คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7630/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในส่วนการบอกกล่าวบังคับจำนองนั้น โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ว่า โจทก์ได้มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งห้าชำระหนี้และไถ่ถอนจำนอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทก์ ได้แนบสำเนาหนังสือมอบอำนาจและสำเนาหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้เงินกู้ หนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชี หนี้ค้ำประกัน และให้ไถ่ถอนการจำนองไว้ท้ายคำฟ้องด้วย ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง นอกจากนี้แล้วคำขอบังคับท้ายคำฟ้องโจทก์ก็ระบุไว้ชัดเจน ทั้งจำเลยทั้งห้าก็สามารถให้การต่อสู้คดีได้ถูกต้องโดย มิได้หลงข้อต่อสู้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ธ.กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์มีอำนาจลงลายมือชื่อกระทำการแทนโจทก์ได้ โดยไม่จำต้องประทับตราของโจทก์การที่ ธ.กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ ป.ดำเนินคดีนี้แทน รวมทั้งให้บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งห้าชำระหนี้ด้วย หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นหนังสือมอบอำนาจเป็นการทั่วไป ซึ่ง ป.สามารถใช้ในการดำเนินคดีแก่บุคคลใดก็ได้เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นระหว่าง บุคคลนั้น ๆ กับโจทก์เกี่ยวกับกิจการของโจทก์ตามที่ได้รับมอบหมายไว้โดยโจทก์ไม่จำต้องระบุให้ ป. มีอำนาจฟ้องจำเลยคนใดโดยเฉพาะเจาะจง ดังนี้ ป. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งห้าเป็นคดีนี้ได้ จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์โดยวิธีหักทอนบัญชีเดินสะพัดมาเข้าบัญชีเงินกู้ ซึ่งโจทก์จะออกหลักฐานใบเสร็จรับเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ทุกครั้งและจะมีใบแจ้งการหักทอนบัญชีให้จำเลยที่ 1 ทราบ รวมข้อตกลงเมื่อได้มีการหักเงินจากบัญชีเดินสะพัดมาเข้าบัญชีเงินกู้โดยวิธีดังกล่าวและจำเลยที่ 1 ทราบแล้วมิได้โต้แย้งคัดค้าน กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมโดยปริยายให้มีการกระทำดังกล่าวได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในจำนวนเงินตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดที่โจทก์หักทอนบัญชีไปดังกล่าว สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมิได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไว้การที่โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวถามให้จำเลยที่ 1 ผู้กู้ชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าวจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือแล้วแต่ละเลยไม่ชำระหนี้ จึงเป็นการผิดนัดชำระหนี้ อันเป็นผลให้สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงในวันซึ่งเป็นวันครบกำหนดตามหนังสือบอกกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 มิได้บัญญัติ ไว้ว่าระยะเวลามากน้อยเพียงใดเป็นเวลาอันสมควร จึงต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยโดยกำหนดระยะเวลาให้ชำระหนี้ภายใน 30 วัน แม้จำนวนหนี้ที่โจทก์เรียกร้องทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระมีจำนวนมากถึง 9,799,838.75 บาท ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เพียงพอในอันที่จำเลยที่ 1 จะขวนขวายหาเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ได้ ระยะเวลาดังกล่าวจึงเป็นเวลาอันสมควรการบอกกล่าวบังคับจำนองจึงชอบแล้ว คดีนี้นอกจากโจทก์อุทธรณ์ในทุนทรัพย์ชั้นอุทธรณ์72,059.57 บาท แล้ว จำเลยก็ได้อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องโจทก์ซึ่งคิดเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์เกินกว่า5,549,409.85 บาท อีกด้วย การกำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์จึงต้องถือตามทุนทรัพย์ทางฝ่ายจำเลย และแม้โจทก์มิได้อุทธรณ์ แต่ผลคดีนี้ในชั้นอุทธรณ์จำเลยก็ยังคงแพ้คดีอยู่ดังนี้ ศาลอุทธรณ์จึงอาจกำหนดค่าทนายความใช้แทนได้สูงกว่า10,000 บาท ได้ การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทนายความให้จำเลยทั้งห้าใช้แทนโจทก์เป็นเงิน 10,000 บาท จึงถูกต้องตามตาราง 6อัตราค่าทนายความท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 9,799,838.