คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7645/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 จะมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้ต่อเมื่อคำวินิจฉัยของศาลดังกล่าวมีผลกระทบกระเทือนสิทธิของจำเลยที่ 1 แต่ระหว่างการพิจารณาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 แล้ว และต่อมาพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์และคดีถึงที่สุดแล้ว ดังนั้น คำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงมิได้กระทบกระเทือนต่อสิทธิของจำเลยที่ 1 แต่ประการใด เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาต จำเลยที่ 1 จึงมิได้รับผลกระทบจากคำสั่งดังกล่าวแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้
ก่อนผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์เดิม โดยอ้างว่าโจทก์เดิมได้โอนสิทธิเรียกร้องอันเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งหมดที่มีต่อจำเลยในคดีนี้ให้แก่บริษัทดังกล่าวแล้ว ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ซึ่งจำเลยที่ 5 ก็มิได้คัดค้าน และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็มีคำสั่งอนุญาตโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังว่าสินทรัพย์ที่รับโอนกันในคดีนี้เป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 3 เมื่อครั้นศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ และคดีถึงที่สุด เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ. โดยกล่าวอ้างและยืนยันในชั้นไต่สวนว่าสินทรัพย์ที่ได้รับโอนมานั้นเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ แต่จำเลยที่ 5 ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงต้องรับฟังว่าสินทรัพย์ดังกล่าวเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 3
แม้ผู้ร้องจะแต่งตั้งให้บริษัท อ. เป็นตัวแทนเรียกเก็บและเรียกชำระหนี้แทนและมิได้บอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลยที่ 5 ก็ตาม ก็ไม่กระทบถึงความสมบูรณ์ในการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวแต่อย่างใด คงมีผลเพียงว่าผู้รับโอนจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 5 ไม่ได้เท่านั้น
แม้ผู้ร้องเคยฟ้องจำเลยที่ 5 เป็นลูกหนี้เพื่อขอให้ศาลล้มละลายกลางพิจารณาให้เป็นบุคคลล้มละลาย แต่การพิจารณาคดีล้มละลายประเด็นแห่งคดีคือการมุ่งพิสูจน์ว่าลูกหนี้เป็นผู้มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินหรือไม่ คดีนี้เป็นการดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 ซึ่งผู้ร้องจำต้องดำเนินการในทุกคดีเพราะเป็นการบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายดังกล่าว และมูลหนี้หรือเหตุที่พิพาทในแต่ละคดีเป็นคนละเหตุกัน การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอในคดีนี้จึงไม่ใช่การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำและมิใช่การใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 165,363,456.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.75 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 117,943,526.83 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ระหว่างพิจารณา ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 และโจทก์โอนสิทธิเรียกร้องทั้งหมดที่มีต่อจำเลยทั้งห้าให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรีจำกัด ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ชั่วคราว และอนุญาตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ต่อมาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ คดีถึงที่สุด
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541
จำเลยที่ 1 และ ที่ 5 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ผู้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์เดิม
จำเลยที่ 1 และที่ 5 อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยที่ 1 และที่ 5 อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ผู้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์เดิม แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 เป็นการชั่วคราว ต่อมาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ คดีถึงที่สุดแล้ว ก่อนพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 5 เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 จะมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางต่อเมื่อคำวินิจฉัยของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีผลกระทบกระเทือนสิทธิของจำเลยที่ 1 แต่คดีนี้ในระหว่างพิจารณาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 แล้ว และต่อมามีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ชำระหนี้ตามคำฟ้องให้แก่โจทก์และคดีถึงที่สุดแล้ว ดังนั้น คำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงมิได้กระทบกระเทือนต่อสิทธิของจำเลยที่ 1 แต่ประการใด เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา จำเลยที่ 1 จึงมิได้รับผลกระทบจากคำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 มาตรา 12 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 (เดิม) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 และมาตรา 142 (5) ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 มานั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 ว่า คำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ก่อนผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์เดิม