คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 767/2521

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยแบ่งมรดกที่ดินของบิดามารดาแล้วครอบครองร่วมกันมา โจทก์ออกจากที่ดินไปอยู่ลาว ถือว่าจำเลยครอบครองแทนโจทก์ต่อมาเมื่อไม่ได้แสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะการครอบครอง โจทก์ฟ้องแบ่งที่ดินได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้แบ่งที่พิพาทแก่โจทก์ 1 ใน 3 จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงเชื่อได้ตามที่ศาลล่างทั้งสองฟังมาว่าโจทก์ทั้งสอง จำเลย นายสีม่วง นายคำดีและนายเทวีเป็นบุตรนายหล้านางจอมซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้วเมื่อ พ.ศ. 2505 นายหล้ามีที่ดิน 1 แปลงรวมที่พิพาทด้วยอยู่ที่ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนครเป็นมรดกตกได้แก่บุตรทั้ง 6 คนและได้แบ่งกันแล้ว โดยโจทก์ทั้งสองและจำเลยได้รับส่วนแบ่งร่วมกันเป็นเนื้อที่ 47 ตารางวา คือที่พิพาทนี้ คดีเฉพาะโจทก์ที่ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ที่ 1 ไม่ยื่นอุทธรณ์ คดีจึงถึงที่สุดยุติไปแล้วคงมีปัญหาสำหรับโจทก์ที่ 2 ว่ายังมีสิทธิฟ้องขอแบ่งที่พิพาทหรือไม่

พิเคราะห์แล้ว ตามคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 และนายสีม่วง แสนเสนพยานโจทก์ได้ความว่า โจทก์ที่ 2 อยู่กับนายหน้า แสนเสน บิดาในที่พิพาทตั้งแต่เกิดตลอดมาจนบิดาถึงแก่กรรม หลังจากนั้นโจทก์ที่ 2 ก็ยังอยู่ในที่พิพาทอีก 3 ปีจึงไปประเทศลาว โจทก์ที่ 2 และพยานโจทก์เบิกความสอดคล้องกันโดยเฉพาะนายสีม่วงเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดากับคู่ความทั้งสองฝ่ายและไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับฝ่ายใด จึงมีน้ำหนักให้เชื่อได้ ดังนี้ศาลฎีกาเห็นว่าการที่โจทก์ที่ 2 ครอบครองที่พิพาทร่วมกับจำเลยหลังจากบิดาตายมา 3 ปี แม้โจทก์ที่ 2 ไปอยู่ประเทศลาวภายหลังก็ถือได้ว่าจำเลยครอบครองแทนโจทก์ที่ 2 ต่อมา เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้แจ้งแก่โจทก์ที่ 2 ว่าไม่เจตนาจะครอบครองแทนโจทก์ที่ 2 อีกต่อไป จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ที่ 2 ขาดสิทธิครอบครองที่พิพาทโจทก์ที่ 2 มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์พิพาทนั้นได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748”

พิพากษายืน

Share