แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ข้อความที่จำเลยขอแก้ไขคำให้การของจำเลยทั้งสี่ข้อ ได้แก่ 1) ข้อที่เกี่ยวกับการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีจากเดิมเป็นว่า ลายมือชื่อโจทก์ผู้มอบอำนาจเป็นลายมือชื่อปลอม และตราประทับไม่ใช่ตราสำคัญของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้ 2) ข้อที่เกี่ยวกับอาคารพิพาทที่อ้างว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนและจำเลยมีสิทธิอยู่ได้ตลอดชีวิตเป็นว่า โจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารที่จำเลยเช่า 3) ข้อที่เกี่ยวกับการบอกเลิกสัญญาและการบอกกล่าวของโจทก์ที่อ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นว่า ภายหลังสัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้ว จำเลยยังคงครอบครองอาคารที่เช่าโดยโจทก์ไม่เคยทักท้วงจึงเป็นการเช่าที่ไม่มีกำหนดเวลา การเลิกสัญญาเช่าจะต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 566 ก่อนฟ้องโจทก์ไม่เคยบอกเลิกสัญญาและหนังสือบอกกล่าวของโจทก์มิใช่หนังสือบอกเลิกสัญญา โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และ 4) ข้อที่เกี่ยวกับเหตุที่ทำให้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมทั้งหมดเป็นว่า การที่โจทก์บรรยายฟ้องโดยมิได้บรรยายว่าจำเลยเข้ามาอยู่บนที่ดินแปลงใดบ้านพิพาทตั้งอยู่บนถนนตรอกซอยอะไร ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม ล้วนเป็นการยกข้อเท็จจริงและเหตุแห่งการปฏิเสธขึ้นใหม่เปลี่ยนแปลงข้อต่อสู้เดิมที่จำเลยได้ให้การไว้ตั้งแต่แรก รวมทั้งที่ศาลชั้นต้นเคยมีคำสั่งอนุญาตให้แก้ไขตามคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลย ทั้งจำเลยอาจยื่นคำร้องขอแก้ไขได้ก่อนวันสืบพยาน มิใช่เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน กรณีไม่ต้องด้วยเหตุยกเว้นที่จำเลยอาจยื่นคำร้องได้ภายหลังวันสืบพยานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 การที่จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การภายหลังวันสืบพยานแล้วจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าว นอกจากนี้ การที่จำเลยฎีกาในข้อ 3) และ ข้อ 4) ยังเป็นการยกข้อต่อสู้ตามคำร้องขอแก้ไขคำให้การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขขึ้นกล่าวอ้างในฎีกา จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้และจำเลยฎีกาต่อมา ก็ถือว่าเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยพร้อมบริวารขนย้ายทรัพย์สินและออกไปจากอาคารพาณิชย์เลขที่ 468 และส่งมอบคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 40,000 บาท แก่โจทก์ และค่าเสียหายเดือนละ 4,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจนขนย้ายและออกไปจากอาคารดังกล่าว และส่งมอบคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยและชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า นายพีรพล เสรฐภักดี และนายสุรชาติ วรกิจกาญจนกุล ไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราบริษัทกระทำการแทนโจทก์ได้เนื่องจากหนังสือรับรองเป็นสำเนาเอกสารที่คัดถ่ายมาแล้วเกินกว่าหนึ่งเดือน โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้นายประพลฟ้องและดำเนินคดีลายมือชื่อของผู้มอบอำนาจโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเป็นลายมือชื่อปลอม และผู้มอบอำนาจสามารถเพิกถอนการมอบอำนาจได้ โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ขณะฟ้องไม่มีหลักฐานยืนยันว่าผู้มอบอำนาจยังมอบอำนาจให้ฟ้องคดีหรือไม่ โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จำเลยเช่าอาคารพิพาทจากบริษัทร่วมกิจพาณิชย์และก่อสร้าง จำกัด โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าก่อสร้างอาคารพิพาทและตกลงให้จำเลยอยู่ตลอดชีวิตของผู้เช่า การเช่าระหว่างจำเลยกับบริษัทร่วมกิจพาณิชย์และก่อสร้าง จำกัด จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนชนิดพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา โจทก์ไม่มีอำนาจขับไล่จำเลย โจทก์ไม่บรรยายฟ้องโดยแจ้งชัดว่าจำเลยละเมิดที่ดินของโจทก์อย่างไร ที่ดินที่จำเลยละเมิดอยู่บริเวณใด เนื้อที่เท่าไร โจทก์มีสิทธิอย่างไรเหนือที่ดินและอาคารพิพาท ทั้งไม่มีพยานเอกสารใด ๆ ในฟ้องมาแสดง ค่าเสียหายในอัตราค่าเช่าโจทก์คาดคะเนขึ้นเองเพื่อขู่บังคับให้จำเลยต้องย้ายออกไปจากที่ดินพิพาท โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายเนื่องจากโจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์และไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์มิได้บรรยายว่าได้รับความเสียหายอย่างไร จำเลยไม่เข้าใจฟ้องโจทก์ ทำให้จำเลยเสียเปรียบไม่สามารถต่อสู้คดีได้ จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม โจทก์ไม่เคยบอกเลิกสัญญาและบอกกล่าวให้จำเลยทำสัญญาเช่ากับโจทก์หรือขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากอาคารที่เช่า การบอกกล่าวจึงไม่ชอบ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยพร้อมบริวารออกไปจากอาคารพาณิชย์เลขที่ 468 ของโจทก์ ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ชดใช้ค่าเสียหายอีกเดือนละ 4,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะออกจากอาคารพาณิชย์พิพาทของโจทก์