ตามคำร้องลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2544 โดยอ้างว่าโจทก์เดิมได้โอนสิทธิเรียกร้องอันเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งหมดที่มีต่อจำเลยในคดีนี้ให้แก่บริษัทดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2544 อันเป็นการดำเนินการตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 3 ซึ่งตามมาตรา 3 ดังกล่าว คำว่า “การบริหารสินทรัพย์” หมายความว่า เป็นการรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน และ “สินทรัพย์ด้อยคุณภาพ” หมายความว่า สินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้เป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่จำหน่ายจ่ายโอนให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ได้ ซึ่งจำเลยที่ 5 ก็มิได้คัดค้านคำร้องขอเข้าสวมสิทธิดังกล่าวและศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็ได้มีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ได้ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2545 คำสั่งดังกล่าวไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังว่าสินทรัพย์ที่รับโอนกันในคดีนี้เป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 3 ครั้นเมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ และคดีถึงที่สุด เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ผู้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์เดิมในสินทรัพย์เดียวกันในคดีนี้ตามสัญญาการโอนกิจการ ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2547 โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดดังกล่าว เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอสวมสิทธิโดยกล่าวอ้างและยืนยันในชั้นไต่สวนว่า สินทรัพย์ที่ผู้ร้องรับโอนมาจากบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด นั้น เป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ แต่จำเลยที่ 5 ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่านับตั้งแต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์เดิมจนถึงวันที่จำเลยที่ 5 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งในคดีนี้ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้จัดการให้มีการชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่ผู้รับชำระหนี้บ้างแล้วหรือไม่ อย่างไร หรือปรากฏข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไปจากเดิม จึงต้องรับฟังว่าสินทรัพย์ที่มีการโอนกันระหว่างผู้ร้องกับบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด เป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว
ส่วนที่จำเลยที่ 5 อุทธรณ์ว่า การบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องอันเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพระหว่างผู้ร้องกับบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ไม่ชอบด้วยมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 นั้น เห็นว่า แม้ผู้ร้องจะแต่งตั้งให้บริษัทเอแคป แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด (มหาชน) เป็นตัวแทนเรียกเก็บและเรียกชำระหนี้แทนโดยบริษัทดังกล่าวมิได้เป็นผู้รับชำระหนี้เดิม และผู้ร้องจะมิได้บอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลยที่ 5 ก็ตาม ก็ไม่กระทบถึงความสมบูรณ์ในการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวแต่อย่างใด แต่คงมีผลเพียงว่าผู้รับโอนจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 5 ไม่ได้เท่านั้น
ส่วนที่จำเลยที่ 5 อุทธรณ์ว่า การยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของผู้ร้องเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับการพิจารณาในคดีล้มละลายที่ผู้ร้องฟ้องจำเลยที่ 5 เป็นลูกหนี้ที่ 1 เพื่อขอให้ศาลล้มละลายกลางพิจารณาให้จำเลยที่ 5 เป็นบุคคลล้มละลาย เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิในคดีนี้ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีของศาลล้มละลายกลางดังกล่าว และยังเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตด้วย เห็นว่า การพิจารณาคดีล้มละลายดังกล่าวประเด็นแห่งคดีคือการมุ่งพิสูจน์ว่าลูกหนี้ที่ 1 ซึ่งคือจำเลยที่ 5 ในคดีนี้เป็นหนี้โจทก์เดิมที่มีการโอนทรัพย์ที่เป็นสิทธิเรียกร้องไปยังเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ซึ่งคือผู้ร้องในคดีนี้ จนลูกหนี้ที่ 1 (จำเลยที่ 5) เป็นผู้มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินหรือไม่ อันต้องตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว อันเป็นเหตุให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย แต่คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งเป็นการดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 ซึ่งผู้ร้องจำต้องดำเนินการในทุกคดีเพราะเป็นการบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายดังกล่าว และมูลแห่งหนี้หรือเหตุที่พิพาทในแต่ละคดีเป็นคนละเหตุกัน การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอในคดีนี้จึงมิใช่การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำและมิใช่การใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ ตามบทบัญญัติในมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ด้วยเหตุดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา จึงเป็นการชอบแล้ว อุทธรณ์ทุกข้อของจำเลยที่ 5 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 200 บาท ให้จำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

Share