คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 767/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ที่มิใช่บิดามารดาและไม่เป็นผู้ปกครองของหญิง ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินสินสอดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1436 วรรคท้าย ได้
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 2/2517)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นบิดานางสาวสมพิศ ปัจจุบันคือนางบุญเที่ยงตรง ภรรยาจำเลยที่ ๒ โจทก์ที่ ๒ เป็นพี่ชายร่วมบิดามารดาเดียวกับนางสมพิศและเป็นผู้ปกครองดูแลนางสมพิศก่อนแต่งงานกับจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ ตกลงหมั้นนางสาวสมพิศโดยจำเลยตกลงให้เงินสินสอด ๘,๐๐๐ บาท จะนำมามอบให้โจทก์ในวันสมรส เมื่อจำเลยที่ ๒สมรสกับนางสาวสมพิศโดยชอบด้วยกฎหมาย และอยู่กินด้วยกัน ฉันสามีภรรยา จำเลยไม่ชำระเงินค่าสินสอด ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินสินสอด ๘,๐๐๐ บาทแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ไม่ได้ตกลงจะให้เงินสินสอด โจทก์ที่ ๒ ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่ใช่ผู้ปกครองตามกฎหมายของนางสมพิศนางสมพิศยังมีบิดามารดาอยู่ และบรรลุนิติภาวะจดทะเบียนสมรสได้เอง
ศาลชั้นต้นเชื่อว่าโจทก์ที่ ๒ เป็นผู้ปกครองนางสมพิศตามความเป็นจริง มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ ตกลงจะให้เงินสินสอด ๘,๐๐๐บาทแก่โจทก์ที่ ๒ โดยเฉพาะ แต่จำเลยที่ ๒ ไม่ได้ตกลงด้วย พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๘,๐๐๐ บาทแก่โจทก์ที่ ๒ ยกฟ้องโจทก์ที่ ๑และยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ ๒
จำเลยที่ ๑ ผู้เดียวอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ตกลงจะให้เงินค่าสินสอดแก่โจทก์ที่ ๒ โจทก์ที่ ๒ ไม่ใช่ผู้ปกครองนางสาวสมพิศทั้งตามความเป็นจริงและตามกฎหมาย ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ ๒ ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองฎีกาให้จำเลยร่วมกันใช้เงินสินสอด ๘,๐๐๐ บาทแก่โจทก์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ ๑ โจทก์ที่ ๑ไม่อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นประการใด คดีเฉพาะตัวของโจทก์ที่ ๑ จึงยุติแล้ว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ ๑ ส่วนฎีกาของโจทก์ที่ ๒ ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ที่ ๒ มิใช่บิดามารดาและไม่เป็นผู้ปกครองของนางสมพิศ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์ที่ ๒ ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินสินสอดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๓๖ วรรคท้าย ได้ โจทก์ที่ ๒ ฎีกาว่าโจทก์ที่ ๒ เป็นผู้ปกครองนางสมพิศตามความเป็นจริงมีอำนาจฟ้องนั้น เป็นข้ออ้างที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๕๕
พิพากษายืน

Share