คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 764/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าจ้างล่วงหน้าไปจากผู้คัดค้านร้อยละ 15 ของค่าจ้างตามสัญญาโดยรับไปก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะแจ้งการอายัดไปยังผู้คัดค้าน เงินดังกล่าวจึงตกเป็นของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิจะนำไปใช้ในการก่อสร้างตามสัญญา จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องคืนให้แก่ผู้คัดค้านเฉพาะกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญาเท่านั้น จำเลยที่ 1 จึงมีสถานะเป็นลูกหนี้ของผู้คัดค้านและไม่มีสิทธิเรียกร้องใด ๆ แก่ผู้คัดค้าน เงินค่าจ้างล่วงหน้าที่จำเลยที่ 1 รับไปจึงไม่อยู่ที่ผู้คัดค้านอันอยู่ในวิสัยที่ผู้คัดค้านจะส่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่โจทก์ขออายัดได้ โจทก์ไม่มีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีแก่ผู้คัดค้านในส่วนเงินค่าจ้างล่วงหน้าเสมือนเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา
สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับธนาคารระบุว่า เป็นที่เข้าใจกันดีระหว่างคู่สัญญาว่าสิทธิเรียกร้องที่โอนให้แก่กันตามสัญญานี้เป็นสิทธิเรียกร้องที่ยังไม่แน่นอนว่าจะสามารถเรียกร้องเอาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ผู้คัดค้านได้เป็นจำนวนเงินเท่าใด เนื่องจากขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหรือการปฏิบัติที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาผู้คัดค้านจึงไม่ถือว่าการโอนสิทธิเรียกร้องนี้เป็นการชำระหนี้ด้วยอย่างอื่นอันจะทำให้หนี้ที่ผู้โอนมีอยู่กับผู้รับโอนระงับลงบางส่วนหรือทั้งหมด และในกรณีที่ผู้รับโอนไม่ได้รับเงินจากผู้คัดค้านหรือได้รับไม่พอชำระหนี้ที่มีอยู่ทั้งหมด ผู้โอนยังคงผูกพันที่จะชำระหนี้ให้แก่ผู้รับโอนจนครบถ้วน ข้อความในสัญญาดังกล่าวแสดงว่าสิทธิเรียกร้องที่โอนให้แก่กันนั้นรวมถึงเงินค่าเคด้วย ทางปฏิบัติที่ผู้คัดค้านจ่ายเงินค่าเคให้แก่จำเลยที่ 1 จึงมีผลเป็นเพียงการสละสิทธิเรียกร้องของธนาคารที่มีต่อจำเลยที่ 1 และผู้คัดค้านเท่านั้น หาทำให้โจทก์มีสิทธิที่จะอายัดเงินค่าเคที่จำเลยที่ 1 โอนให้แก่ธนาคารไปแล้วไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีแก่ผู้คัดค้านสำหรับเงินค่าเคเสมือนเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 312 วรรคสอง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 719,103.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นจำนวน 707,103.75 บาท นับถัดจากวันที่ 22 กรกฎาคม 2541 ซึ่งเป็นวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จกับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความรวม 24,607.50 บาท แทนโจทก์ แต่จำเลยทั้งสี่ไม่ชำระ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2544 ศาลแพ่งจึงออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำขอของโจทก์ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์ของจำเลยทั้งสี่มาชำระหนี้ตามคำพิพากษา ต่อมาวันที่ 31 ตุลาคม 2544 โจทก์ยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2544 เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งบังคับคดีแทนเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี มีหนังสือแจ้งการอายัดเงินค่าจ้างรับเหมาก่อสร้างที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิจะได้รับจากผู้คัดค้านตามสัญญาก่อสร้างอาคารคณะเทคนิคการแพทย์ แต่ผู้คัดค้านมีหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าจำเลยที่ 