คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2962/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นลูกจ้างของธนาคาร อ. ซึ่งมีจำเลยที่ 1 ผู้จัดการหรือจำเลยที่ 2 รองผู้จัดการเป็นผู้กระทำการแทน นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 จึงเป็นไปตามสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์ฟ้องอ้างว่า จำเลยที่ 1 มีคำสั่งไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนให้โจทก์ ฝ่าฝืนข้อบังคับธนาคาร อ.แต่ปรากฏว่าข้อบังคับดังกล่าวกำหนดให้ผู้จัดการมีอำนาจใช้ดุลพินิจในการสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่พนักงานหรือลูกจ้างได้ ดังนี้ ถ้าโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 ใช้ดุลพินิจผิดไปจากข้อบังคับ โจทก์ก็ชอบที่จะว่ากล่าวกับจำเลยที่ 1 ฐานผิดสัญญาจ้างแรงงาน จะอ้างว่ากระทำละเมิดต่อโจทก์หาได้ไม่ เว้นแต่โจทก์จะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อขึ้นอีกต่างหากนอกเหนือจากการปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงาน
โจทก์แต่งชุดดำมาทำงานในวันที่มีข่าวว่าจะมีพนักงานธนาคาร อ. ร่วมกันแต่งชุดดำประท้วงจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับการประชุมแต่งตั้งพนักงานในสำนักงานผู้จัดการซึ่งนอกจากโจทก์แล้วยังมีพนักงานธนาคารอีก 3 คน แต่งชุดดำมาทำงานด้วย แม้จะเป็นการบังเอิญมาตรงกัน แต่การกระทำของโจทก์ก็เป็นมูลเหตุให้จำเลยที่ 2 เข้าใจไปได้ว่าโจทก์แต่งมาเพื่อประท้วงจำเลยที่ 1 จึงได้ทำความเห็นเสนอจำเลยที่ 1 ว่าไม่ควรเลื่อนเงินเดือนให้โจทก์ และจำเลยที่ 1 มีความเห็นด้วยกับจำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 เช่นนี้ แม้จะเป็นการใช้ดุลพินิจโดยขาดความละเอียดรอบคอบจนอาจเรียกได้ว่าขาดความเป็นธรรม ก็เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำนาจในการบริหารที่ตนมีอยู่ โดยโจทก์เองมีส่วนทำให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 เข้าใจผิดและใช้ดุลพินิจดังกล่าว กรณีเช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการ จำเลยที่ ๒เป็นรองผู้จัดการ จำเลยที่ ๓ มีตำแหน่งเป็นผู้วิเคราะห์สังกัดหน่วยเงินกู้รายย่อย จำเลยที่ ๔ มีตำแหน่งเป็นเลขานุการช่วยบริหาร ในธนาคารอาคารสงเคราะห์ซึ่งโจทก์เป็นพนักงานอยู่ ได้ร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ ๓ ได้แจ้งเท็จต่อจำเลยอื่นว่าพนักงานธนาคารบางคนเป็นตัวการชักชวนให้พนักงานอื่นแต่งดำประท้วงจำเลยที่ ๑ ที่เสนอให้บรรจุแต่งตั้งจำเลยที่ ๔รับพนักงานอื่นบางคนซึ่งเข้าใหม่ให้ได้รับตำแหน่งขึ้นขั้นเงินเดือนสูงอย่างรวดเร็ว ข้ามหน้าพนักงานที่ทำงานมาก่อนจำเลยที่ ๑ แต่งตั้งจำเลยที่ ๒ เป็นกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงจำเลยทั้งสี่สมคบกันให้จำเลยที่ ๓ และพนักงานธนาคารบางคนให้ถ้อยคำเท็จต่อจำเลยที่ ๒ ว่า โจทก์รู้ว่าพนักงานธนาคารผู้ใดเป็นตัวการชักชวนให้พนักงานธนาคารแต่งดำประท้วง และให้โจทก์ยอมร่วมมือยืนยันว่าพนักงานธนาคารชั้นผู้ใหญ่ ๒ คนเป็นตัวการชักชวน แต่โจทก์ไม่ยอมร่วมมือเป็นเหตุให้จำเลยโกรธเคือง และหยิบยกเรื่องการเลื่อนเงินเดือนประจำปี ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาเรียบร้อยแล้ว ตัดชื่อโจทก์ที่ได้เลื่อนเงินเดือน ๑ ขั้นออกโจทก์ขอให้แก้ไข แต่จำเลยกลับร่วมกันบังคับให้โจทก์ยอมรับว่าโจทก์รู้เห็นเรื่องการชักชวนให้พนักงานธนาคารประท้วง และให้ระบุผู้เป็นตัวการ แล้วจะยอมแก้ไขให้ ถ้าโจทก์ไม่ยอม จะตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยแก่โจทก์ โจทก์ร้องขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมการธนาคาร คณะกรรมการสั่งให้จำเลยที่ ๑ พิจารณาคำร้องของโจทก์แต่จำเลยที่ ๑ กลับเพิกเฉยและร่วมมือกับจำเลยอื่นตั้งข้อกล่าวหาว่าโจทก์รายงานเท็จและตั้งจำเลยที่ ๒ เป็นกรรมการสอบสวนทางวินัยแก่โจทก์ อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย จึงขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ รวม ๑๓๐,๓๖๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย กับให้ร่วมกันออกค่าใช้จ่ายประกาศคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์รายวันอย่างน้อย๒ ฉบับ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๗ วัน
จำเลยทั้งสี่ให้การว่าไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าคดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่าจำเลยทั้งสี่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยการสมคบร่วมมือกันใช้อำนาจตามตำแหน่งหน้าที่โดยไม่สุจริต กลั่นแกล้งบีบบังคับโจทก์ คัดตัดชื่อโจทก์ไม่เลื่อนเงินเดือนให้โจทก์ตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่ดังฟ้องหรือไม่โดยที่โจทก์เป็นลูกจ้างของธนาคารอาคารสงเคราะห์ ซึ่งมีจำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้จัดการหรือจำเลยที่ ๒ ในฐานะรองผู้จัดการเป็นผู้กระทำการแทน นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ หรือจำเลยที่ ๒ จึงเป็นไปตามสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งรวมถึงข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบต่างๆ ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ อันถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงาน หากจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ในฐานะผู้กระทำการแทนธนาคารอาคารสงเคราะห์ซึ่งถือเสมือนเป็นนายจ้างของโจทก์ปฏิบัติต่อโจทก์โดยมิชอบ ฝ่าฝืนสัญญาจ้างแรงงานประการใด โจทก์ก็ชอบที่จะว่ากล่าวกับจำเลยตามสัญญาจ้างแรงงานซึ่งมีต่อกัน จะอ้างว่าเป็นการกระทำละเมิดหาได้ไม่ เว้นแต่โจทก์จะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อขึ้นอีกต่างหากนอกเหนือจากการปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงาน คดีนี้ตามที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ ๑ มีคำสั่งไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนให้โจทก์ ฝ่าฝืนข้อบังคับธนาคารอาคารสงเคราะห์ ฉบับที่ ๗ เรื่อง ระเบียบปฏิบัติงานของพนักงานธนาคารว่าด้วยการเลื่อนเงินเดือนและค่าจ้างประจำปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ ๑ โดยข้อบังคับธนาคารอาคารสงเคราะห์ ฉบับที่ ๑๖ พ.ศ. ๒๕๒๐ ตามเอกสารหมาย จ.