คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 698/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 และมาตรา 90/75 การยกเลิกการฟื้นฟูกิจการมีผลให้ลูกหนี้คงรับผิดชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการและชำระหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ไม่ครบถ้วนตามแผนต่อไป เจ้าหนี้จึงมีสิทธิเรียกร้องเฉพาะให้ลูกหนี้ชำระเงินดังกล่าว คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนจึงมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียของเจ้าหนี้โดยตรง ดังนั้น การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหาทำให้สิทธิในการอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ซึ่งมีอยู่แล้วต้องเสียไปไม่ เมื่อเจ้าหนี้ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนไว้แล้วไม่ได้ถอนอุทธรณ์ศาลฎีกาจึงต้องพิจารณาคดีตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ต่อไป
การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการเนื่องจากผู้บริหารแผนได้ดำเนินการตามแผนครบถ้วนแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/70 เป็นคำสั่งที่สืบเนื่องจากคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน ถ้าศาลฎีกามีคำพิพากษากลับคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว คำสั่งศาลล้มละลายกลางที่ให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการก็ย่อมเป็นอันสิ้นผลไปโดยปริยาย
การที่เจ้าหนี้ที่มีทรัพย์สินของลูกหนี้เป็นประกันมีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันย่อมมีจำนวนหนี้มีประกันเพียงเท่าราคาทรัพย์อันเป็นหลักประกัน ส่วนจำนวนหนี้ที่เหลือย่อมมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ธรรมดา
การพิจารณามูลค่าราคาหลักประกันศาลจะต้องพิจารณาถึงวงเงินจำนอง ราคาซื้อขายทรัพย์หลักประกันในท้องตลาด ตลอดจนวิธีการในการจัดการทรัพย์หลักประกันดังกล่าวในการฟื้นฟูกิจการประกอบกัน
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42(9) ที่บัญญัติว่า “ระยะเวลาดำเนินการตามแผนซึ่งไม่เกินห้าปี” หมายความว่า ระยะเวลาในการดำเนินการตามแผนที่การบริหารแผนจะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติและความคุ้มครองของพระราชบัญญัติล้มละลายฯ และภายใต้การควบคุมกำกับของศาลเพื่อให้ลูกหนี้มีฐานะพ้นจากภาวะวิกฤติทางการเงินเข้าสู่สภาพที่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งผู้ทำแผนสามารถกำหนดระยะเวลาดังกล่าวไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการได้ตามความเหมาะสม แต่ทั้งนี้ระยะเวลาดังกล่าวต้องไม่เกิน 5 ปี
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง หมายความว่า การที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จำนวนเท่าใดอย่างไร ย่อมเป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้ว เมื่อผู้บริหารแผนมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 90/59 วรรคหนึ่ง ผู้บริหารแผนจึงต้องชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายตามคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนและแผนฟื้นฟูกิจการนั้นจนกว่าจะครบถ้วน การที่แผนกำหนดให้เจ้าหนี้แต่ละรายต้องทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต่างหากจากข้อกำหนดในแผนข้อกำหนดดังกล่าวย่อมขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 ส่วนที่ว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อกำหนดดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150
สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้มีเนื้อหาส่วนใหญ่ทำนองเดียวกับแผนฟื้นฟูกิจการและได้กำหนดรายละเอียดปลีกย่อยบางส่วนเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ในอนาคตเท่านั้น มิได้ก่อให้เกิดหรือเปลี่ยนแปลงสิทธิและหน้าที่ที่ลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายมีอยู่ต่อกันตามแผน เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ที่เห็นชอบด้วยแผนเห็นควรให้จัดทำขึ้นเพราะเห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหมดที่จะได้เกิดความมั่นใจในภาระผูกพันของลูกหนี้ที่จะต้องชำระแก่เจ้าหนี้ภายหลังที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการแล้ว จึงมิใช่สาระสำคัญของแผน ส่วนที่แผนกำหนดเงื่อนไขบังคับก่อนว่า เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ตามแผนต่อเมื่อได้ลงนามในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วนั้นเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลายฯ ย่อมตกเป็นโมฆะ แต่เมื่อมีการปฏิบัติตามแผนครบถ้วนแล้วจนกระทั่งศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ จึงถือได้ว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องกับแผนมิได้ถือเอาเงื่อนไขดังกล่าวเป็นข้อสำคัญ แม้ว่าข้อกำหนดในแผนจะตกไปบางส่วน แต่ข้อกำหนดในแผนส่วนที่เหลือก็ใช้บังคับได้ เมื่อแผนยังคงมีสาระสำคัญเพียงพอในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ จึงถือว่าแผนมีรายการครบถ้วนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 ประกอบมาตรา 90/58 วรรคสอง
