คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 52/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ถูกริบจะต้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ศาลจึงจะสั่งคืนทรัพย์สินที่ถูกริบให้แก่เจ้าของได้ ผู้ร้องบรรยายคำร้องขอคืนของกลางว่าจำเลยนำรถยนต์ของกลางของผู้ร้องไปใช้โดยผู้ร้องมิได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ซึ่งมีความหมายต่างจากการที่ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด คำร้องของผู้ร้องจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36ศาลมีอำนาจยกคำร้องโดยไม่ต้องไต่สวน

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษและริบรถยนต์ของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า รถยนต์ของกลางเป็นของผู้ร้องแต่ผู้เดียวจำเลยนำรถยนต์ไปใช้โดยผู้ร้องมิได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดขอให้คืนรถยนต์แก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องกับจำเลยเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางร่วมกัน และผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการที่จำเลยกระทำความผิด ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้คืนส่วนกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลางของผู้ร้องครึ่งหนึ่งแก่ผู้ร้อง ผู้ร้องและโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ผู้ร้องบรรยายคำร้องว่ารถยนต์ของกลางเป็นของผู้ร้องแต่ผู้เดียว จำเลยนำรถยนต์ของกลางไปใช้โดยผู้ร้องมิได้มีส่วนร่วมทำความผิดคดีนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 36 นั้น ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ถูกริบตามมาตรา 33 หรือ 34จะต้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ศาลจึงมีอำนาจสั่งคืนทรัพย์สินที่ถูกริบให้แก่เจ้าของได้ การที่มิได้มีส่วนร่วมกระทำความผิดกับการที่มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดมีความหมายต่างกัน เมื่อคำร้องไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36แล้ว ศาลก็มีอำนาจยกคำร้องไปได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องทำการไต่สวน”
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง

Share