คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4511/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีแดงที่ 4511-4512/2541
อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ว่า ตามคำร้องของผู้ร้องอ้างเหตุภาวะเศรษฐกิจถดถอย เป็นเหตุให้ผู้ร้องตกอยู่ในภาวะคับขันจำเป็นต้องกำหนดมาตรการลดค่าใช้จ่ายโดยลดอัตรากำลังคน เป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย ไม่ระบุว่าเศรษฐกิจปัจจุบันถดถอยในลักษณะอย่างไร มีผลกระทบต่อผู้ร้องอย่างไร ผู้ร้องมีกำไรหรือขาดทุนซึ่งมีความจำเป็นต้องลดอัตรากำลังคน คำร้องของผู้ร้องจึงเคลือบคลุมนั้น แม้ปัญหานี้ผู้คัดค้านจะต่อสู้ไว้ในคำคัดค้าน แต่ศาลแรงงานมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงาน ต้องห้ามตามป.วิ.พ.มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองกรรมการลูกจ้างมิให้ถูกนายจ้างกลั่นแกล้งอันเป็นเหตุให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการลูกจ้าง โดยให้อำนาจศาลแรงงานพิจารณากลั่นกรองอีกชั้นหนึ่งว่ามีเหตุผลสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างหรือไม่
เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างได้กระทำผิดใด ๆ ถึงขั้นเลิกจ้าง คงมีเหตุแต่เพียงว่าสภาพการผลิตสินค้าของผู้ร้องลดลงเพราะเศรษฐกิจถดถอย ผู้ร้องต้องลดอัตรากำลังลูกจ้างเพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยไม่ปรากฏว่ากิจการของผู้ร้องขาดทุนหรือต้องยุบหน่วยงาน การที่ผู้ร้องแก้ไขปัญหาด้วยการเลิกจ้างผู้คัดค้านซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้าง เพราะเหตุที่วันลาย้อนหลังไปในปี 2538 ถึง 2540รวมกันเกิน 45 วัน โดยไม่ปรากฏว่าการลาในรอบปีดังกล่าวของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 3 ไม่ชอบต่อระเบียบข้อบังคับ เช่นนี้ถือได้ว่าผู้ร้องยังไม่มีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างผู้คัดค้านซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518มาตรา 52 ได้

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษากับสำนวนคดีหมายเลขดำที่ ๘๕๓๒/๒๕๔๐ ของศาลแรงงานกลางโดยเรียกผู้คัดค้านตามลำดับสำนวนว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ ผู้คัดค้านที่ ๒ และผู้คัดค้านที่ ๓ แต่สำนวนคดีดังกล่าวซึ่งเป็นคดีระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ ๒ ผู้ร้องขอถอนคำร้องแล้วคงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีสองสำนวนนี้
ผู้ร้องทั้งสองสำนวนยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นลูกจ้างของผู้ร้องและเป็นกรรมการลูกจ้าง ต่อมาผู้ร้องต้องการลดค่าใช้จ่าย จึงได้ตั้งคณะกรรมการคัดเลือกลูกจ้างที่มีสถิติการลาสูงเพื่อลดอัตรากำลังโดยเลิกจ้าง ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้มีสถิติการลาสูง ผู้ร้องมีความประสงค์จะเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสอง จึงขออนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งสอง