การที่จะพิจารณาว่าเจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้อย่างเท่าเทียมกันหรือไม่ จะต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับเจ้าหนี้รายอื่นในกลุ่มเดียวกันเท่านั้น
ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนจะต้องเป็นไปตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลาย เว้นแต่เจ้าหนี้นั้นจะให้ความยินยอมตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/58(2)
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 หมวด 3/1 ว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในมาตรา90/42(3)(ข) ให้มีการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ และมาตรา 90/42 ทวิ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไว้ ตามมาตรา 90/42 ทวิ(3)และมาตรา 90/42 ตรี ดังนั้น เจ้าหนี้ไม่มีประกันจึงสามารถจัดแบ่งเป็นหลายกลุ่มได้ เพียงแต่แผนฟื้นฟูกิจการต้องกำหนดให้เจ้าหนี้แต่ละรายในกลุ่มเดียวกันได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และตั้งบริษัทสยามไทร์คอร์ด แพลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้ทำแผนเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2543 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2543 ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการที่มีการแก้ไขแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 90/46 ขอให้ศาลนัดพิจารณาแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ส่งแจ้งความกำหนดวันนัดพิจารณาแผนให้ผู้ทำแผน ลูกหนี้ และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้าตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/56 แล้ว

เจ้าหนี้รายที่ 21 ยื่นคำคัดค้านว่า ข้อเสนอการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการมิได้เป็นไปตามสัดส่วนเฉลี่ยของเจ้าหนี้แต่ละรายที่เท่าเทียมกัน ทำให้เจ้าหนี้รายที่ 21 เสียเปรียบโดยไม่เป็นธรรม เพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อนุญาตให้เจ้าหนี้รายที่ 10 ได้รับชำระหนี้จำนวน 1,050,364,284.45 บาท และอนุญาตให้เจ้าหนี้รายที่ 21 ได้รับชำระหนี้จำนวน 589,823,494.65 บาท แต่ตามแผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้เจ้าหนี้รายที่ 10 ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดจำนวน 823,066,175.54 บาท โดยได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันจำนวน 600,000,000 บาท ในฐานะเจ้าหนี้ไม่มีประกันจำนวน 223,066,175.54 บาท หนี้ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 227,298,108.91 บาท กับดอกเบี้ยระหว่างกาล (ดอกเบี้ยถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการถึงวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ) อีกร้อยละ 50 ให้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ในขณะที่ตามแผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้เจ้าหนี้รายที่ 21 ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดในฐานะเจ้าหนี้ไม่มีประกันเพียง174,906,764.25 บาท เท่านั้น หนี้ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 414,916,730.40 บาท กับดอกเบี้ยระหว่างกาลอีกร้อยละ 50 ให้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ ส่วนเจ้าหนี้การค้าคือเจ้าหนี้รายที่ 19 เป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกันแต่ได้รับชำระหนี้เต็มตามขอจำนวน 2,990,822.59 ดอลลาร์สหรัฐ โดยไม่ต้องปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้เลย นอกจากนั้นการที่แผนกำหนดจำนวนหนี้มีประกันให้แก่เจ้าหนี้รายที่ 10 จำนวน 600,000,000 บาท ไม่ถูกต้อง เพราะผู้ทำแผนใช้ราคาประเมินหลักประกันของบริษัทแมสส์ แวลูเอชั่น จำกัด ที่ประเมินเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2540 เป็นเงิน 629,511,500 บาท แต่บริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทประเมินภายนอกที่มิได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (คณะกรรมการ ก.ล.