แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์มีหน้าที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมยึดไม่มีการขายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 149 และตาราง 5 ข้อ 3ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ทั้งนี้ต้องชำระต่อศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยไม่คำนึงว่าโจทก์จะได้นำยึดโดยสุจริตและเป็นผู้ขอให้ถอนการยึดหรือไม่ หากโจทก์ไม่ยอมชำระก็อาจถูกบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 295 ตรี ไม่ใช่เรื่องของความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดี ศาลจึงไม่อาจใช้ดุลพินิจกำหนดให้ฝ่ายจำเลยต้องรับผิดแทนฝ่ายโจทก์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดิน1 แปลง อ้างว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งโจทก์ว่าที่ดินดังกล่าวมีคำพิพากษาของศาลฎีกาพิพากษาว่าเป็นที่ดินของบุคคลที่สามไม่ใช่ที่ดินของจำเลย จะถอนการยึดให้โจทก์เป็นผู้รับผิดเสียค่าธรรมเนียมถอนการยึดและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมเป็นเงิน99,030 บาท โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า โจทก์นำยึดที่ดินดังกล่าวโดยสุจริต ไม่เคยปรากฎข้อโต้แย้งคัดค้านจากผู้ใด ขอให้มีคำสั่งให้ค่าธรรมเนียมถอนการยึดและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้โจทก์เสียตกเป็นพับ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุจะต้องไต่สวนคำร้อง ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องของโจทก์ฟังได้ว่า โจทก์เป็นฝ่ายดำเนินการบังคับคดีโดยได้นำยึดที่ดิน1 แปลง อ้างว่าเป็นทรัพย์สินของจำเลย เพื่อขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ แต่มีเหตุที่จะต้องถอนการยึดทรัพย์สินนั้น เห็นได้ว่าในกรณีเช่นนี้ โจทก์ย่อมมีหน้าที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมยึดไม่มีการขายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 149 และ ตาราง 5ข้อ 3 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ทั้งนี้โดยต้องชำระต่อศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยไม่คำนึงว่าโจทก์จะได้นำยึดโดยสุจริต และเป็นผู้ขอให้ถอนการยึดหรือไม่ หากโจทก์ไม่ยอมชำระก็อาจถูกบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 295 ตรี ไม่ใช่เรื่องของความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดี ศาลจึงไม่อาจใช้ดุลพินิจกำหนดให้ฝ่ายจำเลยต้องรับผิดแทนฝ่ายโจทก์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161
พิพากษายืน