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 7,349,409.45 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระ ให้บังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 1961 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวรวมตลอดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งห้าให้การว่า หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีไม่ชอบเพราะมิได้ลงลายมือชื่อโดยกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ต้นเงินตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด สัญญากู้เงินและดอกเบี้ยที่โจทก์คิดคำนวณมาไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ โจทก์นำเงินในบัญชีเดินสะพัดของจำเลยที่ 1 มาชำระหนี้เงินกู้ในบัญชีของจำเลยที่ 1 ทุกเดือนเดือนละ 50,000 บาท รวม 16 ครั้ง และชำระดอกเบี้ยเงินกู้ทุกเดือน เดือนละ 20,000 บาทเศษ บ้าง 30,000 บาทเศษบ้าง โดยมิได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำที่เอาเปรียบจำเลยที่ 1 อีกทั้งเป็นการฝ่าฝืนประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยคิดตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2525 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2533 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ฟ้อง ทำให้ดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้นเป็นเงิน 2,420,676.14 บาทดอกเบี้ยดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามกฎหมาย จำเลยที่ 1จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่เคยจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันและไม่เคยทำบันทึกข้อตกลงแก้ไขหนี้จำนองจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในแบบฟอร์มเอกสารดังกล่าวโดยยังมิได้มีการกรอกข้อความใด ๆ พนักงานของโจทก์กรอกข้อความเอาเองโดยมิได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1หนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไม่ชอบ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายให้แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาไม่ว่าด้วยดอกเบี้ยหรือต้นเงินเท่าใด รวมทั้งการบอกกล่าวบังคับจำนองทั้งคำขอบังคับท้ายฟ้องทำให้จำเลยทั้งห้าเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน7,277,349.88 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจากต้นเงิน 5,477,349.88 บาท นับตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2532เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ (ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องไม่เกิน830,130.83 บาท) และสำหรับต้นเงิน 1,800,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2527 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2529 ร้อยละ 17.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2529ถึงวันที่ 4 มีนาคม 2529 ร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยนำดอกเบี้ยคิดถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2531 หักออก 10,000 บาท(ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องไม่เกิน 1,620,298.47 บาท) หากไม่ชำระให้บังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 1961 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาด ถ้าได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบถ้วน
โจทก์และจำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า หนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 5,549,409.45 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แบบไม่ทบต้น นับแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าเดิมจำเลยที่ 1 โดยนายเอี่ยม พูลนิติพร ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญาจำนองที่ดินสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนอง บันทึกข้อตกลงแก้ไขสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีครั้งที่ 1 สัญญากู้เงินบันทึกข้อตกลงเรื่องแก้ไขหนี้จำนองเป็นประกัน และบันทึกข้อตกลงขึ้นเงินจำนองครั้งที่ 1 ไว้กับโจทก์ ต่อมาในปี 2525จำเลยที่ 2 ซื้อกิจการของจำเลยที่ 1 จากนายเอี่ยมหลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงแก้ไขสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีครั้งที่ 2 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5ก็ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันให้ไว้แก่โจทก์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งห้าประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ซึ่งในข้อนี้จำเลยทั้งห้าฎีกาว่าคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่าจำเลยทั้งห้าจะต้องรับผิดในต้นเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี และต้นเงินกู้ยืมพร้อมทั้งดอกเบี้ยจำนวนเท่าใด ทั้งการที่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยทั้งห้าก็มิได้บรรยายให้ชัดแจ้งว่าได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้กันหรือไม่และบอกกล่าวในฐานะอะไรคำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่มิได้บรรยายให้ชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ อีกทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาทำให้จำเลยทั้งห้าหลงข้อต่อสู้และเสียเปรียบนั้น เห็นว่าตามคำฟ้องของโจทก์โจทก์ได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและแยกรายละเอียดของจำนวนหนี้แต่ละรายเพียงพอที่จะทำให้จำเลยทั้งห้าเข้าใจข้อหาได้ดีแล้วว่าจำเลยทั้งห้าจะต้องรับผิดชำระหนี้ในต้นเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี และต้นเงินกู้ยืมพร้อมทั้งดอกเบี้ยเป็นจำนวนเงินเท่าใด โดยไม่มีข้อความตอนใดเคลือบคลุมอันจะเป็นเหตุให้จำเลยทั้งห้าหลงข้อต่อสู้ ส่วนการบอกกล่าวบังคับจำนองนั้น โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ว่า โจทก์ได้มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งห้าชำระหนี้และไถ่ถอนจำนอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทก์ได้แนบสำเนาหนังสือมอบอำนาจ และสำเนาหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้เงินกู้หนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชี หนี้ค้ำประกัน และให้ไถ่ถอนการจำนองไว้ท้ายคำฟ้องด้วย ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง นอกจากนี้แล้วคำขอบังคับท้ายคำฟ้องโจทก์ก็ระบุไว้ชัดเจน ทั้งจำเลยทั้งห้าก็สามารถให้การต่อสู้คดีได้ถูกต้อง โดยมิได้หลงข้อต่อสู้แต่ประการใดฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ปัญหาประการที่สองตามฎีกาของจำเลยทั้งห้ามีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ในข้อนี้จำเลยทั้งห้าฎีกาว่า การลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้นายประมุข สวัสดิ์มงคล ดำเนินคดีแทนโจทก์นอกจากมีลายมือชื่อของกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้แล้ว จะต้องมีตราประทับของโจทก์ด้วย แต่หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.14 เป็นหนังสือมอบอำนาจทั่วไปเท่านั้น โจทก์จะต้องทำหนังสือมอบอำนาจเป็นการเฉพาะรายขึ้นอีกต่างหากเมื่อหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไม่มีตราประทับของโจทก์และโจทก์ไม่ได้ทำหนังสือมอบอำนาจขึ้นใหม่อีก โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากนายประมุขผู้รับมอบอำนาจโจทก์ว่า นายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์มีอำนาจลงลายมือชื่อกระทำการแทนโจทก์ได้ โดยไม่จำต้องประทับตราของโจทก์และโจทก์ได้มอบอำนาจให้นายประมุขดำเนินคดีนี้แทนรวมทั้งให้บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งห้าชำระหนี้ด้วย ตามหนังสือมอบอำนาจ เอกสารหมาย จ.14 เห็นว่าหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว มีลักษณะเป็นหนังสือมอบอำนาจเป็นการทั่วไป ซึ่งสามารถใช้ในการดำเนินคดีแก่บุคคลใดก็ได้เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นระหว่างบุคคลนั้น ๆ กับโจทก์เกี่ยวกับกิจการของโจทก์ตามที่ได้รับมอบหมายไว้ ฉะนั้น หนังสือมอบอำนาจฉบับนี้จึงไม่จำต้องระบุให้มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งห้าโดยเฉพาะเจาะจงหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว เป็นหนังสือมอบอำนาจที่ชอบด้วยกฎหมายโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาประการที่สามตามฎีกาของจำเลยทั้งห้ามีว่า จำเลยที่ 1จะต้องรับผิดตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี และสัญญากู้ยืมเงินต่อโจทก์เพียงใดหรือไม่จำเลยทั้งห้าฎีกาว่า การที่โจทก์หักเงินในบัญชีเดินสะพัดไปชำระหนี้เงินกู้ยืมโดยพลการ จะถือว่าจำเลยที่ 1ยินยอมโดยปริยายไม่ได้ เพราะจำเลยที่ 1 ไม่เคยอนุญาตให้โจทก์ทำเช่นนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดในจำนวนเงินที่โจทก์หักไปรวม 24 ครั้ง นั้น เห็นว่า โจทก์มีนายเพิ่มศักดิ์ ศิริโชติรุ่งขจร ผู้จัดการโจทก์ สาขาขอนแก่นเป็นพยานเบิกความว่า จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้รวมทั้งหมด28 ครั้ง วิธีชำระหนี้ คือจำเลยที่ 1 นำเงินมาชำระให้แก่โจทก์หรือไม่ก็หักทอนบัญชีเดินสะพัดมาเข้าบัญชีเงินกู้ ซึ่งวิธีหลังนี้โจทก์จะออกหลักฐานใบเสร็จรับเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ทุกครั้งและจะมีใบแจ้งการหักทอนบัญชีให้จำเลยที่ 1 ทราบ ตามเอกสารหมาย จ.30 โดยข้อตกลงดังกล่าวนั้นมีมาตั้งแต่ผู้บริหารชุดเดิมของจำเลยที่ 1 แล้ว นอกจากนั้นนายชลาศัย วณิชเวทินพยานจำเลยทั้งห้าก็เบิกความตอบถามค้านเจือสมกับคำพยานโจทก์ปากนายเพิ่มศักดิ์ ประกอบกับข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาปรากฏว่าได้มีการหักเงินจากบัญชีเดินสะพัดมาเข้าบัญชีเงินกู้ถึง 24 ครั้ง และจำเลยที่ 1 ทราบแล้ว ก็มิได้โต้แย้งคัดค้านแต่ประการใด กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมโดยปริยายให้มีการกระทำดังกล่าวได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในจำนวนเงินที่โจทก์หักทอนบัญชีไปดังกล่าว