ต.) และธนาคารแห่งประเทศไทย และเมื่อเปรียบเทียบกับการประเมินหลักประกันของบริษัทกรุงเทพประเมินราคา จำกัด กับบริษัทประเมินทรัพย์สินและกฎหมาย จำกัด ที่ประเมินเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2542 และ 14 พฤษภาคม 2542 เป็นเงินเพียง 484,438,000 บาท และ 483,438,848 บาท ตามลำดับ เท่านั้นซึ่งมีราคาประเมินใกล้เคียงกัน และบริษัททั้งสองแม้จะเป็นบริษัทประเมินภายนอกแต่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ทั้งลูกหนี้เป็นผู้ให้ทำการประเมินเอง ราคาประเมินจึงเหมาะสมกว่า การที่ผู้ทำแผนใช้ราคาประเมินของบริษัทแมสส์ แวลูเอชั่น จำกัด ทำให้จำนวนหนี้ที่มีประกันสูงกว่ามูลค่าทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันถึง 145,072,500 บาท เจ้าหนี้รายที่ 10 จึงควรได้รับการคุ้มครองในฐานะเจ้าหนี้มีประกันเทียบเท่ามูลค่าของทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันเท่านั้น มิใช่เท่าราคามูลจำนองซึ่งสูงกว่ามูลค่าทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันจำนวนหนี้ส่วนต่างที่เกินจากมูลค่าของทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันจึงต้องจัดอยู่ในกลุ่มหนี้ไม่มีประกันเหมือนหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 19 และที่ 21 ยิ่งไปกว่านั้นการจัดลำดับการชำระเงินจากกระแสเงินสดตามแผนฟื้นฟูกิจการก็ไม่ชอบเพราะกำหนดให้เจ้าหนี้การค้าคือเจ้าหนี้รายที่ 19 ได้รับชำระหนี้ในลำดับที่ 4 เงินต้นและดอกเบี้ยของเจ้าหนี้รายที่ 10 ได้รับชำระในลำดับที่ 5 ในขณะที่เจ้าหนี้รายที่ 21 กลับได้ชำระในลำดับที่ 6 ถัดจากเจ้าหนี้รายอื่น เมื่อมติยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการเป็นมติตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 90/46(2) ซึ่งมาตรา 90/58(2) บังคับให้ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนจะต้องเป็นไปตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลายเว้นแต่เจ้าหนี้นั้นจะให้ความยินยอม เมื่อเจ้าหนี้รายที่ 10 ที่ 19 และที่ 21 ล้วนอยู่ในลำดับเดียวกันตามมาตรา 130(7) ซึ่งหากมีเงินไม่พอชำระเต็มจำนวนก็ให้เจ้าหนี้ในลำดับนั้นได้รับเฉลี่ยตามส่วน เจ้าหนี้ทุกรายจึงต้องได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ การที่แผนระบุให้เจ้าหนี้รายที่ 10 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันและเจ้าหนี้รายที่ 19 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้การค้าได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายที่ 21 ทั้งยังระบุสัดส่วนของเงินสดที่จะได้รับชำระแตกต่างจากสัดส่วนของจำนวนหนี้ทำให้เจ้าหนี้รายที่ 21 ได้รับชำระหนี้ภายหลังเจ้าหนี้รายอื่นและในสัดส่วนต่ำกว่าที่ควรจะได้ตามกฎหมาย ข้อเสนอการชำระหนี้ตามแผนจึงไม่เป็นธรรม การที่เจ้าหนี้รายที่ 10 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่กับเจ้าหนี้รายที่ 19 ลงมติยอมรับแผนซึ่งเป็นประโยชน์แก่ตนมากกว่าประโยชน์ที่เจ้าหนี้ควรจะได้รับตามกฎหมาย มีผลกระทบต่อเจ้าหนี้รายที่ 21 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่มีเสียงข้างน้อยในที่ประชุมเจ้าหนี้เสียประโยชน์ มติที่ได้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนระยะเวลาสำเร็จตามแผน ให้ถือว่าแผนสำเร็จโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ผลบังคับใช้ได้เกิดขึ้นแล้วและลูกหนี้ได้ชำระหนี้แก่ผู้ให้กู้ทางการเงินตามที่ระบุไว้ในแผนเป็นระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่ศาลล้มละลายกลางเห็นชอบด้วยแผนโดยไม่มีเหตุผิดนัดเกิดขึ้นนั้น พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 มาตรา 90/63 กำหนดให้ระยะเวลาดำเนินการตามแผนไม่เกิน 5 ปี ทั้งยังสามารถขยายระยะเวลาการชำระหนี้ตามแผนได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ปีด้วย ประกอบกับได้มีการขยายระยะเวลาชำระหนี้ตามแผนในหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลานานถึง 20 ปี และสภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริงกับการบริหารกิจการในช่วงระยะเวลา 1 ปี ยังไม่อาจบ่งชี้ว่ากิจการสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่ประสบปัญหาสภาพคล่องหรือในภาวะไม่สามารถชำระหนี้ได้ แผนจึงควรกำหนดระยะเวลาสำเร็จตามแผนเท่ากับระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้คือ 5 ปี ส่วนความสำเร็จของแผนควรปล่อยให้เป็นไปตามกฎหมายกล่าวคือ ผู้บริหารแผนจะบริหารแผนสำเร็จหรือไม่ต้องเป็นไปตามความจริง หากบริหารแผนไม่สำเร็จภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ลูกหนี้อาจถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จึงไม่อาจกำหนดความสำเร็จของแผนได้ ส่วนที่แผนกำหนดให้เจ้าหนี้แต่ละรายต้องไปทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต่างหากจากข้อกำหนดในแผนทั้งยังกำหนดเงื่อนไขบังคับก่อนให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามแผนต่อเมื่อได้ลงชื่อในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเงื่อนไขข้อกำหนดที่จะผูกพันลูกหนี้และเจ้าหนี้จะต้องเป็นข้อกำหนดที่อยู่ในแผนเท่านั้น