๒๓ นั้น เห็นว่า ข้อบังคับธนาคารอาคารสงเคราะห์ฉบับดังกล่าว ข้อ ๔ ได้กำหนดว่าในการเลื่อนเงินเดือนหรือค่าจ้างของพนักงานหรือลูกจ้างประจำปี ให้พิจารณาถึงความสามารถการริเริ่ม ความอุตสาหะ ความรับผิดชอบ คุณภาพและปริมาณงานในหน้าที่ ตลอดจนความประพฤติและสมรรถภาพในการปฏิบัติงานส่วนข้อ ๕ ได้วางหลักเกณฑ์ว่าพนักงานหรือลูกจ้างผู้ซึ่งจะได้เลื่อนเงินเดือนหรือค่าจ้างต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ในข้อ (๑) – (๙) แต่ก็ไม่มีข้อบังคับข้อใดกำหนดไว้ชัดเจนว่าพนักงานหรือลูกจ้างที่ไม่ต้องด้วยข้อห้ามในหลักเกณฑ์ข้อ (๑) – (๙) แล้ว จะต้องได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือน ตรงกันข้ามข้อบังคับข้อ ๘ กลับระบุว่าผู้จัดการมีอำนาจเลื่อนเงินเดือนหรือค่าจ้างของพนักงานหรือลูกจ้างตำแหน่งไม่สูงกว่าหัวหน้าหน่วยหรือเทียบเท่าในปีหนึ่งๆ ได้ไม่เกินสองขั้น ถ้าเกินกว่านั้นต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการ แสดงให้เห็นว่าตามข้อบังคับดังกล่าว ผู้จัดการมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจในการสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่พนักงานหรือลูกจ้างได้ หากโจทก์เห็นว่าโจทก์เป็นผู้อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือน ๑ ขั้น แต่จำเลยที่ ๑ ใช้ดุลพินิจไม่ชอบ ใช้ดุลพินิจผิดไปจากหลักเกณฑ์ที่วางไว้ในข้อบังคับธนาคารอาคารสงเคราะห์ ฉบับที่ ๗ อันถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์ก็ชอบที่จะว่ากล่าวกับจำเลยที่ ๑ฐานปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงาน จะอ้างว่าจำเลยที่ ๑ กระทำฐานปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงาน จะอ้างว่าจำเลยที่ ๑ กระทำละเมิดต่อโจทก์เพราะเหตุดังกล่าวหาชอบไม่ ส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ ๒ ในฐานะเป็นรองประธานคณะกรรมการพิจารณาความดีความชอบของพนักงานได้เสนอไม่ให้เลื่อนขั้นเงินเดือนของโจทก์ต่อจำเลยที่ ๑ตามเอกสารหมาย จ.๔ และจำเลยที่ ๑ สั่งเห็นชอบด้วย ตามเอกสารหมาย จ.๒๕ เป็นเพราะจำเลยที่ ๒ ต้องการให้โจทก์บอกว่าพนักงานหรือลูกจ้างคนใดที่เป็นตัวการชักชวนให้พนักงานธนาคารอาคารสงเคราะห์แต่งชุดดำเพื่อประท้วงผู้จัดการ เรื่องการแต่งตั้งพนักงานในสำนักผู้จัดการและเรียกนักข่าวมาทำข่าวทั้งนี้เนื่องจากจำเลยที่ ๒ ทราบว่าโจทก์ทราบว่าพนักงานเหล่านั้นเป็นใคร แต่ความจริงโจทก์ไม่ทราบว่าพนักงานเหล่านั้นเป็นใครบ้าง จึงไม่สามารถบอกจำเลยที่ ๒ ได้ ส่วนจำเลยที่ ๑ ออกคำสั่งไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนให้โจทก์ เพราะจำเลยที่ ๑ ได้เรียกโจทก์ไปพูดต่อหน้านายเจือระวี ชมเสวี ผู้ช่วยผู้จัดการนายสวัสดิ์ ไชยคุปต์ หัวหน้าสำนักกฎหมายและนางอังสุมาลย์ ฉายะวรรณ หัวหน้าส่วนควบคุมเงินกู้ว่าให้โจทก์ยอมรับว่าได้ทำผิดเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์จะทำทัณฑ์บนไว้และเลื่อนเงินเดือนให้ ถ้าโจทก์ไม่ยอมจะเสนอให้ตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย โจทก์ได้แจ้งว่าไม่รู้ว่าใครเป็นตัวการ จะนำเรื่องการหาตัวคนประท้วงมาเป็นเหตุไม่ขึ้นเงินเดือนไม่ได้ จำเลยที่ ๑ บอกให้ไปคิดดูให้ดี โจทก์ได้ยื่นคำตอบต่อจำเลยที่ ๑ ผ่านส่วนเงินกู้ ตามเอกสารหมาย จ.