คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4935/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยากัน จำเลยโอนขายส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 5519 ให้โจทก์ทั้งสองที่ดินที่จำเลยขายให้โจทก์ทั้งสองอยู่ด้านในที่ดินของป. มารดาโจทก์ที่ 1 โดย ป. ยอมให้โจทก์ทั้งสองเดินผ่านออกสู่ทางสาธารณะได้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองจึงมีทางออกไปสู่ทางสาธารณะได้ ทางพิพาท ที่อยู่ในที่ดินของจำเลยจึงมิใช่ทางจำเป็นตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจฟ้องขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็น ตามฟ้องได้ โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยเปิดทางพิพาทโดยอ้างว่าเป็นทางจำเป็น ซึ่งโจทก์ทั้งสองมีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350ประเด็นข้อพิพาทคงมีเพียงว่า ทางพิพาทเป็น ทางจำเป็นตามบทกฎหมายดังกล่าวหรือไม่เท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองมีทางเดินอื่น เข้าออกสู่ทางสาธารณะได้แล้ว ทางพิพาทจึงไม่ใช่ ทางจำเป็น ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง แม้จำเลยยินยอม ให้โจทก์ทั้งสองหรือบุคคลอื่นใช้ทางพิพาทเข้าออก สู่ทางสาธารณะได้ก็ตาม เพราะข้อเท็จจริงดังกล่าวมิใช่ข้ออ้างที่โจทก์ทั้งสองอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเพื่อขอให้บังคับจำเลยเปิดทางพิพาท ดังนี้ การที่ ศาลชั้นต้นหยิบยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย และพิพากษาคดีจึงเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริง นอกฟ้องนอกประเด็น และเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 แม้จำเลยมิได้ฎีกาแต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมาย อันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)ประกอบ มาตรา 246 และมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 5519 ตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2527 จำเลยได้ไปแบ่งแยกที่ดินจดทะเบียนโอนขายให้โจทก์ทั้งสองบางส่วน เนื้อที่ 1 งาน 21 3/10 ตารางวาโดยมีข้อตกลงด้วยวาจาว่ายอมให้โจทก์ทั้งสองและบริวารผ่านที่ดินของจำเลย กว้าง 3 เมตร ยาว 38 เมตร ตลอดแนวด้านทิศใต้ของที่ดินจำเลยออกสู่ถนนเกตุแก้วซึ่งเป็นทางสาธารณะต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2536 จำเลยห้ามโจทก์ทั้งสองและบริวารไม่ให้ใช้เส้นทางดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยเปิดเส้นทางจำเป็นจากที่ดินของโจทก์ผ่านที่ดินของจำเลย กว้าง 3 เมตร ตลอดแนวความยาวที่ดินของจำเลยทางด้านทิศใต้ซึ่งยาวประมาณ 38 เมตรเพื่อให้ที่ดินของโจทก์มีทางออกสู่ถนนเกตุแก้วซึ่งเป็นทางสาธารณะให้จำเลยยอมให้โจทก์สร้างหรือปรับปรุงเส้นทางให้ดีเมื่อมีความจำเป็น ให้จำเลยไปจดทะเบียนทางจำเป็น หากจำเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสองมีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นแต่จำเลยรับว่าได้ยอมให้โจทก์ทั้งสองใช้ทางเดินพิพาทตลอดมาโดยไม่เคยห้ามการที่จำเลยทำรั้วสังกะสีปิดกั้นทำให้โจทก์ทั้งสองเดินผ่านทางเดินพิพาทไม่ได้ จึงเป็นการไม่ชอบพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนรั้วสังกะสีออกไป และให้จำเลยยอมให้โจทก์ทั้งสองใช้ทางพิพาทเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้ คำขออื่นให้ยก
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ขอให้เปิดทางพิพาทตามฟ้องเป็นทางจำเป็นและให้จำเลยไปจดทะเบียนทางจำเป็นแก่โจทก์ด้วย
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยากัน จำเลยโอนขายส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 5519 ตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่นเนื้อที่ 1 งาน 21 3/10 ตารางวา ให้โจทก์ทั้งสอง ซึ่งต่อมาได้แยกออกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 42831 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการแรกว่า โจทก์ทั้งสองจะขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็นตามฟ้องได้หรือไม่ คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องและนำสืบว่าที่ดินที่โจทก์ทั้งสองซื้อมาจากจำเลยไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะจึงขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็นให้โจทก์ทั้งสอง ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 บัญญัติว่า “ถ้าที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตราก่อนได้เฉพาะบนที่ดินที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันและไม่ต้องเสียค่าทดแทน” ในข้อนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองมีทางออกไปสู่ทางสาธารณะได้ทางพิพาทจึงมิใช่ทางจำเป็นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจฟ้องขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็นตามฟ้องได้
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยยอมให้โจทก์ทั้งสองใช้ทางเดินพิพาทตลอดมาโดยไม่เคยห้าม การที่จำเลยทำรั้วสังกะสีปิดกั้นทำให้โจทก์ทั้งสองเดินผ่านทางพิพาทไม่ได้เป็นการไม่ชอบและพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนรั้วสังกะสี กับให้จำเลยยอมให้โจทก์ทั้งสองใช้ทางพิพาทเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้ และศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษายืนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยเปิดทางพิพาทโดยอ้างว่า เป็นทางจำเป็น ซึ่งโจทก์ทั้งสองมีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 ประเด็นข้อพิพาทคงมีเพียงว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นตามบทกฎหมายดังกล่าวหรือไม่เท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองมีทางเดินอื่นเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้แล้ว ทางพิพาทจึงไม่ใช่ทางจำเป็นซึ่งศาลต้องพิพากษายกฟ้อง แม้จะได้ความตามที่โจทก์ทั้งสองนำสืบว่าจำเลยยินยอมให้โจทก์ทั้งสองหรือบุคคลอื่นใช้ทางพิพาทเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้ แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็มิใช่ข้ออ้างที่โจทก์ทั้งสองอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเพื่อขอให้บังคับจำเลยเปิดทางพิพาทการที่ศาลชั้นต้นหยิบยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาคดีมานั้น จึงเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกฟ้องนอกประเด็นและเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองในส่วนนี้จึงไม่ชอบ แม้จำเลยมิได้ฎีกา แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกามีอำนาจและเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)ประกอบ มาตรา 246 และมาตรา 247
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งหมด

Share