การบังคับให้เจ้าหนี้แต่ละรายไปทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หากเจ้าหนี้บางรายไม่ยอมทำก็ไม่มีกฎหมายบังคับให้ทำได้โดยเฉพาะเจ้าหนี้ที่เสียเปรียบและไม่ยอมรับแผนนอกจากนั้นการที่สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ข้อ 7 กำหนดให้เจ้าหนี้รายที่ 21 จะต้องไม่ดำเนินการทางกฎหมาย หรือยื่นคำฟ้องต่อศาลหรือเรียกร้องใด ๆ จากบรรดาผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันนั้นขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 90/60 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483แสดงให้เห็นว่าผู้ทำแผนซึ่งมีกรรมการของผู้ทำแผนเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ต่อเจ้าหนี้รายที่ 21มีเจตนาจะใช้ประโยชน์จากแผนฟื้นฟูกิจการป้องกันตนเองไม่ให้ถูกดำเนินคดีจึงเป็นแผนที่ไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้มีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

ผู้ทำแผนยื่นคำชี้แจงว่า ผู้ทำแผนได้ว่าจ้างบริษัทดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ คอร์ปอเรทรีสตรัคเจอริ่ง จำกัด ตามที่เจ้าหนี้รายที่ 21 ร้องขอให้ว่าจ้างบริษัทดังกล่าวซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับภายในประเทศและระหว่างประเทศเป็นผู้จัดทำประมาณการเงินสดที่ธุรกิจของลูกหนี้จะสามารถก่อให้เกิดรายได้เพื่อนำมาชำระหนี้คืนแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ผู้ทำแผนได้นำประมาณการในระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้มาจัดกลุ่มหนี้เพื่อชำระหนี้คืนแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย โดยสำหรับเจ้าหนี้สถาบันการเงินและเจ้าหนี้การค้าได้จัดกลุ่มดังต่อไปนี้ หนี้กลุ่มที่ 1 เจ้าหนี้มีประกันที่มียอดหนี้เกินกว่าร้อยละ 15 ของยอดหนี้ทั้งหมดได้แก่ เจ้าหนี้รายที่ 10 ซึ่งจะได้รับชำระหนี้มีประกันคือจำนวน 600,000,000 บาท หนี้กลุ่มที่ 3 เจ้าหนี้ไม่มีประกันในยอดหนี้เงินต้นคงค้างได้แก่ เจ้าหนี้รายที่ 10 และเจ้าหนี้รายที่ 21 จะได้รับชำระคืนตามสัดส่วนยอดหนี้คงค้างของเจ้าหนี้แต่ละรายในกลุ่ม ในยอดเงินที่จัดสรรเพื่อชำระหนี้คืน หนี้กลุ่มที่ 4 เจ้าหนี้การค้าที่ไม่มีหลักประกัน ได้แก่เจ้าหนี้รายที่ 19 จะได้รับชำระคืนในอัตราร้อยละ 29.65 ของยอดหนี้ที่ยื่นขอรับชำระหนี้หนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้ไม่มีประกันที่อำนวยสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ลูกหนี้ ได้แก่ เจ้าหนี้รายที่ 10 จะได้รับชำระคืนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนตามที่เจ้าหนี้รายที่ 10 อนุมัติให้แก่ลูกหนี้ เนื่องจากหนี้เงินทุนหมุนเวียนเป็นหนี้ที่ผู้ทำแผน และ/หรือผู้บริหารแผนได้ก่อขึ้นหลังจากที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว และเป็นหนี้ที่ก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ จึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/75 และได้รับชำระหนี้เต็มตามยอดหนี้คงค้าง หนี้กลุ่มที่ 6 เจ้าหนี้ไม่มีประกันสำหรับมูลหนี้ค่าอากรแสตมป์และค่าธรรมเนียมได้แก่เจ้าหนี้รายที่ 10 และที่ 21 โดยจะได้รับชำระคืนเต็มจำนวนหนี้ที่ยื่นขอรับชำระหนี้ หนี้กลุ่มที่ 7 เจ้าหนี้ไม่มีประกันในส่วนหนี้ที่เป็นดอกเบี้ยค้างชำระและดอกเบี้ยระหว่างกาลได้แก่เจ้าหนี้รายที่ 10 และที่ 21 โดยจะได้รับชำระคืนตามสัดส่วนยอดหนี้ของเจ้าหนี้แต่ละรายในกลุ่มสำหรับยอดเงินที่จัดสรรเพื่อชำระหนี้คืน หนี้กลุ่มที่ 9 เจ้าหนี้ผู้ออกหนังสือค้ำประกันให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้แก่เจ้าหนี้รายที่ 10 จะได้รับชำระก็ต่อเมื่อเจ้าหนี้รายที่ 10 ได้ชำระเงินให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตามเงื่อนไขที่ปรากฏในหนังสือค้ำประกันดังกล่าว ดังนั้น จะเห็นได้ว่าเจ้าหนี้ไม่มีประกันในแต่ละกลุ่มจะได้รับชำระหนี้คืนในอัตราที่เท่ากัน เมื่อคำนวณและเปรียบเทียบจำนวนเงินที่เจ้าหนี้ไม่มีประกันแต่ละรายได้รับชำระตามแผนฟื้นฟูกิจการกับจำนวนหนี้ที่เจ้าหนี้แต่ละรายยื่นขอรับชำระหนี้ เจ้าหนี้ไม่มีประกันจะได้รับชำระคืนในอัตราร้อยละ29.65 ของยอดหนี้ จากตารางแสดงยอดหนี้ที่ได้รับชำระคืน เจ้าหนี้รายที่ 19 จะได้รับชำระหนี้คืนในอัตราร้อยละ 29.65 ของยอดหนี้ที่ยื่นขอรับชำระหนี้ ส่วนจำนวนหนี้ที่เหลือให้ได้รับการปลดหนี้ การปลดหนี้เจ้าหนี้ไม่มีประกันตามที่กำหนดในแผนเป็นการปลดตามลักษณะหนี้ของเจ้าหนี้แต่ละราย โดยมิได้คำนึงถึงจำนวนยอดหนี้ที่เจ้าหนี้แต่ละรายจะปลดให้ จากตารางแสดงยอดหนี้ที่ได้รับชำระคืนจะเห็นได้ว่าหนี้ที่ไม่มีประกันของเจ้าหนี้แต่ละรายจะได้รับชำระคืนในอัตราที่เท่ากันคือร้อยละ 29.65 ยกเว้นหนี้เงินทุนหมุนเวียนและหนี้ค่าธรรมเนียมซึ่งจะได้รับชำระเต็มตามยอดหนี้ที่ยื่นขอรับชำระเจ้าหนี้รายที่ 21 ในฐานะเจ้าหนี้ไม่มีประกันในมูลหนี้ค่าธรรมเนียมก็จะได้รับชำระเต็มตามยอดหนี้ที่ขอรับชำระเช่นเดียวกับเจ้าหนี้รายอื่น