แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ที่ 1 มิได้ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความ แม้โจทก์ที่ 1จะรับรองหรือให้สัตยาบันการแต่งตั้งก็ไม่ทำให้การแต่งตั้งนั้นสมบูรณ์ขึ้นมาได้ โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนเมื่อข้อเท็จจริงมาปรากฏในชั้นพิจารณา ศาลย่อมมีอำนาจหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ ที่พิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์ที่ 2 และชาวบ้านร่วมกันบริจาคเงินซื้อ เพื่อจัดตั้งเป็นสำนักสงฆ์ โดยใช้ชื่อว่า “วัด ส.” แต่วัดดังกล่าวยังไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งตามกฎหมาย ที่พิพาทจึงเป็นของโจทก์ที่ 2 ในฐานะเจ้าของร่วมอยู่ด้วยโจทก์ที่ 2 ยังมิได้สละสิทธิครอบครองแต่อย่างใด การที่โรงเรียน บ. มาสร้างอาคารเรียน และบ้านพักครูขึ้นในที่พิพาทเป็นการเข้าอยู่โดยได้รับอนุญาตจากโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 4 จึงไม่มีสิทธินำที่พิพาทไปขอออกน.ส.3 ก. ในชื่อขององค์การบริหารส่วนจังหวัด กรณียังถือไม่ได้ว่าเป็นการแย่งการครอบครอง แม้จะครอบครองต่อไปนานเท่าใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครองที่พิพาท จึงมิใช่เป็นกรณีการฟ้องคดี เพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.)ทะเบียนเลขที่ 1473 เล่ม 15 ข. หน้า 23 ตำบลดงมูลเหล็ก อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีเมื่อพ้น 1 ปีล่วงพ้นระยะเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374, 1375แล้ว โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3ก.) ทะเบียนเลขที่ 1473 เล่ม 15 ข. หน้า 23 ตำบลดงมูลเหล็กอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ที่พิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์ที่ 2 และชาวบ้านร่วมกันบริจาคเงินซื้อจากนายขาว คำระวุฒิหรือคำราวุธ เนื้อที่ 6 ไร่เศษ และนายขาวยกที่ดินให้อีก 1 ไร่ รวมที่ดินทั้งหมด 7 ไร่เศษ เพื่อจัดตั้งเป็นสำนักสงฆ์โดยใช้ชื่อว่า “วัดสว่างอรุณเรืองศรี” แต่วัดดังกล่าวยังไม่ได้รับอนุญาตจากทางราชการให้จัดตั้งเป็นวัดตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พ.ศ. 2505 ต่อมาปลายปี พ.ศ. 2518 โรงเรียนบ้านท่ากกตาลซึ่งถูกน้ำท่วมทุกปีได้ย้ายจากที่เดิมมาสร้างอาคารเรียนและบ้านพักครูขึ้นในที่พิพาท และในปี พ.ศ. 2519 จำเลยที่ 4 นำที่พิพาทไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) ในชื่อขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2521 โจทก์ที่ 2 ไปติดต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทให้แก่วัดจึงทราบเรื่องดังกล่าว หลังจากนั้นโจทก์ที่ 2 ร้องเรียนไปยังกรมการศาสนาและกรมการศาสนาได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์เพื่อขอให้ดำเนินการเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ไม่ยอมเพิกถอนคดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ว่าการที่โจทก์ที่ 1 มิได้ลงชื่อในใบแต่งทนายความจะทำให้โจทก์ที่ 1 มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ในปัญหานี้ได้ความจากโจทก์ที่ 1 ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสี่ว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ประสงค์ที่จะดำเนินคดีเป็นโจทก์ และลายมือชื่อที่ปรากฏในใบแต่งทนายความมิใช่ลายมือชื่อของโจทก์ที่ 1ทั้งในชั้นตอบคำถามติงของทนายโจทก์ โจทก์ที่ 1 ก็ยังเบิกความยืนยันอีกว่าพระมหามนตรีเป็นผู้ลงลายมือชื่อของโจทก์ที่ 1 ในใบแต่งทนายความต่อหน้าโจทก์ที่ 1 เห็นว่าเมื่อโจทก์ที่ 1 เบิกความยืนยันว่าไม่ประสงค์จะดำเนินคดี ทั้งมิได้เป็นผู้ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความ ประกอบกับเมื่อได้พิจารณาลายมือชื่อของโจทก์ที่ 1 ที่ปรากฏท้ายบันทึกคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 กับลายมือชื่อที่ปรากฏในใบแต่งทนายความแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 มิได้ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความ แม้โจทก์ที่ 1 จะรับรองหรือให้สัตยาบันการแต่งตั้งก็ไม่ทำให้การแต่งตั้งนั้นสมบูรณ์ขึ้นมาได้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อข้อเท็จจริงมาปรากฏในชั้นพิจารณา ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้องฎีกาของจำเลยทั้งสี่ในข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาประการสุดท้ายว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความเรียกที่พิพาทคืนเพราะจำเลยที่ 4 แย่งการครอบครองไปเกิน1 ปีแล้วนั้น เห็นว่า ที่พิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์ที่ 2 และชาวบ้านร่วมกันบริจาคเงินซื้อเพื่อจัดตั้งเป็นสำนักสงฆ์ โดยใช้ชื่อว่า”วัดสว่างอรุณเรืองศรี” แต่วัดดังกล่าวยังไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งตามกฎหมาย ที่พิพาทจึงเป็นของโจทก์ที่ 2 ในฐานะเจ้าของร่วมอยู่ด้วย โจทก์ที่ 2 ยังมิได้สละสิทธิครอบครองแต่อย่างใด การที่โรงเรียนบ้านท่ากกตาลมาสร้างอาคารเรียนและบ้านพักครูขึ้นในที่พิพาทเป็นการเข้าอยู่โดยได้รับอนุญาตจากโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 4จึงไม่มีสิทธินำที่พิพาทไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3ก.) ในชื่อขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ กรณียังถือไม่ได้ว่าเป็นการแย่งการครอบครอง แม้จะครอบครองต่อไปนานเท่าใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครองที่พิพาท จึงมิใช่กรณีการฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375วรรคสอง…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับโจทก์ที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.