คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1526/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คในวันเดียวกับวันออกเช็คว่า “โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย” หรือ “ยังรอเรียกเก็บอยู่ โปรดนำมายื่นใหม่” ซึ่งอาศัยข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 991(1) คือเงินในบัญชีไม่พอจ่ายในวันที่ออกเช็ค กรณีเช่นนี้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ไม่จำต้องนำสืบถึงรายละเอียดเกี่ยวกับเงินในบัญชีของจำเลย คดีโจทก์ก็มีมูล

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2529 ถึงเดือนกุมภาพันธ์2529 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยออกเช็คของธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาอ้อมน้อย จำนวน 2 ฉบับ คือ ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 20 มีนาคม2529 สั่งจ่ายเงินจำนวน 19,058 บาท ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 25 มีนาคม2529 สั่งจ่ายเงินจำนวน 20,790 บาท และมอบเช็คทั้งสองฉบับให้ผู้มีชื่อซึ่งนำเช็คสองฉบับดังกล่าวมาชำระหนี้ให้โจทก์เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนด ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2529 ให้เหตุผลว่า”โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย” และเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2529 ให้เหตุผลว่า “ยังรอเรียกเก็บเงินอยู่ โปรดนำมายื่นใหม่” ตามลำดับ ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 มาตรา 3 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาในชั้นฎีกาว่า ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์จะต้องนำสืบว่า ในวันออกเช็คเงินในบัญชีของจำเลยมีพอจ่ายตามเช็คหรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย การวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 222 ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คฉบับแรกลงวันที่ 20 มีนาคม 2529 จำนวนเงิน 19,058 บาท ตามเช็คเอกสารหมาย จ.2 และสั่งจ่ายเช็คฉบับที่สองลงวันที่ 25 มีนาคม 2529จำนวนเงิน 20,790 บาท ตามเช็คเอกสารหมาย จ.4 โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คดังกล่าวทั้งสองฉบับ เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์ได้เรียกเก็บเงินตามเช็ค แต่ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน เช็คฉบับแรกปฏิเสธการจ่ายเงิน เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2529 ระบุว่า”โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย” ตามใบคืนเช็ค เอกสารหมาย จ.3 เช็คฉบับที่สองปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2529 ระบุว่า”ยังรอเรียกเก็บเงินอยู่ โปรดนำมายื่นใหม่” ตามใบคืนเช็ค เอกสารหมาย จ.3 เห็นว่า เช็คทั้งสองฉบับธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินในวันเดียวกับวันออกเช็คหรือตามวันที่ที่ลงในเช็ค ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 991 บัญญัติว่า “ธนาคารจำต้องใช้เงินตามเช็คซึ่งผู้เคยค้ากับธนาคารได้ออกเบิกเงินแก่ตน เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้ คือ
(1) ไม่มีเงินในบัญชีของผู้เคยค้าคนนั้นเป็นเจ้าหนี้พอจะจ่ายตามเช็คนั้น หรือ
(2) เช็คนั้นยื่นเพื่อให้ใช้เงินเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันออกเช็คหรือ
(3) ได้มีคำบอกกล่าวว่าเช็คนั้นหายหรือถูกลักไป” ตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า ตามปกติธนาคารมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามเช็คเว้นแต่กรณีเข้าข้อยกเว้น ข้อความที่ธนาคารตามเช็คอ้างในใบคืนเช็คว่า “โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย” และอ้างว่า “ยังรอเรียกเก็บเงินอยู่โปรดนำมายื่นใหม่” นั้นเป็นข้อความที่มีความหมายชัดเจนว่า การปฏิเสธการจ่ายเงินไม่ได้อาศัยข้อยกเว้นตามข้อ (2) และข้อ (3) และไม่ใช่ข้อขัดข้องประการอื่นที่ไม่เกี่ยวกับเงินในบัญชี ดังนั้นเหตุที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินก็ต้องอาศัยข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 991(1) คือเงินในบัญชีไม่พอจ่ายในวันที่ออกเช็ค กรณีเช่นนี้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์จึงไม่จำต้องนำสืบถึงรายละเอียดเกี่ยวกับเงินในบัญชีของจำเลยอีกคดีโจทก์ก็มีมูล ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไป

Share