คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 586/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่จำเลยได้รับแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลรอบระยะเวลาบัญชีประจำปี 2526 และ 2527 ถือว่าเจ้าพนักงานประเมินของกรมสรรพากรโจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับเอาแก่จำเลยแล้ว เป็นการที่เจ้าหนี้ได้กระทำการอันนับว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกับการฟ้องคดี เพราะประมวลรัษฎากรมาตรา 12 ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรค้างได้โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีจึงเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/14(5) เมื่อเจ้าพนักงานประเมินกำหนดให้จำเลยชำระเงินค่าภาษีอากรภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินโดยจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2530 อายุความจึงเริ่มต้นนับใหม่เมื่อพ้น 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2530 ซึ่งอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป
การยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 วรรคสี่ ให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งโดยอนุโลม จึงต้องใช้อำนาจภายในกำหนดเวลา 10 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 นับแต่วันที่อาจใช้อำนาจตามมาตรานี้ได้ แต่กำหนดเวลาในการบังคับคดีตามมาตรา 271 มิใช่อายุความอันจะอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงไม่อาจนำบทบัญญัติอายุความสะดุดหยุดลงมาใช้บังคับได้การที่โจทก์มีคำสั่งอายัดเงินมัดจำขวดและลังที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากบริษัท บ. และบริษัทดังกล่าวส่งเงินอายัดให้โจทก์เมื่อวันที่ 30ธันวาคม 2534 ก็เป็นเพียงขั้นตอนในการบังคับคดีเท่านั้นไม่ใช่การกระทำอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดีไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 18มิถุนายน 2541 เกิน 10 ปี นับแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2530ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับเอาแก่จำเลยแล้วโจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับคดีแก่จำเลย จึงไม่อาจนำหนี้มาฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นหนี้ค่าภาษีอากรจำนวน 738,365 บาทโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่จำเลยไม่ยอมชำระหนี้จำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย

จำเลยไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยเป็นหนี้ค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลรอบระยะเวลาบัญชีประจำปี 2526และ 2527 รวมเป็นเงิน 949,269 บาท โจทก์ได้ทำการประเมินภาษีเงินได้ของจำเลยและมีหนังสือแจ้งให้จำเลยนำเงินภาษีดังกล่าวมาชำระลงวันที่ 25พฤษภาคม 2530 จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2530ต่อมาวันที่ 16 พฤศจิกายน 2531 โจทก์มีคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่มีต่อบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ในเงินค่ามัดจำขวดและลังและบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ได้นำเงินส่งตามคำสั่งอายัดเมื่อวันที่ 30ธันวาคม 2534 จำนวน 210,905 บาท ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า กรณีดังกล่าวเป็นการอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่มีต่อบุคคลภายนอกเป็นการกระทำอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกับการฟ้องคดีทำให้อายุความสะดุดหยุดลงหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยได้รับแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลรอบระยะเวลาบัญชีประจำปี 2526 และ 2527 ตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและใบตอบรับไปรษณีย์เอกสารหมาย จ.19 แล้ว ถือว่าเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับเอาแก่จำเลยแล้ว เป็นการที่เจ้าหนี้ได้กระทำการอันนับว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกับการฟ้องคดี เพราะประมวลรัษฎากร มาตรา 12 ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรได้โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี จึงเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(5)เมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้กำหนดให้จำเลยชำระเงินค่าภาษีอากรตามที่ประเมินแก่โจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินเมื่อจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2530 อายุความจึงเริ่มต้นนับใหม่เมื่อพ้น 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2530ซึ่งอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ดังนั้น อายุความเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ค่าภาษีอากรดังกล่าวจึงเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน2530 เป็นต้นไป สำหรับวิธีการยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 วรรคสี่ให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งโดยอนุโลมดังนั้น การใช้อำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 จึงต้องใช้ภายในกำหนดเวลา 10 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 นับแต่วันที่จะใช้อำนาจตามมาตรานี้ได้ แต่กำหนดเวลาในการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271มิใช่อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องอันจะอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับอายุความสะดุดหยุดลงมาใช้บังคับได้ การที่โจทก์มีคำสั่งอายัดเงินมัดจำขวดและลังที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด จำนวน 252,101 บาท และบริษัทดังกล่าวส่งเงินอายัดให้โจทก์ก็เป็นเพียงขั้นตอนในการบังคับคดีเท่านั้นจึงไม่ใช่การกระทำอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดีไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงแต่อย่างไร เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2541 ซึ่งเกิน 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับเอาแก่จำเลยแล้ว โจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับคดีแก่จำเลย โจทก์จึงไม่อาจนำหนี้พ้นกำหนดเวลาบังคับคดีมาฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องนั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”

พิพากษายืน

Share