คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1538/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีเพื่อรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนกับผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ ดังนั้น จำเลยร่วมจะต้องรับผิดหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ขับรถยนต์คันที่จำเลยร่วมรับประกันภัยไว้นั้นได้ขับรถยนต์โดยประมาทอันเป็นการกระทำละเมิดหรือไม่ และขึ้นอยู่กับข้อกำหนดในกรมธรรม์ประกันภัย ขณะเกิดเหตุผู้เอาประกันภัยค้ำจุนได้นำรถยนต์ไปซ่อมเครื่องยนต์ที่อู่ซ่อมรถยนต์โดยยินยอมให้คนในอู่ขับรถได้เมื่อคนในอู่ขับรถยนต์นั้นโดยประมาท ก็ต้องถือเสมือนหนึ่งว่าผู้เอาประกันภัยได้ขับรถโดยประมาทเองตามที่กรมธรรม์ประกันภัยระบุไว้ จำเลยร่วมผู้รับประกันภัยค้ำจุนจึงต้องรับผิด และกรณีนี้แม้คำฟ้องจะระบุว่าผู้อื่นเป็นผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุก็ตาม ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างจากฟ้อง ความรับผิดของจำเลยร่วมเกิดขึ้นตามสัญญาประกันภัยและมีลักษณะเป็นการประกันวินาศภัยตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 20 หมวด 2 การฟ้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนความเสียหายจำต้องถืออายุความ 2 ปี นับแต่วันเกิดวินาศภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคแรกเมื่อโจทก์เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี แต่ยังไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันละเมิดฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับประกันวินาศภัยรถยนต์นั่งหมายเลขทะเบียน2ง-2070 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์นั่งหมายเลขทะเบียน4ค-6537 กรุงเทพมหานคร วันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์4ค-6537 ด้วยความประมาทชนรถยนต์ 2ง-2070 ได้รับความเสียหายขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 20,789 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องว่ารถยนต์ 4ค-6537 เอาประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยร่วม ขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีเพื่อรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยท้ายคำร้อง จำเลยร่วมให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างและผู้ขับขี่รถยนต์ 4ค-6537 ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 2ไม่ต้องรับผิดจำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดด้วย รถฝ่ายโจทก์เป็นฝ่ายประมาทค่าเสียหายไม่เท่าตามฟ้อง และคดีโจทก์เกี่ยวกับจำเลยร่วมขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง ระหว่างสืบพยานโจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1ที่ 2 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยร่วมชำระเงินตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยร่วมฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ขับขี่รถยนต์ยี่ห้อโคลท์กาแลนท์คันหมายเลขทะเบียน4ค-6537 ไปเพื่อประโยชน์ตามคำสั่งในทางการที่จ้างหรือทำการแทนในกิจการของจำเลยที่ 2 จนไปเกิดเหตุละเมิดนี้ และในทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนขับรถคันดังกล่าวในขณะเกิดเหตุแต่ข้อเท็จจริงที่จำเลยร่วมนำสืบกลับปรากฏว่า ในขณะเกิดเหตุรถยนต์คันดังกล่าวจำเลยที่ 2 นำไปซ่อมที่อู่รถยนต์ ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1ก็มิได้เป็นผู้ขับขี่และใครจะเป็นผู้ขับขี่ก็ไม่ทราบ ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาจึงแตกต่างกับคำฟ้องของโจทก์นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีนี้โจทก์ขอให้จำเลยร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 2ง-2070 ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ดังนั้นจำเลยร่วมจะต้องรับผิดหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ขับรถยนต์คันที่จำเลยร่วมรับประกันภัยไว้นั้นได้ขับรถโดยประมาทอันเป็นการกระทำละเมิดหรือไม่ และข้อกำหนดในกรมธรรม์ประกันภัยเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบและจำเลยร่วมมิได้นำสืบโต้แย้งคัดค้านว่า ผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าวได้ขับรถด้วยความเร็วสูงและแล่นเข้ามาในช่องทางเดินรถคันหมายเลขทะเบียน 2ง-2070จึงเกิดชนกับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 2ง-2070 ซึ่งโจทก์รับประกันภัยไว้เช่นนี้ ต้องฟังว่าผู้ขับขี่รถยนต์คันที่จำเลยร่วมรับประกันภัยไว้นั้นได้ขับรถยนต์โดยประมาทในขณะเกิดเหตุเป็นเหตุให้รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 2ง-2070 ได้รับความเสียหาย ส่วนจำเลยที่ 1 หรือผู้ใดจะเป็นผู้ขับรถคันที่กระทำละเมิดนั้นหาใช่ข้อสาระสำคัญไม่ เพราะแม้จะฟังตามที่จำเลยร่วมนำสืบว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ได้นำรถคันดังกล่าวไปซ่อมเครื่องยนต์ที่อู่โดยมอบกุญแจรถให้อู่ไว้ ซึ่งศาลล่างทั้งสองฟังว่าคนในอู่นำรถไปขับเพื่อทดลองเครื่องยนต์จนเกิดเหตุคดีนี้ขึ้น จำเลยร่วมก็ยังต้องรับผิดเนื่องจากสัญญากรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.6 ข้อ 2.8 ซึ่งกล่าวถึงเรื่องการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ระบุว่าบริษัทจะถือว่าบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง เมื่อศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ยินยอมให้คนในอู่รถขับรถในขณะเกิดเหตุซึ่งศาลฎีกาต้องฟังตามเช่นนี้ กรณีต้องถือเสมือนหนึ่งว่าผู้เอาประกันภัยคือจำเลยที่ 2 ได้ขับรถโดยประมาทเอง จำเลยร่วมผู้รับประกันภัยค้ำจุนจึงต้องรับผิด กรณีนี้ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้องดังที่จำเลยร่วมฎีกา ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยร่วมรับผิดนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยร่วมฟังไม่ขึ้น
ส่วนฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยร่วมว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันกระทำละเมิดนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ความรับผิดของจำเลยร่วมเกิดขึ้นตามสัญญาประกันภัยและมีลักษณะเป็นการประกันวินาศภัยตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 20 หมวด 2การฟ้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนความเสียหายจึงต้องถืออายุความ2 ปี นับแต่วันเกิดวินาศภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา882 วรรคแรก หาใช่ถืออายุความ 1 ปี ดังข้อฎีกาของจำเลยร่วมไม่ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาจำเลยร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”
พิพากษายืน

Share