1 ได้โอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างรับเหมาก่อสร้างให้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขางามวงศ์วาน แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ผู้มีสิทธิในการรับเงินดังกล่าวจากผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านไม่สามารถที่จะส่งเงินดังกล่าวให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ หลังจากนั้นโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้เงินทดรองจ่ายค่าจ้างล่วงหน้าที่ได้รับจากผู้คัดค้านจำนวน 8,068,605.54 บาท ซึ่งมีเงื่อนไขว่า จำเลยที่ 1 จะต้องหาหนังสือค้ำประกันการชำระหนี้ค่าจ้างล่วงหน้าคืนให้แก่ผู้คัดค้าน และจำเลยที่ 1 ยินยอมให้ผู้คัดค้านหักชำระเงินคืนงวดละ 620,661.97 บาท รวม 12 งวดและงวดที่ 13 เป็นเงิน 620,661.90 บาท โดยจะเริ่มหักในงวดที่ 5 เป็นต้นไป ค่าจ้างล่วงหน้าที่จำเลยที่ 1 ได้รับไปเป็นเงินของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระหนี้คืนให้แก่ผู้คัดค้านหากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถคืนได้ผู้คัดค้านก็สามารถเรียกค่าจ้างล่วงหน้าดังกล่าวคืนจากหนังสือค้ำประกันการชำระหนี้ค่าจ้างล่วงหน้าที่จำเลยที่ 1 นำมาค้ำประกันไว้ได้ทันที ค่าจ้างล่วงหน้าดังกล่าวจึงไม่ใช่เงินของผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านได้หักค่าจ้างล่วงหน้าจากจำเลยที่ 1 ไปแล้ว 10 งวด คงเหลืออยู่ 3 งวด โดยงวดสุดท้ายหักเพื่อชำระหนี้เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2544 โดยวิธีการที่ผู้คัดค้านหักค่าจ้างล่วงหน้าที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ผู้คัดค้านก่อนแล้วจึงโอนเงินส่วนที่เหลือจากการหักชำระหนี้ให้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขางามวงศ์วานซึ่งค่าจ้างล่วงหน้าที่โจทก์ขออายัดไม่อยู่ในเงื่อนไขของการโอนสิทธิเรียกร้องแต่อย่างใด ต่อมาโจทก์ยื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีสำนักงานบังคับจังหวัดเชียงใหม่ ขอให้อายัดค่าจ้างล่วงหน้าที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระคืนให้แก่ผู้คัดค้านในงวดที่ 15 และ 16 แล้ว ในวันที่ 10 กันยายน 2544 ซึ่งเป็นเวลาที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ส่งมอบงานและผู้คัดค้านยังไม่ได้หักค่าจ้างล่วงหน้าชำระหนี้ไว้ เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอนุญาตและแจ้งคำสั่งอายัดไปที่ผู้คัดค้านแล้วในวันเดียวกัน แต่ผู้คัดค้านเพิกเฉย ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับความเสียหายเป็นเงิน 928,491.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 707,103.75 บาท จนกว่าจะชำระเสร็จโดยล่าสุดโจทก์ทราบว่ากำลังจะมีการเบิกจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 และหักหนี้ของจำเลยที่ 1 ในงวดงานที่ 15 ซึ่งเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นหลังจากคำสั่งให้อายัดเงิน ขอให้ไต่สวนและมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านนำส่งเงินอายัดตามหมายของเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือขอให้มีคำสั่งให้บังคับคดีเอาแก่ผู้คัดค้านเสมือนหนึ่งว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเสียเองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 312