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปมีว่า บัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงเมื่อใด ในข้อนี้จำเลยทั้งห้าฎีกาว่าบัญชีเดินสะพัดของจำเลยที่ 1 เป็นอันยกเลิกกันโดยปริยายนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2528 แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 2,500,000 บาท ได้ถึงเพียงเดือนเมษายน 2528 เท่านั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาได้ความว่าสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีตามเอกสารหมาย จ.11 มิได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไว้และต่อมาโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าวตามเอกสารหมาย จ.4 จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2532 แต่ละเลยไม่ชำระหนี้จึงเป็นการผิดนัดชำระหนี้ อันเป็นผลให้สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2532 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดตามหนังสือบอกกล่าวโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2532
ปัญหาประการที่หกตามฎีกาของจำเลยทั้งห้ามีว่า โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบแล้วหรือไม่ จำเลยทั้งห้าฎีกาว่าระยะเวลา 30 วัน ตามหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองเป็นระยะเวลาอันสิ้นไม่เพียงพอที่จำเลยที่ 1 จะหาเงินจำนวนสูงถึง9,799,838.75 บาท มาไถ่ถอนจำนองให้ทันภายในกำหนดได้ระยะเวลา 30 วัน ดังกล่าวจึงมิใช่เวลาอันสมควรและการมอบอำนาจให้บอกกล่าวบังคับจำนองไม่ได้ทำเป็นหนังสือนั้น เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 บัญญัติว่า”เมื่อจะบังคับจำนองนั้น ผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร” เช่นนี้จึงเห็นได้ว่ากฎหมายมิได้บัญญัติไว้ว่าระยะเวลามากน้อยเพียงใดเป็นเวลาอันสมควร จึงต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป สำหรับคดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า นายประมุข สวัสดิ์มงคล ผู้รับมอบอำนาจได้มอบอำนาจช่วงให้นายอนุสรณ์ จันทรสิงห์ บอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยทั้งห้า ตามเอกสารหมาย จ.3 โดยกำหนดระยะเวลาให้ชำระหนี้ภายใน 30 วัน ดังนั้น แม้จำนวนหนี้ที่โจทก์เรียกร้องทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระมีจำนวนมากถึง 9,799,838.75 บาทก็ตาม แต่ระยะเวลา 30 วัน ที่โจทก์กำหนดให้นั้นก็นับว่าเป็นระยะเวลาที่เพียงพอแล้วในอันที่จำเลยที่ 1 จะขวนขวายหาเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ได้ ระยะเวลาดังกล่าวจึงเป็นเวลาอันสมควรและการมอบอำนาจช่วงให้บอกกล่าวบังคับจำนองก็ปรากฏหลักฐานตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 การบอกกล่าวบังคับจำนองจึงชอบแล้ว
ส่วนที่จำเลยทั้งห้าฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดค่าทนายความให้จำเลยทั้งห้าใช้แทนโจทก์เป็นเงิน 10,000 บาททั้งที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ในทุนทรัพย์ที่โจทก์แพ้คดี (ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ไม่เต็มตามฟ้อง) เพียง 72,059.59 บาท เท่านั้นเป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะสูงกว่าอัตราขั้นสูงนั้น เห็นว่า คดีนี้นอกจากโจทก์อุทธรณ์ในทุนทรัพย์ชั้นอุทธรณ์ 72,059.57 บาท แล้วจำเลยทั้งห้าก็อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องโจทก์ด้วย ดังนั้น การใช้ดุลพินิจกำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์จึงต้องถือตามทุนทรัพย์ทางฝ่ายจำเลยทั้งห้าซึ่งแม้แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ และผลคดีในชั้นอุทธรณ์จำเลยทั้งห้าก็ยังคงแพ้คดีอยู่ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็อาจกำหนดค่าทนายความใช้แทนได้สูงกว่า 10,000 บาท การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1กำหนดค่าทนายความให้จำเลยทั้งห้าใช้แทนโจทก์เป็นเงิน10,000 บาท จึงชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share