เจ้าหนี้รายที่ 10 มีจำนวนหนี้สูงถึง 1,045,719,284.45 บาท และเป็นเจ้าหนี้จำนองซึ่งมีวงเงินจำนองถึง 766,000,000 บาทหากเจ้าหนี้รายที่ 10 เลือกจะบังคับจำนองทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันแล้วเจ้าหนี้รายที่ 10ย่อมได้รับชำระก่อน และหากทรัพย์จำนองมีมูลค่าไม่ถึงวงเงินแล้ว บรรดาเจ้าหนี้อื่นย่อมไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินดังกล่าวเลย การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เกิดขึ้นได้เพราะเจ้าหนี้รายที่ 10 ยอดลดหนี้จำนองลงถึง 166,000,000 บาท ซึ่งหากเจ้าหนี้รายที่ 10 เลือกบังคับจำนองทันทีไม่ยอมลดหนี้ของตนลงทรัพย์จำนองที่ขายได้ในขณะนี้โดยถือราคาบังคับขายต่ำสุดที่ 483,438,848 บาท ตามราคาที่เจ้าหนี้รายที่ 21 อ้างเจ้าหนี้รายที่ 10 ย่อมได้รับเงินจำนวนดังกล่าวในปี 2543 หรือ 2544 โดยไม่ต้องรอไปอีก 10 ปีข้างหน้า เจ้าหนี้รายที่ 10 ย่อมนำเงินจำนวนดังกล่าวไปหาประโยชน์ตามธุรกิจของตนย่อมจะได้รับเงินมากกว่าที่จะรอรับชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการอย่างแน่นอน และเจ้าหนี้รายที่ 10 ก็ยืนยันว่าหากการฟื้นฟูกิจการไม่สำเร็จตามแผนแล้วเจ้าหนี้รายที่ 10 จะเลือกใช้สิทธิบังคับจำนองบริษัทแมสส์ แวลูเอชั่น จำกัด เป็นบริษัทประเมินที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. และธนาคารแห่งประเทศไทย ตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 3 และไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไรก็ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ ไม่ได้กำหนดว่าการประเมินราคาทรัพย์สินต้องกระทำโดยบริษัทประเมินราคาที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐ ดังนั้น การที่เจ้าหนี้รายที่ 10 ได้รับชำระหนี้ตามแผนจึงชอบทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว การชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้นั้นจะต้องพิจารณาถึงสิทธิของเจ้าหนี้ที่มีตามกฎหมายหรือตามสัญญาด้วย และกรณีของลูกหนี้เห็นได้ว่าเงินที่ได้จากการประกอบธุรกิจหรือขายทรัพย์สินของลูกหนี้จะต้องนำไปชำระให้แก่เจ้าหนี้ที่มีบุริมสิทธิก่อนเพื่อให้เป็นไปตามลำดับของสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้แต่ละรายที่มีเหนือทรัพย์ของลูกหนี้ในกรณีของเจ้าหนี้รายที่ 19 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้การค้าเป็นหนี้ที่เกิดจากการซื้อขายเส้นด้ายไทร์คอร์ดเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าของลูกหนี้ ทำให้เจ้าหนี้รายที่ 19 เป็นเจ้าหนี้ที่มีบุริมสิทธิเหนือเงินที่ได้จากการขายทรัพย์คือเส้นด้ายไทร์คอร์ดที่ลูกหนี้ซื้อมาจากเจ้าหนี้รายที่ 19 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 259(5) และ 270 ดังนั้น เมื่อมีการนำทรัพย์ของลูกหนี้คือเส้นด้ายไทร์คอร์ดออกขายเพื่อนำเงินมาชำระหนี้เจ้าหนี้รายที่ 19 จึงมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายเส้นด้ายไทร์คอร์ดเท่ากับมูลค่าสินค้าที่ลูกหนี้ซื้อมาจากเจ้าหนี้รายที่ 19 ประการสำคัญเจ้าหนี้รายที่ 19 เป็นคู่ค้ารายใหญ่แต่เพียงรายเดียวที่เป็นผู้สนับสนุนกิจการของลูกหนี้ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการให้ดำเนินการต่อไปได้ โดยเป็นผู้จัดส่งวัตถุดิบเส้นด้ายไทร์คอร์ดให้แก่ลูกหนี้ใช้ผลิตสินค้า ดังนั้น การจัดลำดับการชำระหนี้จึงต้องพิจารณาตามสภาพแห่งธุรกิจและความจำเป็นของลูกหนี้ประกอบกับโอกาสที่จะฟื้นฟูกิจการต่อไปได้ซึ่งหากมิให้เจ้าหนี้ทางการค้าได้รับชำระตามที่จัดไว้ การฟื้นฟูกิจการจะไม่อาจเกิดขึ้นได้ ส่วนที่ให้เจ้าหนี้รายที่ 10 ได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายที่ 21 เพราะเจ้าหนี้รายที่ 10 เป็นเจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อน นอกจากนั้นในส่วนของหนี้เงินทุนหมุนเวียนผู้ทำแผนและ/หรือผู้บริหารแผนได้ก่อขึ้น เจ้าหนี้เงินทุนหมุนเวียนจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายที่ 21 เพราะหนี้คงค้างของเจ้าหนี้รายที่ 21 เป็นหนี้เงินกู้ระยะยาวไม่มีหลักประกันโดยเจ้าหนี้รายที่ 21 ได้หยุดให้การสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่ลูกหนี้ ซึ่งหากเจ้าหนี้รายที่ 21 ให้การสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่ลูกหนี้เช่นเดียวกับเจ้าหนี้รายที่ 10 ในส่วนหนี้ไม่มีประกันเจ้าหนี้รายที่ 21 ก็จะได้รับชำระคืนในลำดับเดียวกับเจ้าหนี้รายที่ 10 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/75(3) จึงเห็นได้ว่ามิใช่เป็นการเลือกปฏิบัติหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหนี้รายที่ 21 แต่อย่างใด ลำดับการชำระหนี้ก่อนหลังจึงมิได้ขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 130 และมิได้ทำให้เจ้าหนี้รายที่ 21 