คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7638/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) บัญญัติว่า คำฟ้องจะต้องอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องมาแจ้งชัดว่าจำเลยขับรถจักรยานยนต์โดยประมาทเฉี่ยวชนรถยนต์กระบะของ อ. ที่ ค. เป็นผู้ขับได้รับความเสียหาย และอ้างบทห้ามการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 มาด้วย ซึ่งเท่ากับโจทก์อ้างบทห้ามการกระทำความผิดตามมาตรา 43 (4) อยู่ในตัวแล้ว โจทก์หาจำต้องระบุอนุมาตรา (4) ของมาตรา 43 มาในคำขอท้ายฟ้องด้วยไม่ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลที่จะต้องพิพากษาปรับบทความผิดในมาตรานั้นๆ ให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริรงที่รับฟังได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 (4) จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

ย่อยาว

คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2617/2545 แต่คดีดังกล่าวยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นคงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 ปรับ 1,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่าอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุบิดเบือนข้อเท็จจริง และจำเลยไม่ได้ขับรถจักรยานยนต์โดยประมาทนั้น เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนกระทำการสอบสวนบิดเบือนข้อเท็จจริงแต่อย่างใด และจำเลยเป็นฝ่ายขับรถจักรยานยนต์เข้าไปชนรถยนต์กระบะที่นายคำมูล แก้วใจงาม ขับมา เหตุเกิดจากจำเลยไม่ได้ใช้ความระมัดระวังดูรถที่แล่นอยู่ทางด้านขวาของตน เพราะสำคัญผิดว่าถนนพระยาสัจจาเปิดให้เดินรถทางเดียว ซึ่งโดยวิสัยของผู้ขับรถโดยทั่วไปควรจะดูทั้งทางด้านซ้ายและด้านขวาก่อน เมื่อเห็นปลอดภัยแล้วจึงขับรถออกไปได้ และจำเลยมีหน้าที่ต้องหยุดรถเพื่อให้รถยนต์กระบะที่นายคำมูลขับแล่นผ่านไปก่อนแต่มิได้หยุดรถ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักรับฟังลงโทษจำเลยได้ตามฟ้อง ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า แผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุบิดเบือนข้อเท็จจริงและจำเลยไม่ได้ขับรถจักรยานยนต์โดยประมาทนั้น จึงเป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น อันเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงมิใช่เป็นอุทธรณ์ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่าอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4) เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 อนุมาตรา (1) ถึง (8) แต่ละอนุมาตรามีลักษณะความผิดต่างกัน โจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 โดยไม่ได้ระบุอนุมาตรา (4) จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตามอนุมาตรา (4) เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4) จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) บัญญัติว่า คำฟ้องจะต้องอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องมาแจ้งชัดว่าจำเลยขับรถจักรยานยนต์โดยประมาทเฉี่ยวชนรถยนต์กระบะของนายเอกรัตน์ที่นายคำมูลเป็นผู้ขับได้รับความเสียหาย และอ้างบทห้ามการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 มาด้วย ซึ่งเท่ากับโจทก์อ้างบทห้ามการกระทำความผิดตามมาตรา 43 (4) อยู่ในตัวแล้ว โจทก์หาจำต้องระบุอนุมาตรา (4) ของมาตรา 43 มาในคำขอท้ายฟ้องด้วยไม่ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลที่จะต้องพิพากษาปรับบทความผิดในมาตรานั้นๆ ให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ ไม่ได้เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4) จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share