แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ซื้อคอนกรีตผสมเสร็จจากโจทก์เพื่อนำไปจำหน่ายแก่ลูกค้าของจำเลยที่ 1 หากำไรอีกทอดหนึ่งอันเป็นกิจการของจำเลยที่ 1 นั้นเอง ซึ่งเข้าข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1) ฉะนั้น การที่โจทก์ฟ้องเรียกราคาคอนกรีตผสมเสร็จที่ค้างชำระจากจำเลยที่ 1 จึงต้องใช้อายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2540 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายคอนกรีตผสมเสร็จกับโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในวงเงินไม่เกิน 3,000,000 บาท ต่อมาระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2540 ถึงเดือนธันวาคม 2540 จำเลยที่ 1 สั่งซื้อคอนกรีตผสมเสร็จจากโจทก์หลายครั้ง รวมเป็นค่าสินค้าจำนวน 2,174,548.78 บาท จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระค่าสินค้าจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลงในใบแจ้งหนี้แต่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันชำระค่าสินค้าจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 523,320.21 บาท นับแต่วันที่ 9 มกราคม 2541 ของต้นเงิน 349,111.79 บาท นับแต่วันที่ 14 มกราคม 2541 ของต้นเงิน 403,755.34 บาท นับแต่วันที่ 19 มกราคม 2541 ของต้นเงิน 329,402.74 บาท นับแต่วันที่ 24 มกราคม 2541 ของต้นเงิน 243,484.34 บาท นับแต่วันที่ 29 มกราคม 2541 ของต้นเงิน 127,897.72 บาท นับแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2541 และของต้นเงิน 197,586.64 บาท นับแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2541 ซึ่งเป็นวันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 669,018.82 บาท รวมเป็นเงิน 2,843,567.60 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 2,843,567.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 2,174,548.78 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดในวงเงินไม่เกิน 3,000,000 บาท
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายคอนกรีตผสมเสร็จกับโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามฟ้อง เมื่อระหว่างวันที่ 6 พฤศจิกายน 2540 ถึงวันที่ 10 ธันวาคม 2540 จำเลยที่ 1 สั่งซื้อคอนกรีตผสมเสร็จจากโจทก์หลายครั้ง รวมเป็นค่าสินค้าจำนวน 2,174,548.78 บาท ซึ่งโจทก์สามารถฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระค่าสินค้าจำนวนดังกล่าวได้ภายในกำหนดเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ส่งมอบคอนกรีตผสมเสร็จให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นต้นไป แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2543 ซึ่งพ้นกำหนดเวลา 2 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 197,586.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,500 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,174,548.78 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 523,310.21 บาท นับแต่วันที่ 9 มกราคม 2541 ของต้นเงิน 349,111.79 บาท นับแต่วันที่ 14 มกราคม 2541 ของต้นเงิน 403,755.34 นับแต่วันที่ 19 มกราคม 2541 ของต้นเงิน 329,402.75 บาท นับแต่วันที่ 24 มกราคม 2541 ของต้นเงิน 243,484.34 บาท นับแต่วันที่ 29 มกราคม 2541 ของต้นเงิน 127,897.72 บาท นับแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2541 และของต้นเงิน 197,586.64 บาท นับแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสิ้นไม่เกิน 3,000,000 บาท ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 8,000 บาท
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2540 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายคอนกรีตผสมเสร็จกับโจทก์ตามสัญญาซื้อขายคอนกรีตผสมเสร็จเอกสารหมาย จ.4 โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในวงเงิน 3,000,000 บาท ตามหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 ต่อมาระหว่างวันที่ 6 พฤศจิกายน 2540 ถึงวันที่ 10 ธันวาคม 2540 จำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้าคอนกรีตผสมเสร็จจากโจทก์หลายครั้งรวมเป็นค่าสินค้าจำนวน 2,174,548.78 บาท จำเลยที่ 1 ได้รับสินค้าครบถ้วนแล้ว ตามสำเนาใบแจ้งหนี้ ใบกำกับสินค้า/ใบกำกับภาษี และใบจ่ายสินค้าเอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.88 โดยมีข้อตกลงว่าจำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ภายในกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่ลงในใบแจ้งหนี้ในแต่ละงวด หากผิดนัดยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของค่าสินค้าที่ค้างชำระนับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จและยอมชำระเบี้ยปรับตามที่โจทก์กำหนดอีกด้วย เมื่อครบกำหนดชำระค่าสินค้าตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.6, จ.20, จ.33, จ.46, จ.60, จ.71 และ จ.79 แล้วจำเลยทั้งสามไม่ชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า ฟ้องโจทก์ตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.6, จ.20 จ.33, จ.46, จ.60 และ จ.71 ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยทั้งสามฎีกาว่า แม้จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการซื้อขายคอนกรีตผสมเสร็จเป็นปกติธุระก็ตาม แต่การที่โจทก์ขายคอนกรีตผสมเสร็จให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเรื่องที่โจทก์กระทำกับบุคคลของจำเลยที่ 1 เอง หาได้ทำกับกิจการของจำเลยที่ 1 ไม่ เพราะการที่โจทก์นำคอนกรีตผสมเสร็จส่งให้แก่ลูกค้าของจำเลยที่ 1 ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ก็เป็นเพราะโจทก์ต้องส่งมอบคอนกรีตผสมเสร็จให้แก่จำเลยที่ 1 เท่านั้น ส่วนการเรียกเก็บค่าสินค้าจากลูกค้าจำเลยที่ 1 นั้นจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการเอง โจทก์หาจำต้องจัดการแทนจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด กรณีของโจทก์ขายคอนกรีตผสมเสร็จให้แก่จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นไปเพื่อกิจการของจำเลยที่ 1 โจทก์เป็นผู้ประกับการค้าหรืออุตสาหกรรมเรียกเอาค่าของที่ส่งมอบมีกำหนดอายุความ 2 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้อง เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดอายุความ 2 ปีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ เห็นว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัดประกอบกิจการผลิต ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน จ้างทำของ รับจ้างทำของหรือกระทำด้วยประการอื่น ซึ่งผลิตภัณฑ์คอนกรีตที่ใช้หรือเกี่ยวเนื่องกับการก่อสร้าง หรือเป็นอุปกรณ์ในการก่อสร้างและผลิตภัณฑ์อย่างอื่นๆ ที่ทำด้วยคอนกรีต คอนกรีตเสริมเหล็ก และคอนกรีตอัดแรง รวมทั้งการให้บริการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น การที่โจทก์ทำสัญญาขายคอนกรีตผสมเสร็จให้แก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นการประกอบธุรกิจหรือดำเนินกิจการในวัตถุประสงค์ของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.3 ข้อหนึ่งว่า ประกอบกิจการค้าปูนซิเมนต์และคอนกรีตผสมเสร็จทุกชนิด การที่จำเลยที่ 1 ซื้อคอนกรีตผสมเสร็จจากโจทก์มิได้นำไปใช้ แต่เป็นการซื้อเพื่อนำไปจำหน่ายแก่ลูกค้าของจำเลยที่ 1 เพื่อแสวงหากำไรอีกทอดหนึ่งอันเป็นกิจการของจำเลยที่ 1 นั้นเอง ซึ่งเข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ฉะนั้น การที่โจทก์ฟ้องเรียกราคาคอนกรีตผสมเสร็จที่ค้างชำระจากจำเลยที่ 1 จึงต้องใช้อายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (5) หาใช่ 2 ปี ดังที่จำเลยทั้งสามฎีกาไม่ เมื่อนับระยะเวลาตามใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.6, จ.20 จ.33, จ.46, จ.60 และ จ.71 ถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2543 ซึ่งเป็นวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 5 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ข้ออ้างของจำเลยทั้งสามจึงปราศจากเหตุผลให้รับฟัง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวน 197,586.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์เป็นจำนวนเงินที่สูงขึ้น การที่จำเลยทั้งสามฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสามรับผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ทุนทรัพย์ชั้นฎีกาจึงเป็นเงินจำนวน 1,976,962.14 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 523.310.21 บาท นับแต่วันที่ 9 มกราคม 2541 ของต้นเงิน 349,111.79 บาท นับแต่วันที่ 14 มกราคม 2541 ของต้นเงิน 403,755.34 บาท นับแต่วันที่ 19 มกราคม 2541 ของต้นเงิน 329,402.74 บาท นับแต่วันที่ 24 มกราคม 2541 ของต้นเงิน 243,484.34 บาท นับแต่วันที่ 29 มกราคม 2541 และของต้นเงิน 127,897.72 บาท นับแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2541 ถึงวันฟ้อง แต่จำเลยทั้งสามเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในทุนทรัพย์ 2,843,567.60 บาท ซึ่งเกินกว่าที่จะต้องเสียจึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่จำเลยทั้งสาม”
พิพากษายืน โจทก์ไม่ยื่นคำแก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาที่เสียเกินมาแก่จำเลยทั้งสาม.