คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3598/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่พนักงานสอบสวนรับตัวผู้ต้องหาควบคุมไว้โดยมิให้ยื่นคำร้องต่อศาลขอหมายขังอันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 ย่อมมีผลให้การควบคุมนั้นเป็นการผิดกฎหมายซึ่งบุคคลดังที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ปล่อยได้แต่การควบคุมนั้นก็ยังคงเป็นการควบคุมตามอำนาจของพนักงานสอบสวน อยู่ ดังนั้นจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่ควบคุมดูแลผู้ต้องคุมขังตามอำนาจของพนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวผู้ต้องคุมขังไป จึงเป็นการกระทำให้ผู้ที่อยู่ในระหว่างคุมขังนั้นหลุดพ้นจากการคุมขัง จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 204
( วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 11/2531)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจทำหน้าที่สิบเวรมีหน้าที่ควบคุมดูแลผู้ต้องหาซึ่งถูกคุมขังอยู่ในห้องขังของสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองตราด ได้ปล่อยให้นายเกีย ศรีพันธรัตน์ บุคคลเชื้อชาติเขมร สัญชาติเขมร ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในห้องขังดังกล่าวในข้อหาฐานหลบหนีเข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามอำนาจของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาและตามอำนาจของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองตราด หลุดพ้นจากการคุมขังไป อันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่พนักงานสอบสวน เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาของสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองตราดและราชการกรมตำรวจหรือปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เหตุเกิดที่ตำบลบางพระ อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๒๑๖๒/๒๕๒๘ และหมายเลขดำที่ ๒๑๖๓/๒๕๒๘ ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๑๙๑, ๒๐๔ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.๒๕๐๒ มาตรา ๑๓ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๔ กับให้นับโทษคดีนี้ติดต่อกับโทษในคดีที่กล่าวแล้วด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธแต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษก่อน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยเป็นผู้ปล่อยนายเกียผู้ต้องหาไป โดยที่จำเลยเป็นเจ้าพนักงานจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๙๑ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๔ ซึ่งเป็นบทบัญญัติถึงความผิดของบุคคลซึ่งไม่ใช่เจ้าพนักงาน และเมื่อการกระทำความผิดของจำเลยเข้าลักษณะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๒๐๔ ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่เข้าความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ซึ่งเป็นบททั่วไป พิพากษว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๔ จำคุก ๔ ปี คดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อศาลยังมิได้มีคำพิพากษาจึงไม่นับโทษต่อให้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่ นายเกียถูกจับเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๒๘ ในข้อหาว่าใช้รถจักรยานยนต์ไม่ติดป้ายทะเบียนและเป็นบุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยไม่รับอนุญาต สำหรับข้อหาใช้จักรยานยนต์ไม่ติดป้ายทะเบียนได้เปรียบเทียบปรับไปแล้ว พนักงานสอบสวนมิได้นำตัวนายเกียไปขอฝากขังต่อศาลในข้อหาหลยหนีเข้ามาในราชอาณาจักร ดังนั้นการควบคุมตัวนายเกียจากวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๒๘ มาจนถึงวันเกิดเหตุ คือวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๒๘ จึงเป็นการควบคุมเกินกว่า ๗ วันแล้ว การควบคุมหลังจากนั้น โดยที่ไม่ได้ตั้งข้อหาใด ๆ จึงเป็นการควบคุมที่มิชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๗ พนักงานสอบสวนก็ดี พนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาก็ดี จึงไม่มีอำนาจควบคุมนายเกียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๗ ไว้ต่อไปอีก จึงฟังว่านายเกียถูกคุมขังอยู่ตามอำนาจของเจ้าหนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาหรือของพนักงานสอบสวนไม่ได้การที่จำเลยปล่อยให้นายเกียหลบหนีไปจึงไม่เป็นความผิดดังที่โจทก์ฟ้อง พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถึยงกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๒๘ เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานตำรวจภูธรอำเภอเมืองตราด จับกุมนายเกีย ศรีปัจศะหรือศรีพันธรัตน์ ส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองตราดในข้อหาว่าใช้รถจักรยานยนต์ไม่ติดป้ายทะเบียนและเป็นบุคคลต่างด้าวสัญชาติเขมรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองตราดรับตัวผู้ต้องหาควบคุมไว้ในห้องขับสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองตราด สำหรับข้อหาใช้รถจักรยานยนต์ไม่ติดป้ายทะเบียนพนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบปรับไปแล้ว แต่คงควบคุมตัวนายเกียผู้ต้องหาไว้ตลอดมาโดยมิได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้หมายขังนายเกียไว้ จนวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๒๘ จำเลยซึ่งทำหน้าที่เป็นสิบเวรสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองตราด มีหน้าที่ควบคุมดูแลผู้ต้องขังในห้องขังของสถานีตำรวจภูธรนั้น ได้ปล่อยให้นายเกียหลบหนีไป มีปัญหาว่านายเกียถูกควบคุมโดยอำนาจของพนักงานสอบสวนหรือไม่
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่านายเกียถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรอำเภอเมืองตราดจับส่งสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองตราดในข้อหาที่กล่าวแล้วข้างต้นจึงเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนในฐานะเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ซึ่งมีผู้นำผู้ถูกจับมาส่งที่จะควบคุมตัวผู้ถูกจับไว้หรือปล่อยชั่วคราวก็ได้ ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๔ วรรคสองบัญญัติไว้ เมื่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองตราดรับตัวนายเกียควบคุมไว้มิได้ปล่อยไป การควบคุมนายเกียจึงเป็นการควบคุมตามอำนาจของพนักงานสอบสวนตามบทบัญญัติของกฎหมายที่กล่าวมาแล้ว แต่เพื่อมิให้การควบคุมเกินความจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๗ จึงได้วางหลักเกณฑ์การควบคุมผู้ถูกจับไว้เป็นขั้นเป็นตอน ดังนี้แม้พนักงานสอบสวนจะไม่ได้ปฏิบัติตามวิธีการที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๗ วางไว้ก็มีผลเพียงให้การควบคุมของพนักงานสอบสวนเป็นการผิดกฎหมายซึ่งบุคคลดังที่ระบุไว้ในมาตรา ๙๐ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ปล่อยได้ แต่การควบคุมนั้นก็คงเป็นการควบคุมตามอำนาจของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจผู้รับตัวผู้ถูกจับไว้ตามที่บัญญัติไวัในมาตรา ๘๔ วรรคสอง ดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การที่จำเลยผู้มีหน้าที่ควบคุมดูแลผู้ต้องขังตามอำนาจของพนักงานสอบสวนปล่อยตัวนายเกียไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นการทำให้ผู้ที่อยุ่ในระหว่างคุมขังนั้นหลุดพ้นจากการคุมขังไปดังที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share