เสียเปรียบแต่อย่างใดเพราะหากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามที่กำหนดกลุ่มเจ้าหนี้และการชำระหนี้ดังกล่าวข้างต้น ลูกหนี้จะตกเป็นผู้ผิดนัดทันที การชำระหนี้เป็นการกำหนดตามหลักเกณฑ์ของมาตรา 130 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เกี่ยวกับระยะเวลาดำเนินการตามแผน พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42(9) บัญญัติว่า “ระยะเวลาดำเนินการตามแผนซึ่งไม่เกินห้าปี” หมายความว่า การดำเนินการตามแผนใช้เวลาไม่เกิน 5 ปี มิได้บังคับว่าต้องดำเนินการเป็นเวลาถึง 5 ปี เหตุที่ผู้ทำแผนกำหนดระยะเวลาสำเร็จตามแผนไว้เพียง 1 ปี ก็เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหมดเพราะลูกหนี้เป็นผู้ผลิตผ้าใบสำหรับยางรถยนต์ 1 ใน 3 รายของประเทศไทย ซึ่งโดยสภาพของธุรกิจต้องแข่งขันกับผู้อื่นทั้งในและต่างประเทศรวมตลอดถึงความเชื่อถือ ความมั่นคงของลูกหนี้เป็นพื้นฐานสำคัญในการทำธุรกิจของลูกหนี้ หากลูกหนี้ต้องอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการนานเท่าไร ลูกหนี้ไม่อาจทำธุรกิจแข่งขันกับผู้อื่นได้เพราะลูกค้าอาจไม่เชื่อถือ คู่ค้าที่เป็นผู้ส่งวัตถุดิบก็อาจไม่ยอมค้าขายด้วย หรือหากจะค้าขายก็จะอยู่ในเงื่อนไขหรือราคาที่เสียเปรียบกว่ากรณีปกติทั่วไปซึ่งคู่ค้ารายใหญ่คือเจ้าหนี้รายที่ 19 ได้มีหนังสือถึงผู้ทำแผนกำหนดเงื่อนไขว่าเจ้าหนี้รายที่ 19 ยังคงให้การสนับสนุน และส่งวัตถุดิบเส้นด้ายไทร์คอร์ดให้แก่ลูกหนี้ แต่ลูกหนี้จะต้องอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการเพียง 1 ปี อย่างไรก็ตามเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ตระหนักว่า หากลูกหนี้ไม่อาจค้าขายหรือทำธุรกิจต่อไปได้ การจะอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการถึง 5 ปี ก็ไม่ได้ช่วยให้ฐานะหรือการประกอบกิจการของลูกหนี้ดีขึ้น การให้ลูกหนี้อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการเพียง 1 ปี กลับเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้ที่สามารถบังคับชำระหนี้ได้รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ไม่จำต้องรอให้ครบ 5 ปี เนื่องจากภายในระยะเวลา 1 ปี เจ้าหนี้ย่อมสามารถพิสูจน์ได้แล้วว่า การประกอบกิจการของลูกหนี้จะไปรอดหรือไม่ หากไม่รอดการยืดเวลาออกไปเกินกว่า 1 ปี ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะลูกหนี้ไม่สามารถหารายได้หรือทำธุรกิจต่อไปได้ย่อมไม่มีเงินมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้ นอกจากนั้นตามแผนมีมาตรการแสดงถึงการที่ลูกหนี้จะสามารถประกอบกิจการต่อไปได้เพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้อย่างชัดแจ้งคือ เงื่อนไขแห่งความสำเร็จของแผนตามข้อ 11.5 กำหนดไว้ว่า ลูกหนี้จะต้องไม่ตกเป็นผู้ผิดนัดด้วย และในบทที่ 14 ของแผนว่าด้วยแนวทางในการแก้ปัญหาสภาพคล่องอันเป็นรายการที่แผนต้องกำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42(5) แผนก็ได้กำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาสภาพคล่องไว้ถึง 2 ประการ คือลูกหนี้จะได้รับเงินทุนหมุนเวียนเพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจจากเจ้าหนี้เงินทุนหมุนเวียนและลูกหนี้จะทำการกันสำรองเงินสดไว้ในบัญชีจำนวน 10,000,000 บาท นอกจากนี้เจ้าหนี้จะได้รับรายงานการตรวจสอบกระแสเงินสดของลูกหนี้จนกว่าลูกหนี้จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เสร็จสิ้นตามข้อ 15 ของสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทำให้เจ้าหนี้ทราบถึงการดำเนินงานของลูกหนี้โดยตลอดแม้ว่าลูกหนี้จะออกจากการฟื้นฟูกิจการภายหลัง 1 ปี แล้วก็ตาม ทั้งเจ้าหนี้รายที่ 21 ก็มิได้ให้การสนับสนุนในเรื่องเงินทุนหมุนเวียนแก่ลูกหนี้ ความเสียหายซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในช่วงที่ลูกหนี้ดำเนินการตามแผนก็ไม่ทำให้เจ้าหนี้รายที่ 21 เสียหายหรือมีภาระเพิ่มมากกว่าเดิมแต่อย่างใด ในทางกลับกันเจ้าหนี้หรือคู่ค้าที่ให้สินเชื่อและค้าขายกับลูกหนี้ภายหลังเมื่อครบ 1 ปี กลับจะต้องเป็นผู้รับเสี่ยงภัยเองแต่บุคคลเหล่านั้นกลับให้การสนับสนุนให้ลูกหนี้ออกจากกระบวนการฟื้นฟูกิจการให้เร็วที่สุดเพราะได้เล็งเห็นความจำเป็นในสภาพธุรกิจของลูกหนี้ดังกล่าวมาข้างต้น ที่แผนฟื้นฟูกิจการบทที่ 6 ข้อ 6.2 กำหนดว่าลูกหนี้จะต้องชำระหนี้คืนเจ้าหนี้กลุ่มต่าง ๆ นับจากวันที่มีผลใช้บังคับเป็นต้นไปและหลังจากวันที่สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้มีผลใช้บังคับ โดยวันที่มีผลใช้บังคับจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเงื่อนไขดังระบุไว้ในบทที่ 9 ได้เกิดขึ้นครบถ้วนแล้ว โดยบทที่ 9 หาได้ระบุเงื่อนไขการลงนามในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ก่อนแต่อย่างใด ดังนั้นลูกหนี้มีหน้าที่จะต้องชำระหนี้แต่ละกลุ่มให้แก่เจ้าหนี้ตามที่ระบุไว้ในแผนข้อ 6.2 