๓๓ ว่าโจทก์ไม่ได้กระทำผิดในการประท้วง จึงไม่มีเหตุผลความชอบธรรมอันใดที่ต้องทำทัณฑ์บนเพื่อแลกเปลี่ยนกับการได้เลื่อนเงินเดือน เป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ ตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์ทางวินัยและโจทก์ถูกสั่งให้ออกจากงานนั้น ฝ่ายจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ นำสืบว่าวิธีพิจารณาการเลื่อนขั้นเงินเดือนของพนักงานแม้จะมีการพิจารณากันมาตามลำดับแล้วก็ตาม จำเลยที่ ๑ ก็ไม่จำต้องปฏิบัติตาม จำเลยที่ ๑ มีอำนาจใช้ดุลพินิจได้อีกชั้นหนึ่งสำหรับกรณีของโจทก์เมื่อนางกรองสิญจน์ สสิตานนท์ หัวหน้าส่วนกลางได้รับรายงานการขอเลื่อนขั้นเงินเดือนของพนักงานและลูกจ้างจากหัวหน้าส่วนต่างๆ แล้ว ได้นำเสนอต่อจำเลยที่ ๑ ผ่านนายเจือระวี ชมเสวี และจำเลยที่ ๒ จากนั้นจำเลยที่ ๑ ได้สั่งด้วยวาจาให้จำเลยที่ ๒ พิจารณาอีกครั้งหนึ่งว่าจะเห็นด้วยกับข้อเสนอของหัวหน้าส่วนหรือไม่ จำเลยที่ ๒ จึงได้เชิญหัวหน้าส่วนต่างๆ มาประชุมกัน มติของที่ประชุมให้โจทก์ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือน ๑ ขั้น ต่อมานางกรองสิญจน์ได้ส่งรายงานตามเอกสารหมาย จ.๑๖ มายังจำเลยที่ ๒ แต่จำเลยที่ ๒ เห็นว่าโจทก์มีส่วนร่วมในการแต่งชุดดำประท้วงจำเลยที่ ๑เกี่ยวกับการประชุมแต่งตั้งพนักงานในสำนักผู้จัดการ ทั้งได้ชักชวนผู้อื่นให้ประท้วงดังกล่าวด้วย เป็นการประพฤติตัวกระด้างกระเดื่อง เกิดความแตกแยกสามัคคีอันเป็นการปฏิบัติผิดระเบียบของธนาคารอาคารสงเคราะห์ ฉบับที่ ๑๗ ตามเอกสารหมาย จ.๒๙ ข้อ ๑๑ และข้อ ๑๒ จึงมีความเห็นว่าไม่สมควรเลื่อนขั้นเงินเดือนให้โจทก์ ทั้งนี้จำเลยที่ ๒ ได้ใช้ดุลพินิจตามสมควรของตนเอง แต่ก็ไม่ได้ถือว่าโจทก์กระทำผิดวินัยจำเลยที่ ๑ ได้พิจารณาแล้วเห็นด้วยกับความเห็นของจำเลยที่ ๒ ศาลฎีกาได้พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์จำเลยที่ ๑ ที่ ๒เกี่ยวกับปัญหาข้อนี้แล้ว เห็นว่าตัวโจทก์เบิกความยอมรับว่าในวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๐ โจทก์ได้แต่งชุดดำมาทำงานจริงนอกจากโจทก์แล้วยังมีพนักงานธนาคารอีกประมาณ ๓ คน แต่งชุดดำมาทำงานด้วย แต่โจทก์อ้างว่าแต่งมาเพื่อจะไปงานศพกับสามีในตอนเย็นไม่ใช่เพื่อประท้วง ซึ่งแม้จะเป็นการบังเอิญมาตรงกันเช่นที่โจทก์อ้างจริงก็ตาม แต่การกระทำของโจทก์ก็เป็นมูลเหตุให้จำเลยที่ ๒ เข้าใจไปได้ว่าโจทก์แต่งชุดดำมาทำงานเพื่อประท้วงจำเลยที่ ๑ จึงได้ทำความเห็นเสนอต่อจำเลยที่ ๑ ว่าไม่ควรเลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่โจทก์และจำเลยที่ ๑ มีความเห็นด้วยกับจำเลยที่ ๒ การกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เช่นนี้ แม้จะเป็นการใช้ดุลพินิจโดยขาดความละเอียดรอบคอบ จนอาจเรียกได้ว่าขาดความเป็นธรรมก็ตามก็เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำนาจในการบริหารของตนที่มีอยู่โดยโจทก์เองมีส่วนกระทำให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เข้าใจผิดและใช้ดุลพินิจไปดังกล่าวแล้ว ซึ่งกรณีเช่นนี้ยังไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share