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยที่ 1 ได้โอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างตามสัญญาให้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขางามวงศ์วาน โดยทั้งสองฝ่ายมีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้คัดค้านทราบแล้ว สิทธิในการรับเงินค่าจ้างตกเป็นของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขางามวงศ์วาน ผู้คัดค้านจึงไม่สามารถจัดส่งเงินตามที่โจทก์เรียกร้องให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ ผู้คัดค้านได้จ่ายเงินล่วงหน้าในการก่อสร้างจำนวน 8,068,605.54 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติตามสัญญาหลังจากดำเนินงานก่อสร้างไปแล้ว 4 งวดงาน โดยคำนวณจากเงินค่าจ้างงวดงานตั้งแต่งวดที่ 5 เป็นต้นไปและจำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินค่าจ้างตามสัญญาไปก่อนแล้ว จำเลยที่ 1 จึงเป็นลูกหนี้ของผู้คัดค้าน มิใช่เจ้าหนี้ที่มีสิทธิรับเงินจากผู้คัดค้าน แต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาว่าจ้างให้แก่ผู้คัดค้านด้วยการหักเงินค่าจ้างล่วงหน้าดังกล่าวทางบัญชีตามสัญญาและเบิกเงินตามที่ต้องจ่ายจริง ไม่รวมถึงเงินที่ต้องหัก จึงไม่มีตัวเงินที่จำเลยที่ 1 จะได้รับและนำส่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ ทั้งในความเป็นจริงก็ไม่สามารถตั้งฎีกาเบิกเงินตามจำนวนงวดงานและหักเงินที่ได้จ่ายล่วงหน้าออกแล้วนำส่งคืนได้เพราะได้ตั้งฎีกาจ่ายให้เป็นเงินค่าจ้างล่วงหน้าแก่จำเลยที่ 1 ไปแล้ว และในงานงวดต่อ ๆ ไปผู้คัดค้านก็จะจ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 เฉพาะเงินที่คงค้างเท่านั้น ส่วนที่โจทก์อ้างว่าผู้คัดค้านได้รับหนังสือค้ำประกันจากจำเลยที่ 1 กรณีเบิกเงินล่วงหน้าก็เป็นการค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญาและเป็นการแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านจึงไม่มีหนี้ที่ต้องชำระแก่จำเลยที่ 1 ขอให้ยกคำร้อง
เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่ มีหนังสือลงวันที่ 10 กันยายน 2544 ถึงศาลชั้นต้นว่าได้มีหมายเรียกให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมอายัดแล้วไม่มีการจ่ายเงินในอัตราร้อยละ 1 ของเงินที่อายัดจำนวน 928,491.97 บาท และค่าใช้จ่ายคิดเป็นเงินจำนวน 8,988.92 บาท โจทก์ได้รับหมายของเจ้าพนักงานบังคับคดีไว้โดยชอบแล้วปฏิเสธที่จะชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าว จึงขอให้มีคำสั่งปลดเปลื้องความรับผิดของเจ้าพนักงานบังคับคดีในค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 283 วรรคสอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งนัดพร้อมเพื่อสอบถาม ต่อมาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2544 และวันที่ 4 ธันวาคม 2544 เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่มีหนังสือถึงศาลชั้นต้นขอให้นัดพร้อมเพื่อสอบถาม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นัดพร้อมในวันที่ 7 ธันวาคม 2544 ซึ่งเป็นวันนัดไต่สวนคำร้องของโจทก์ โดยต่อมาวันที่ 12 เมษายน 2545 เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่ มีหนังสือขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ชำระเงินค่าธรรมเนียมอายัดแล้วไม่มีการจ่ายเงินพร้อมค่าใช้จ่ายจำนวน 8,988.92 บาท ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์ต้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและมีคำสั่งให้โจทก์นำเงินจำนวนดังกล่าวมาชำระให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่ ภายใน 15 วัน นับแต่วันรับหมาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ ค่าคำร้องให้เป็นพับให้ปลดเปลื้องความรับผิดของเจ้าพนักงานบังคับคดีในค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนค่าธรรมเนียมจำนวน 8,988.92 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความตามคำร้อง คำคัดค้านและทางไต่สวนโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้ง โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยทั้งสี่ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2544 เจ้าพนักงานบังคับคดีสำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่ มีหนังสือถึงผู้คัดค้านตามเอกสารหมาย ร.1 ขออายัดเงินค่าจ้างรับเหมาก่อสร้างที่ผู้คัดค้านจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารเรียนและปฏิบัติการคณะเทคนิคการแพทย์ ตามสัญญาจ้างฉบับลงวันที่ 4 มิถุนายน 2542 เอกสารหมาย ร.3 โดยแจ้งอายัดเงินที่จำเลยที่ 1 จะได้รับจากผู้คัดค้านจำนวน 928,491.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้นจำนวน 707,103.75 บาท นับแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2544 จนถึงวันส่งเงินอายัดพร้อมค่าธรรมเนียมร้อยละ 3.5 ของเงินจำนวนดังกล่าว และเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2544 ผู้คัดค้านมีหนังสือเอกสารหมาย ร.2 แจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า ผู้คัดค้านกับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างเอกสารหมาย ร.3 กันจริง แต่ไม่สามารถส่งเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้โอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างตามสัญญาให้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขางามวงศ์วาน โดยทั้งสองฝ่ายได้มีหนังสือบอกกล่าวการโอนให้ผู้คัดค้านทราบแล้ว ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเอกสารหมาย ร.4 ต่อมาวันที่ 10 กันยายน 2544 โจทก์ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขออายัดเงินค่าจ้างล่วงหน้าที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับในงวดงานที่ 15 และ 16 ก่อนที่จะจ่ายให้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขางามวงศ์วาน เป็นเงินจำนวน 928,491.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นจำนวน 707,103.75 บาท นับแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2544 จนถึงวันส่งเงินอายัดพร้อมค่าธรรมเนียมร้อยละ 3.5 ของเงินจำนวนดังกล่าว แล้วเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือถึงผู้คัดค้านตามเอกสารหมาย ร.5 ในวันเดียวกับที่โจทก์ยื่นคำร้อง และต่อมาวันที่ 22 กันยายน 2544 ผู้คัดค้านมีหนังสือเอกสารหมาย ร.6 แจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าไม่สามารถดำเนินการได้ภายในระยะเวลา 7 วัน ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดได้ เนื่องจากผู้คัดค้านมีหน่วยงานหลายหน่วยงานที่ปฏิบัติงานในเรื่องดังกล่าว ทำให้เกิดความล่าช้าในการตรวจสอบ จึงขอเวลาตรวจสอบ หลังจากนั้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2544 เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือเอกสารหมาย ร.7 เตือนให้ผู้คัดค้านส่งเงินค่าจ้างล่วงหน้าที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับในงวดที่ 15 และ 16 มิฉะนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีจะดำเนินการขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีแก่ผู้คัดค้านเสมือนหนึ่งว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 312 ต่อมาวันที่ 19 ตุลาคม 2544 ผู้คัดค้านมีหนังสือเอกสารหมาย ร.8 แจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า ตามสัญญาจ้างผู้คัดค้านจะต้องจ่ายเงินล่วงหน้าในการก่อสร้างจำนวน 8,068,605.54 