรียกเก็บเป็นเงิน 21,539,631.96 บาท คำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวถูกส่งให้แก่ผู้ร้องทางไปรษณีย์ตอบรับ ณ ภูมิลำเนาของผู้ร้อง แต่ในขณะนั้นผู้ร้องไปปฏิบัติงาน ณ ที่ทำการบริษัทฯ จึงไม่ได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ด้วยตนเอง แต่นางสาวสินคนงานของผู้ร้องรับไว้แทน ผู้ร้องไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวและประสงค์จะฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลาง เหตุที่ผู้ร้องไม่สามารถนำคดีมายื่นฟ้องได้ทันภายในกำหนด 30 วัน นับแต่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เนื่องจากเพิ่งทราบจากนางสาวสินเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2546 อันเป็นเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ผู้ร้องไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยประการใด ๆ มิได้เป็นความตั้งใจหรือเจตนาจะทำให้ล่าช้าแต่อย่างใด ขอขยายระยะเวลาฟ้องคดีออกไปมีกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2546
ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้วได้แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ผู้ร้องทราบทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับและผู้ร้องได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2546 โดยนางสาวสินคนงานของผู้ร้องเป็นผู้รับ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 30 (2) บัญญัติให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ดังนั้น ผู้ร้องจึงต้องอุทธรณ์ต่อศาลหรือฟ้องคดีขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวภายในวันที่ 12 ตุลาคม 2546 หากมีพฤติการณ์พิเศษเป็นเหตุให้ผู้ร้องไม่สามารถอุทธรณ์ต่อศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ ผู้ร้องต้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาต่อศาลก่อนระยะเวลาดังกล่าวสิ้นสุดลง เว้นแต่กรณีที่มีเหตุสุดวิสัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 ที่ผู้ร้องอ้างว่าเหตุที่ผู้ร้องไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ และเหตุที่ผู้ร้องไม่ได้ขอขยายระยะเวลาฟ้องคดีภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวเป็นเพราะผู้ร้องไม่ได้รับทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เนื่องจากนางสาวสินเป็นผู้ลงชื่อรับไว้แทนแต่หลงลืมและเดินทางกลับต่างจังหวัดจึงไม่ได้นำมามอบให้แก่ผู้ร้องภายในกำหนดระยะเวลาที่ผู้ร้องสามารถยื่นคำฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางได้ ถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย นั้น เห็นว่า พฤติการณ์ตามอุทธรณ์ของผู้ร้องดังกล่าวหาใช่กรณีมีเหตุสุดวิสัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ไม่ ดังนั้น ที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องนั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ.

Share