โดยไม่คำนึงว่าจะมีการลงนามในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้หรือไม่ นอกจากนั้นบทที่ 8 ข้อ 8.6 ว่าด้วยวิธีการสำหรับปฏิบัติตามแผนไม่ได้กำหนดให้เจ้าหนี้ต้องลงนามในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพียงแต่กำหนดให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องลงนามในเอกสารดำเนินการตามแผนได้แก่ สัญญาหลักประกัน (สัญญาจำนอง) และสัญญาให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคเท่านั้น ดังนั้น หากเจ้าหนี้รายที่ 21 ไม่เห็นความจำเป็นของสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ก็ไม่จำต้องลงนามในสัญญาดังกล่าว ลูกหนี้ก็ยังมีหน้าที่ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้รายที่ 21 ตามที่ระบุไว้ในแผนเช่นเดิม ส่วนเงื่อนไขบังคับก่อนในข้อ 3 ของสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เป็นเพียงเงื่อนไขว่าข้อกำหนดใด ๆ ที่อยู่ในสัญญาจะไม่ใช้บังคับจนกว่าจะได้มีการลงนามในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เท่านั้น และในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะมีข้อกำหนดว่าด้วยการชำระหนี้แต่ละกลุ่มเช่นเดียวกับข้อ 6.2 ของแผนในกรณีที่เจ้าหนี้รายที่ 21 ไม่ลงนามในสัญญาดังกล่าว และถึงแม้ว่าข้อกำหนดว่าด้วยการชำระหนี้แต่ละกลุ่มที่ระบุไว้ในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะไม่ใช้บังคับ ลูกหนี้ก็ยังคงต้องผูกพันการชำระหนี้ในแต่ละกลุ่มตามแผนเพราะตามแผนมีข้อความเหมือนกับการชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวทุกประการ เหตุที่ต้องจัดทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพราะตามเจตนารมณ์ตามแผนซึ่งเจ้าหนี้ส่วนใหญ่เห็นชอบด้วยต้องการให้จัดทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนเพื่อให้เจ้าหนี้ที่เกี่ยวข้องเกิดความมั่นใจในภาระผูกพันของลูกหนี้ในอันที่จะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ภายหลังที่ศาลได้มีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการแล้ว เนื่องจากการชำระหนี้ตามแผนได้กำหนดระยะเวลาไว้นานถึง20 ปี นอกจากนี้ยังระบุถึงรายละเอียดการปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ของลูกหนี้ภายหลังจากศาลได้มีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการแล้วเพื่อมิให้เกิดปัญหาว่าลูกหนี้จะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ตามสัญญาสินเชื่อเดิมที่เคยทำไว้กับเจ้าหนี้หรือไม่ ดังนั้น ข้อ 7 ของสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้จึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60วรรคสอง เพราะมิได้บังคับให้เจ้าหนี้ต้องลงนามในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และไม่ว่าเจ้าหนี้จะลงนามหรือไม่ลงนามในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เจ้าหนี้หาได้เสียสิทธิเรียกร้องที่มีต่อผู้ค้ำประกันแต่อย่างใด เพราะเมื่อลูกหนี้ผิดนัดตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้หรือผู้ค้ำประกันตกเป็นบุคคลล้มละลายตามข้อ 7 ของสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้ค้ำประกันได้ทันที นอกจากนั้นข้อ 3 ของสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ยังกำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องลงนามในเอกสารยืนยันการค้ำประกันตามแบบที่ปรากฏในเอกสารแนบท้ายสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้อันเป็นหลักฐานแห่งภาระค้ำประกันซึ่งมีข้อความเป็นใจความสำคัญว่าผู้ค้ำประกันยังคงผูกพันตนในอันที่จะชำระหนี้ของลูกหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสัญญาค้ำประกันเดิมทุกประการขอให้ยกคำคัดค้าน

ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/58

เจ้าหนี้รายที่ 21 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือ

ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ผู้บริหารแผนยื่นคำแถลงว่าผู้บริหารแผนได้ปฏิบัติตามแผนครบถ้วน และศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/70 แล้วเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2545 กรณีไม่จำต้องพิจารณาอุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ 21 ต่อไป ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามคำแถลงของผู้บริหารแผนลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2545 เป็นประการแรกว่าการที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 90/70 แล้ว ศาลฎีกาจำต้องพิจารณาอุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ 21 ที่คัดค้านคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนอีกหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 นั้น แผนซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้วมีผลผูกพันมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ และเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในอันที่จะถูกปรับลดหรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการชำระหนี้อีกทั้งเมื่อได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนและศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการแล้ว มาตรา 90/75 บัญญัติว่า”คำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการมีผลให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงซึ่งอาจจะขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ เว้นแต่หนี้ซึ่งเจ้าหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการจะได้ขอรับชำระหนี้ไว้แล้ว…” เช่นนี้การยกเลิกการฟื้นฟูกิจการก็มีผลให้ลูกหนี้คงรับผิดชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการและชำระหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ไม่ครบถ้วนตามแผนต่อไป เจ้าหนี้จึงมีสิทธิเรียกร้องเฉพาะให้ลูกหนี้ชำระเงินจำนวนดังกล่าว คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนจึงมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียของเจ้าหนี้โดยตรง ดังนั้น การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหาทำให้สิทธิในการอุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ 21 ซึ่งมีอยู่แล้วต้องเสียไปแต่อย่างใดไม่ เมื่อเจ้าหนี้รายที่ 21 ซึ่งได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนไว้แล้วไม่ได้ถอนอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงต้องพิจารณาคดีตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ต่อไป ส่วนการที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการเนื่องจากผู้บริหารแผนได้ดำเนินการตามแผนครบถ้วนแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/70 ก็เป็นคำสั่งที่สืบเนื่องจากคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนนั่นเอง เช่นนี้หากว่าศาลฎีกามีคำพิพากษากลับคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้วคำสั่งศาลล้มละลายกลางที่ให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการก็ย่อมเป็นอันสิ้นผลไปโดยปริยาย

ประการที่สอง การจัดกลุ่มเจ้าหนี้มีประกันชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยเจ้าหนี้รายที่ 21 อุทธรณ์ว่า เจ้าหนี้รายที่ 10 ซึ่งแผนจัดให้เป็นเจ้าหนี้มีประกันในกลุ่มที่ 1 จำนวน600,000,000 บาท นั้น เจ้าหนี้รายที่ 10 มีสิทธิได้รับความคุ้มครองในฐานะเจ้าหนี้มีประกันในมูลค่าของทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันเท่านั้น มิใช่เท่าราคามูลจำนองซึ่งสูงกว่ามูลค่าของทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันจำนวนมาก และราคาประเมินที่ผู้ทำแผนใช้กำหนดราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง เห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 ทวิ บัญญัติว่า “การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ตามมาตรา 90/42(3)(ข) ให้จัดดังต่อไปนี้

(1) เจ้าหนี้มีประกันแต่ละรายที่มีจำนวนหนี้มีประกันไม่น้อยกว่าร้อยละสิบห้าของจำนวนหนี้ทั้งหมดที่อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ให้จัดเป็นรายละกลุ่ม

(2) เจ้าหนี้มีประกันที่ไม่ได้จัดกลุ่มไว้ใน (1) ให้จัดเป็นหนึ่งกลุ่ม

(3) เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจจัดได้เป็นหลายกลุ่ม โดยให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันที่มีสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์ที่มีสาระสำคัญเหมือนกันหรือทำนองเดียวกันอยู่ในกลุ่มเดียวกัน

(4) เจ้าหนี้ตามมาตรา 130 ทวิ ให้จัดเป็นหนึ่งกลุ่ม”

และมาตรา 6 บัญญัติว่า “เจ้าหนี้มีประกัน หมายความว่า เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนอง จำนำ หรือสิทธิยึดหน่วง หรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำ” เช่นนี้ เมื่อจำนวนหนี้สูงกว่าราคาทรัพย์หลักประกันการเป็นเจ้าหนี้มีประกันในอันที่จะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันได้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ย่อมมีอยู่เฉพาะในมูลค่าราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ดังนั้น การที่เจ้าหนี้มีทรัพย์สินของลูกหนี้เป็นประกันจะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันที่มีจำนวนหนี้มีประกันตามบทบัญญัติดังกล่าวเพียงเท่าราคาทรัพย์อันเป็นหลักประกัน ส่วนจำนวนหนี้ที่เหลือย่อมมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ธรรมดา คดีนี้มีปัญหาว่าการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ในส่วนของเจ้าหนี้รายที่ 10 ซึ่งแผนฟื้นฟูกิจการจัดให้เป็นเจ้าหนี้มีประกันเป็นจำนวนเงิน 600,000,000 บาท เป็นมูลค่าที่สมค

Share