แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ ตามสัญญาเช่าซื้อกำหนดเวลาให้ชำระค่าเช่าซื้อทุกวันที่ 13 ของเดือน หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดแม้เพียงงวดหนึ่งงวดใดถือเป็นการผิดสัญญาและยอมให้สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันทันทีแต่จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินค่าเช่าซื้อเกินกำหนดเวลาตลอดมาทุกงวดตั้งแต่งวดแรกเป็นต้นไปซึ่งฝ่ายโจทก์ยินยอมรับไว้โดยมิได้ทักท้วง ตามพฤติการณ์แสดงว่าในทางปฏิบัติคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสำคัญ จะถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดผิดสัญญาและสัญญาเช่าซื้อเลิกกันไม่ได้ กรณีนี้หากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาก็จะต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 ก่อน แต่ไม่ปรากฏว่าหลังจากนั้นโจทก์ได้บอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 อย่างไรก็ตามการที่โจทก์ไปยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน เพราะเหตุที่จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อเกินกำหนดเวลา และจำเลยที่ 1 ก็ยินยอมให้ยึดไปโดยไม่ได้โต้แย้ง ก็เป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจที่จะเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยายนับแต่วันที่โจทก์ยึดรถยนต์คืน คู่สัญญาจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดั่งที่เป็นอยู่เดิม จำเลยที่ 1 จึงต้องชดใช้ค่าใช้ทรัพย์ดังกล่าวให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม และเมื่อสัญญาเลิกกันโดยจำเลยที่ 1 มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ก็ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายใด ๆ รวมทั้งค่าติดตามรถยนต์ให้โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกัน ซึ่งยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่1 ในการปฏิบัติตามสัญญา ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในการชดใช้ค่าใช้ทรัพย์ให้โจทก์ด้วย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๒๔ จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ ราคา ๑๐๒,๖๕๐ บาท ชำระเงินในวันทำสัญญา ๒๐,๐๐๐ บาท ที่เหลือตกลงชำระมีกำหนดเวลา ๓๐ งวด งวดละเดือน เดือนละ ๒,๗๕๕ บาท ทุกวันที่ ๑๓ ของเดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๒๔ เป็นต้นไป หากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดยอมให้ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นอันสิ้นสุดโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และบรรดาค่าเช่าซื้อให้ตกเป็นของโจทก์รวมทั้งส่งมอบรถยนต์ดังกล่าวให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อย จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกัน โดยยอมรับผิดในฐานลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อแล้ว จำเลยที่ ๑ ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ประมาณ ๗ งวด คิดเป็นเงิน ๑๙,๖๖๕ บาท ยังค้างชำระ ๖๒,๙๘๕ บาท แล้วไม่ชำระอีก ต่อมาวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๕ โจทก์ไปยึดรถคืนจากจำเลยที่ ๑ ในการยึดรถคืนโจทก์ต้องเสียค่าพาหนะติดตามเป็นเงิน ๑,๕๐๐ บาท ค่าซ่อมรถ ๕,๐๐๐ บาท และโจทก์ต้องขาดประโยชน์ในการใช้รถอัตราเดือนละ ๒,๗๕๕ บาท ตั้งแต่งวดที่ ๗ จนถึงวันยึดรถคืนเป็นเวลา ๑๔ เดือนเศษ โจทก์ขอคิดเพียง ๓๘,๕๗๐ บาท ดอกเบี้ยจากยอดเงินที่ผิดนัดตั้งแต่วันผิดนัดจนถึงวันยึดรถคืนเป็นเงิน ๕,๗๘๕ บาท รวมเป็นเงิน ๕๐,๘๕๕ บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๕๐,๘๕๕ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยจำนวน ๔,๓๘๐ และดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๕๐,๘๕๕ นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ยังค้างชำระค่าเช่าซื้อเพียง ๕๙,๙๘๕ บาท จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดในค่าเช่าซื้อที่ต้างเพราะโจทก์รับรถยนต์คืนไปแล้วในสภาพเรียบร้อยดี โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่
ค้างชำระ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขาดอายุความ ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายมากกว่าความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ได้ยึดรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนมาจากจำเลยในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๕ ถือได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้วทำให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายกลับคืนสุ่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม เมื่อปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้ใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อตลอดมาตั้งแต่ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อจนกระทั่งถูกยึดรถคืนเป็นระยะเวลา ๑๓ เดิอน ๔ วัน โจทก์จึงเรียกค่าขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์จากจำเลยได้และเห็นสมควรให้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ เป็นเงิน จำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท ค่าติดตามรถยนต์คืนสมควรให้ ๓๐๐ บาท โจทก์ฟ้องเรียกค่าซ่อมรถไม่ได้ เพราะขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๖๓ จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันและรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ ด้วยพิพากษากลับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๒๐,๓๐๐ บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายตั้งแต่วันที่จำเลยที่ ๑ ต้องชำระค่าเช่าซื้องวดที่ ๘ ตั้งแต่วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๒๔ ถึงวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๕ อันเป็นวันที่โจทก์ยึดรถคันพิพาทคืนจากจำเลยที่ ๑ แต่ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวสัญญาเข่าซื้อระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ ยังมีอยู่สัญญาเช่าซื้อยังไม่ระงับไปเพราะเหตุการผิดนักไม่ชำระค่าเช่าซื้อ ทั้งนี้เพราะคู่สัญญาไม่ได้ถือเอาการผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญแห่งสัญญา และโจทก์ได้สละเงื่อนไขไม่ถือว่าการไม่ชำระค่าเช่าซื้อเป็นการผิดนัด เพราะโจทก์ยอมผ่อนเวลาในการชำระค่าเช่าซื้อให้จำเลยตลอดมา โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อยังมิได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญากับจำเลยจำเลยยังไม่มีหน้าที่ที่จะต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ที่ให้เช่าซื้อนั้น เห็นว่า แม้สัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.๓ ข้อ ๑๐ ระบุว่า ” ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระเงินแม้เพียงงวดหนึ่งงวดใมดหรือผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด……..ฯลฯ ให้ถือว่าเป็นการผิดนัดผิดสัญญาและยอมให้สัญญาเช่าซื้อนี้เป็นอันเลิกกันทันที โดยมิต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้าแต่อย่างใด …………ฯลฯ” ก็ตาม แต่จำเลยที่ ๑ ได้ชำระเงินค่าเข่าซื้อเกินกำหนดเวลาที่ระบุในสัญญาตลอดมาทุกงวดตั้งแต่งวดแรกเป็นต้นไปซึ่งฝ่ายโจทก์ยินยอมรับไว้โดยมิได้ทักท้วงตามพฤติการณ์แสดงว่าในทางปฏิบัติคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสำคัญ
ดังนี้เมื่อจำเลยที่ ๑ มิได้ชำระค่าเช่าซื้อตามกำหนดเวลาในสัญญา จะถือว่าจำเลยที่ ๑ ผิดนัดผิดสัญญาและสัญญาเช่าซื้อเลิกกันไม่ได้ ในกรณีนี้หากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาโจทก์จะต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ ๑ ชำระค่าเช่าซื้อภายในกำหนดเวลาที่สมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๘๗ เสียก่อน เมื่อจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระจึงจะบอกเลิกสัญญาได้ แต่คดีนี้ไม่ปรากฏว่าหลังจากนั้นโจทก์ได้บอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ ๑ เลย อย่างไรก็ตาม การที่โจทก์ไปยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อ คืนเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๕ เพราะเหตุที่จำเลยที่ ๑ ชำระค่าเช่าซื้อเกินกำหนดเวลาและจำเลยที่ ๑ ก็ยินยอมให้ยึดไปโดยไม่ได้โต้แย้ง เป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ต่างสมัครใจที่จะเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยายนับแต่วันที่โจทก์ยึดรถยนต์ดังกล่าวคืน คู่สัญญาจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ ๑ ได้ใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อมาตั้งแต่วันที่ทำสัญญาเช่าซื้อคืนวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๒๔ จนถึงวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๕ โดยชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์เพียงบางส่วน เห็นได้ว่าโจทก์ย่อมเสียหายเนื่องจากไม่ได้ใช้รถยนต์ในระยะเวลานั้น จำเลยที่ ๑ จึงต้องชดใช้ค่าใช้ทรัพย์ดังกล่าวให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๙๑ วรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยที่ ๑ชดใช้จำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท นั้นเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว แต่ในเรื่องดอกเบี้ยนั้นให้จำเลยที่ ๑ รับผิดในอัตราดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเพราะมิใช่กรณีที่จำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาเช่าซื้อ
สำหรับฎีกาของจำเลยที่ ว่าศาลอุทธรณ์ให้จำเลยใช้ค่าติดตามรถยนต์คืนจำนวน ๓๐๐ บาท ไม่ชอบ เพราะโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าติดตามรถนั้นเห็นว่า เมื่อสัญญาเลิกกัน โดยที่จำเลยที่ ๑ มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาดังวินิจฉัยไว้ข้างต้น จำเลยที่ ๑ ก้ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายใด ๆ ซึ่งรวมทั้งค่าติดตามรถยนต์ให้โจทก์
ส่วนจำเลยที่ ๒ ผู้ค้ำประกันนั้น ตามสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ ๒ ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ในการปฏิบัติตามสัญญา เมื่อจำเลยที่ ๑ ต้องชดใช้ค่าใช้ทรัพย์อันเนื่องมาจากสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ ๒ ผู้ต้ำประกันก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์