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติตามสัญญาหลังจากดำเนินงานก่อสร้างไปแล้ว 4 งวดงานและเงินจำนวนดังกล่าวผู้คัดค้านจะหักกลบลบหนี้จากเงินค่าจ้างงวดงานตั้งแต่งวดที่ 5 เป็นต้นไป โดยผู้คัดค้านได้หักเงินค่าจ้างล่วงหน้าดังกล่าวทางบัญชีโดยตั้งฎีกาเบิกเงินตามที่ต้องจ่ายจริง ไม่รวมถึงเงินที่ต้องหัก จึงไม่มีตัวเงิน ทั้งในความเป็นจริงผู้คัดค้านก็ไม่สามารถตั้งฎีกาเบิกเงินตามจำนวนงวดงานและหักเงินที่ได้จ่ายล่วงหน้าออกแล้วนำส่งคืนได้เพราะได้ตั้งฎีกาจ่ายให้เป็นเงินค่าจ้างล่วงหน้าแล้ว จึงไม่มีเงินของจำเลยที่ 1 ที่หักไว้ ผู้คัดค้านไม่สามารถจัดส่งเงินให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ รายละเอียดในการเบิกจ่ายปรากฏตามบันทึกเอกสารหมาย ร.9 หลังจากนั้นในวันที่ 30 ตุลาคม 2544 โจทก์ได้ยื่นคำขออายัดเงินชดเชยค่างานก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้หรือค่าเค ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งอายัดไปยังผู้คัดค้านในวันเดียวกันโดยขอให้ส่งเงินภายใน 7 วัน นับแต่วันรับหนังสือ ต่อมาวันที่ 7 พฤศจิกายน 2544 ผู้คัดค้านมีหนังสือเอกสารหมาย ร.12 แจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า ผู้คัดค้านได้รับหนังสือแจ้งอายัดเงินค่าเคเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2544 ภายหลังจากที่ได้จ่ายเช็คเงินค่าเคให้แก่จำเลยที่ 1 ไปแล้วเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2544 ผู้คัดค้านจึงไม่สามารถส่งเงินให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ สำหรับเงินค่าจ้างล่วงหน้าที่ผู้คัดค้านจ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีซึ่งให้การสนับสนุนแก่ผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยให้เบิกเงินค่าจ้างล่วงหน้าได้ร้อยละ 15 ของเงินค่าจ้างทั้งหมดที่ยังไม่ได้จ่ายตามสัญญา สัญญาจ้างเอกสารหมาย ร.3 แบ่งเป็น 17 งวดงาน ก่อนเริ่มทำงานจำเลยที่ 1 ขอเบิกเงินล่วงหน้าแต่คณะกรรมการของผู้คัดค้านไม่ยินยอม คณะกรรมการจะจ่ายให้เมื่อทำงานไปแล้ว 4 งวดงาน หลังจากจำเลยที่ 1 ทำงานไปแล้ว 4 งวดงาน จึงขอเบิกเงินค่าจ้างล่วงหน้าในงวดที่ 5 ถึงงวดที่ 17 ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินค่าจ้างที่เหลือ คณะกรรมการพิจารณาจ่ายให้ตามขอ แต่จำเลยที่ 1 ต้องนำหลักประกันมาวางไว้แก่ผู้คัดค้าน หลังจากทำงานแต่ละงวดเสร็จ จำเลยที่ 1 จึงขอเบิกเงินค่าจ้างส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 85 ของงานแต่ละงวด และเมื่อดำเนินการแต่ละงวดเสร็จแล้วผู้คัดค้านจึงจะคืนหลักประกันแต่ละงวดให้แก่จำเลยที่ 1 ส่วนเงินค่าเคเป็นเงินเพิ่มค่างานก่อสร้างที่ค่าวัสดุก่อสร้างแพงขึ้น ค่าเงินตราเพิ่มขึ้นหรือลดลง การพิจารณาเป็นไปตามแต่ละงวดงาน การเบิกจ่ายกระทำโดยจำเลยที่ 1 ยื่นคำขอมายังผู้คัดค้าน จากนั้นผู้คัดค้านจะนำมาคำนวณตามสูตรที่มีอยู่แล้วจึงเสนอให้สำนักงบประมาณพิจารณาอนุมัติ
พิเคราะห์แล้ว คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีแก่ผู้คัดค้านในส่วนเงินค่าจ้างล่วงหน้าและเงินค่าเคเสมือนเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ สำหรับเงินค่าจ้างล่วงหน้านั้น ข้อเท็จจริงฟังยุติไปแล้วว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าจ้างล่วงหน้าไปจากผู้คัดค้านแล้วจำนวน 8,068,605.54 บาท ซึ่งเป็นร้อยละ 15 ของค่าจ้างจำนวน 70,777,241.60 บาท ตามสัญญาโดยรับไปก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะแจ้งการอายัดไปยังผู้คัดค้านในวันที่ 3 กรกฎาคม 2544 เงินจำนวน 8,068,605.54 บาท จึงตกเป็นของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิจะนำไปใช้ในการก่อสร้างตามสัญญา จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องคืนให้แก่ผู้คัดค้านเฉพาะกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญาเท่านั้น จำเลยที่ 1 จึงมีสถานะเป็นลูกหนี้ของผู้คัดค้านและไม่มีสิทธิเรียกร้องใด ๆ แก่ผู้คัดค้าน เงินค่าจ้างล่วงหน้าที่จำเลยที่ 1 รับไปจึงไม่อยู่ที่ผู้คัดค้านอันอยู่ในวิสัยที่ผู้คัดค้านจะส่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่โจทก์ขออายัดได้โจทก์ไม่มีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีแก่ผู้คัดค้านในส่วนเงินค่าจ้างล่วงหน้าเสมือนเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 312 วรรคสอง ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนเงินค่าเคหรือเงินชดเชยค่างานก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้นั้น ข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 โดยโจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งว่า เงินค่าเคเป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย ร.3 ข้อ 24 ที่โจทก์อ้างในฎีกาสรุปทำนองว่า การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขางามวงศ์วาน ในทางปฏิบัติคู่สัญญาไม่ประสงค์จะให้รวมถึงเงินค่าเคด้วย เนื่องจากผู้คัดค้านได้จ่ายเงินค่าเคให้แก่จำเลยที่ 1 ตลอดมานั้น เห็นว่า สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเอกสารหมาย ร.4 ข้อ 4 ระบุได้ว่า “เป็นที่เข้าใจกันดีระหว่างคู่สัญญาว่าสิทธิเรียกร้องที่โอนให้แก่กันตามสัญญานี้เป็นสิทธิเรียกร้องที่ยังไม่แน่นอนว่าจะสามารถเรียกร้องเอาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เป็นจำนวนเงินเท่าใด เนื่องจากขึ้นอยู่กับเงื่อนไข และ/หรือการปฏิบัติที่ได้กำหนดไว้ในสัญญา/ข้อตกลง สัญญาว่าจ้างก่อสร้างอาคารเรียนและปฏิบัติการคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คู่สัญญาจึงไม่ถือว่าการโอนสิทธิเรียกร้องนี้เป็นการชำระหนี้ด้วยอย่างอื่นอันจะทำให้หนี้ที่ผู้โอนมีอยู่กับผู้รับโอนระงับลงบางส่วนหรือทั้งหมดแต่อย่างใด และในกรณีที่ผู้รับโอนไม่ได้รับเงินจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่ว่าด้วยเหตุใดหรือได้รับไม่พอชำระหนี้ที่มีอยู่ทั้งหมด ผู้โอนยังคงผูกพันที่จะชำระหนี้ให้แก่ผู้รับโอนจนครบถ้วนเต็มจำนวนทุกประการ” ข้อความในสัญญาดังกล่าวจึงสนับสนุนให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาว่าสิทธิเรียกร้องที่โอนให้แก่กันนั้นรวมถึงเงินค่าเคด้วย ดังจะเห็นได้จากข้อความตอนท้ายของสัญญาข้อดังกล่าวที่ระบุยืนยันถึงสิทธิของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขางามวงศ์วาน ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องว่า ในกรณีที่ธนาคารไม่ได้รับเงินจากผู้คัดค้านไม่ว่าด้วยเหตุใดหรือได้รับไม่พอชำระหนี้ที่มีอยู่ทั้งหมด จำเลยที่ 1 ยังคงผูกพันที่จะชำระหนี้ให้แก่ธนาคารจนครบถ้วนอันเป็นการแสดงให้เห็นว่า แม้ผู้คัดค้านจะจ่ายเงินค่าเคให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญาไปธนาคารก็ยังเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 ได้ ทางปฏิบัติที่ผู้คัดค้านจ่ายเงินค่าเคให้แก่จำเลยที่ 1 จึงมีผลเป็นเพียงการสละสิทธิเรียกร้องของธนาคารที่มีต่อจำเลยที่ 1 และผู้คัดค้านเท่านั้น หาทำให้โจทก์มีสิทธิจะอายัดเงินค่าเคที่จำเลยที่ 1 โอนให้แก่ธนาคารไปแล้วไม่ โจทก์ไม่มีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีแก่ผู้คัดค้านสำหรับเงินค่าเคเสมือนเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 312 วรรคสอง ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share