ผู้คัดค้านทั้งสองสำนวนยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องกล่าวอ้างถึงเหตุภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันถดถอย ผู้ร้องตกอยู่ในภาวะคับขัน จำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายและลดอัตรากำลังคนอันเป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย เพราะไม่ระบุว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างไร กระทบต่อผู้ร้องลักษณะใด มีกำไรหรือขาดทุน เป็นคำร้องที่เคลือบคลุมขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบอุตสาหกรรมผลิตเครื่องปรับอากาศและอะไหล่รถยนต์ ผู้คัดค้านที่ ๑และที่ ๓ เป็นลูกจ้างของผู้ร้องและเป็นกรรมการลูกจ้างในสถานประกอบการของผู้ร้อง ผู้ร้องได้ออกประกาศเลขที่ สนง. ๐๑๘/๒๕๔๐ ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๐ชี้แจงภาวะเศรษฐกิจถดถอยและสถานะของผู้ร้อง ต่อมาได้ออกประกาศเลขที่สนง.๐๑๙/๒๕๔๐ ลงวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ประกาศลดอัตรากำลัง และได้ตั้งคณะกรรมการคัดเลือกลูกจ้างที่มีสถิติการลาหยุดงานสูงเกิน ๔๕ วันโดยดูย้อนหลังนับตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ ถึงปี ๒๕๔๐ และผู้ร้องได้คัดเลือกผู้คัดค้านที่ ๑ และที่ ๓ ให้ออกตามหนังสือฉบับเลขที่ สนง. ๐๕๒/๒๕๔๐ ลงวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ตามประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวผู้ร้องได้กำหนดวิธีการคัดเลือกพนักงานเพื่อเลิกจ้างโดยแน่ชัดและเปิดเผยแก่พนักงานทุกคนซึ่งเป็นวิธีการบริหารงานเพื่อให้ผู้ร้องสามารถประกอบกิจการต่อไปได้โดยไม่ขัดต่อสภาพการจ้าง เนื่องจากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างข้อ ๙ ให้สิทธิผู้ร้องถอดถอนพนักงานได้ ทั้งไม่ขัดกับข้อเรียกร้องที่ ๑๒ ตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างผู้ร้องได้คัดเลือกพนักงานเพิ่มอีก ๒๔ คน จากจำนวนพนักงานที่ลาออก ๘ คน รวมเป็น ๓๒ คน ทั้งนี้โดยผู้คัดค้านที่ ๑ และที่ ๓ มิได้คัดค้านว่า ตนมีวันลาหยุดไม่เกิน ๔๕ วัน คงอ้างแต่เพียงว่าถูกต้องตามระเบียบแล้วแม้การคัดเลือกดังกล่าวผู้ร้องมิได้กำหนดเงื่อนไขยกเว้นให้แก่ผู้ที่ลาหยุดอย่างถูกต้องแต่ก็เป็นการคัดเลือกบุคคลที่พร้อมสำหรับการปฏิบัติงานมากที่สุดไว้เป็นกำลังแก่ผู้ร้องซึ่งผู้ร้องสามารถกระทำได้เพื่อให้ผู้ร้องดำเนินกิจการต่อไปได้ ทั้งสภาพการผลิตของผู้ร้องลดลงเพราะเศรษฐกิจตกต่ำ และผู้ร้องได้เลิกจ้างพนักงานซึ่งรับช่วงงานไปแล้วประมาณ ๘๐ คน กับพนักงานประจำอีกประมาณ ๕๐ คน แสดงให้เห็นถึงสภาพการณ์ของผู้ร้องที่จำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายบางส่วนอันเป็นผลมาจากยอดขายและผลผลิตลดลง กรณีจึงมีเหตุเลิกจ้างผู้คัดค้านที่ ๑ และที่ ๓ ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างตามมาตรา ๕๒ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านที่ ๑ และที่ ๓ ได้
ผู้คัดค้านที่ ๑ และผู้คัดค้านที่ ๓ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ และที่ ๓อุทธรณ์ข้อแรกว่า ตามคำร้องของผู้ร้องอ้างเหตุภาวะเศรษฐกิจถดถอย เป็นเหตุให้ผู้ร้องตกอยู่ในภาวะคับขันจำเป็นต้องกำหนดมาตรการลดค่าใช้จ่ายโดยลดอัตรากำลังคน เป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย เพราะไม่ระบุว่าเศรษฐกิจปัจจุบันถดถอยในลักษณะอย่างไร มีผลกระทบต่อผู้ร้องอย่างไร ผู้ร้องมีกำไรหรือขาดทุนซึ่งมีความจำเป็นต้องลดอัตรากำลังคน คำร้องจึงเคลือบคลุม เห็นว่า ปัญหานี้แม้ผู้คัดค้านที่ ๑และที่ ๓ จะต่อสู้ไว้ในคำคัดค้าน แต่ศาลแรงงานกลางมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ อุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ผู้คัดค้านที่ ๑ และที่ ๓ อุทธรณ์ต่อมาว่า ผู้ร้องไม่มีเหตุเลิกจ้างผู้คัดค้านที่ ๑ และที่ ๓ เพราะผู้คัดค้านที่ ๑ และที่ ๓ เป็นกรรมการลูกจ้าง ไม่ได้กระทำผิดทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย และไม่ได้ฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้อง ทั้งไม่ได้ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวัน นอกจากนี้คำร้องของผู้ร้องที่อ้างเหตุภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันถดถอยเป็นเหตุให้ผู้ร้องตกอยู่ในภาวะคับขันก็เป็นการกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอย เนื่องจากไม่ระบุว่าเศรษฐกิจถดถอยอย่างไร ผู้ร้องมีกำไรหรือขาดทุนที่จำเป็นต้องลดอัตรากำลังคน แต่กลับปรากฏว่า ผู้ร้องยังดำเนินกิจการต่อไปได้ตามปกติ ไม่ขาดทุนหรือยุบหน่วยงานหรือปิดกิจการ และเลิกจ้างลูกจ้างทั้งหมด ซึ่งจะมีเหตุเลิกจ้างลูกจ้างที่เป็นกรรมการลูกจ้าง การแก้ปัญหาโดยขอเลิกจ้างผู้คัดค้านที่ ๑ และที่ ๓ ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้าง โดยอ้างเอาวันลาย้อนหลังไปอันเป็นโทษแก่ผู้คัดค้านทั้งสอง ย่อมไม่มีเหตุผลเพียงพอและสมควรตามมาตรา ๕๒ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ที่ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้เลิกจ้างผู้คัดค้านที่ ๑ และที่ ๓ จึงมิชอบ เห็นว่าข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ และที่ ๓ เป็นลูกจ้างของผู้ร้องและเป็นกรรมการลูกจ้างด้วย ผู้ร้องขออนุญาตเลิกจ้างผู้คัดค้านที่ ๑และที่ ๓ โดยไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านทั้งสองกระทำผิดใด ๆ คำร้องของผู้ร้องอ้างเหตุขออนุญาตเลิกจ้างแต่เพียงว่าสภาพการผลิตของผู้ร้องลดลงเพราะเศรษฐกิจปัจจุบันถดถอย ผู้ร้องต้องลดอัตรากำลังลูกจ้างลงเพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยไม่ปรากฏว่าผู้ร้องประสบภาวะขาดทุนหรือยุบหน่วยงาน และผู้ร้องได้คัดเลือกผู้คัดค้านที่ ๑ และที่ ๓เพื่อเลิกจ้างเพราะผู้คัดค้านที่ ๑ และที่ ๓ มีวันลาย้อนหลังไปในปี ๒๕๓๘ ถึง ๒๕๔๐รวมกันเกิน ๔๕ วัน โดยไม่ปรากฏว่าในการลาในจำนวนวันดังกล่าวไม่ชอบด้วยระเบียบข้อบังคับอย่างไร เมื่อพิเคราะห์ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘มาตรา ๕๒ ซึ่งบัญญัติว่า “ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง ลดค่าจ้าง ลงโทษ ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการลูกจ้าง หรือกระทำการใด ๆ อันอาจเป็นผลให้กรรมการลูกจ้างไม่สามารถทำงานอยู่ต่อไปได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน” เห็นได้ชัดว่า บทบัญญัตินี้บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองกรรมการลูกจ้างมิให้ถูกนายจ้างกลั่นแกล้งอันเป็นเหตุให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการลูกจ้าง โดยให้อำนาจศาลแรงงานพิจารณากลั่นกรองอีกชั้นหนึ่งว่ามีเหตุผลสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างหรือไม่ กรณีของผู้คัดค้านที่ ๑ และที่ ๓ เมื่อไม่ปรากฏว่ากระทำผิดใด ๆ ถึงขั้นเลิกจ้าง คงมีเหตุแต่เพียงว่าสภาพการผลิตสินค้าของผู้ร้องลดลงเพราะเศรษฐกิจถดถอย ผู้ร้องต้องลดอัตรากำลังลูกจ้างเพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยไม่ปรากฏว่ากิจการของผู้ร้องขาดทุนหรือต้องยุบหน่วยงาน การที่ผู้ร้องแก้ไขปัญหาด้วยการเลิกจ้างผู้คัดค้านที่ ๑ และที่ ๓ ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้าง เพราะเหตุที่วันลาย้อนหลังไปในปี๒๕๓๘ ถึง ๒๕๔๐ รวมกันเกิน ๔๕ วัน โดยไม่ปรากฏว่าการลาในรอบปีดังกล่าวของผู้คัดค้านที่ ๑ และที่ ๓ ไม่ชอบต่อระเบียบข้อบังคับ เช่นนี้ถือได้ว่าผู้ร้องยังไม่มีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างผู้คัดค้านที่ ๑ และที่ ๓ ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๕๒ ได้
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสองสำนวน.

Share