จำเลยอุทธรณ์ โดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ศาลชั้นต้นรับมาในข้อกฎหมายตามข้อ 2.1) ที่ว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การชอบหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ข้อความที่จำเลยขอแก้ไขคำให้การดังกล่าว ข้อ 1) เป็นการขอแก้ไขคำให้การในส่วนที่เกี่ยวกับการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีจากเดิมทั้งหมดเป็นว่า ลายมือชื่อกรรมการโจทก์ผู้มอบอำนาจเป็นลายมือชื่อปลอมและตราประทับไม่ใช่ตราสำคัญของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้ โจทก์ไม่ได้มอบให้นายประพลฟ้องและดำเนินคดี ข้อ 2) เป็นการขอแก้ไขคำให้การเดิมในส่วนที่เกี่ยวกับอาคารพิพาทที่อ้างว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนและจำเลยมีสิทธิอยู่ได้ตลอดชีวิตของผู้เช่าเป็นว่า อาคารพิพาทที่จำเลยเช่าอาศัยอยู่มิได้ปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 1062 และเลขที่ 1076 ของโจทก์ แต่ปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 1078 โจทก์จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารที่จำเลยเช่า ข้อ 3) เป็นการขอแก้ไขคำให้การเดิมในส่วนที่เกี่ยวกับการบอกเลิกสัญญาและการบอกกล่าวของโจทก์ที่อ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นว่า หากศาลฟังว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารที่จำเลยเช่า ภายหลังสัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้วจำเลยยังคงครอบครองอาคารที่เช่าโดยโจทก์ไม่เคยทักท้วงจึงเป็นการเช่าที่ไม่มีกำหนดเวลา การเลิกสัญญาเช่าจะต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 566 ก่อนฟ้องโจทก์ไม่เคยบอกเลิกสัญญาและหนังสือบอกกล่าวของโจทก์มิใช่หนังสือบอกเลิกสัญญา โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และข้อ 4) เป็นการขอแก้ไขคำให้การเดิมในส่วนที่เกี่ยวกับเหตุที่ทำให้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมทั้งหมดเป็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องตอนต้นว่าจำเลยเข้ามาอยู่อาศัยโดยมิชอบเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์แต่ตามหนังสือบอกกล่าวระบุว่าจำเลยเข้ามาอยู่โดยสัญญาเช่า และมิได้บรรยายว่าจำเลยเข้ามาอยู่บนที่ดินแปลงใดระหว่างโฉนดเลขที่ 1062 และเลขที่ 1076 บ้านพิพาทตั้งอยู่บนถนนตรอกซอยอะไร เพราะบริเวณท่าดินแดงมีที่ดินจำนวนหลายแปลง มีซอยแยกจากถนนใหญ่หลายซอย มีเลขบ้านซ้ำซ้อนกันหลายหลังฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม เห็นว่า ข้อความที่จำเลยขอแก้ไขคำให้การของจำเลยทั้งสี่ข้อตามคำร้องดังกล่าวนั้น ล้วนเป็นการยกข้อเท็จจริงและเหตุแห่งการปฏิเสธขึ้นใหม่เปลี่ยนแปลงข้อต่อสู้เดิมที่จำเลยได้ให้การไว้ตั้งแต่แรกรวมทั้งที่ศาลชั้นต้นเคยมีคำสั่งอนุญาตให้แก้ไขตามคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยทั้งจำเลยอาจยื่นคำร้องขอแก้ไขได้ก่อนวันสืบพยาน มิใช่เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อย หรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน กรณีไม่ต้องด้วยเหตุยกเว้นที่จำเลยอาจยื่นคำร้องได้ภายหลังวันสืบพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 การที่จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การภายหลังวันสืบพยานแล้วจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าวที่ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยกับคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การดังกล่าวชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ฎีกาของจำเลยในข้อกฎหมายที่ศาลชั้นต้นรับมาตามข้อ 2.4) ที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายว่าอาคารพาณิชย์ของโจทก์มีกี่คูหาและเลขที่เท่าไรที่ปลูกสร้างอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 1062 และเลขที่ 1076 โดยเฉพาะอาคารที่จำเลยอาศัยปลูกอยู่บนที่ดินแปลงใดในจำนวนสองแปลงดังกล่าว และโจทก์บรรยายฟ้องในตอนแรกว่าจำเลยเข้ามาอยู่อาศัยโดยมิชอบเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์แต่ในหนังสือบอกกล่าวของทนายโจทก์กลับระบุว่าจำเลยเข้ามาอยู่โดยการเช่าเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบก็ดี และตามข้อ 2.7) ที่ว่าโจทก์เป็นผู้รับโอนที่ดินและเอกสารพิพาทจากผู้โอนซึ่งได้ให้จำเลยเช่า โจทก์จะต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอน การที่จำเลยยังครอบครองอาคารพิพาทภายหลังสัญญาเช่าครบกำหนดแล้วโดยโจทก์ไม่เคยทักท้วง ต้องถือว่าคู่กรณีได้ตกลงทำสัญญาเช่ากันใหม่โดยไม่มีกำหนดเวลาเช่า การบอกเลิกสัญญาเช่าจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 566 ก็ดี ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อดังกล่าวเป็นการยกข้อต่อสู้ตามคำร้องขอแก้ไขคำให้การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขขึ้นกล่าวอ้างในฎีกา จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้และจำเลยฎีกาต่อมาก็ถือว่าเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน