คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5188/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยซึ่งเป็นสุขาภิบาลมีหน้าที่ดูแลรักษาสะพานให้มีความมั่นคงแข็งแรงและเรียบร้อย เพื่อให้บริการสาธารณูปโภคแก่ประชาชนและผู้ขับรถยนต์ที่สัญจรไปมา การที่จำเลยปล่อยปละละเลยไม่แสดงป้ายห้ามรถยนต์บรรทุกหนักผ่านข้ามสะพาน จึงเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลย แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงการที่ ส. ลูกจ้างโจทก์ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อมีน้ำหนัก 9 ตัน และบรรทุกรำหนัก 7,230 กิโลกรัมผ่านสะพานไม้ดังกล่าวซึ่งบุคคลทั่วไปเห็นสภาพแล้วย่อมจะไม่แน่ใจว่าจะรับน้ำหนักรถและสิ่งของที่บรรทุกรวมกันประมาณ 16 ตัน ได้ เหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างมากของ ส. อยู่ด้วยและตามพฤติการณ์ ส. มีส่วนประมาทมากกว่า
สำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมีข้อความเพียงว่า ส.ลูกจ้างโจทก์ตกลงกับกรรมการของจำเลยว่า ส. จะทำสะพานใหม่ได้ ไม่มีข้อความที่แสดงว่าคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงมิใช่เป็นสัญญาข้อตกลงระงับหนี้ละเมิดแต่อย่างใด โจทก์ทั้งสองและจำเลยต่างยังคงต้องรับผิดในมูลละเมิดต่อกันอยู่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ลูกจ้างโจทก์ที่ ๑ ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อบรรทุกรำข้าวหนัก ๗,๒๓๐ กรัม ขึ้นไปขนสะพานไม้ข้ามคลองชลประทานของจำเลยด้วยความระมัดระวัง แต่สะพานไม้นั้นชำรุดบกพร่องอยู่ก่อน ด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลย ไม่ดูแลบำรุงรักษาหรือซ่อมแซมให้แข็งแรงและไม่ติดป้ายแสดงเครื่องหมายเตือนให้เห็นว่ามีการจำกัดน้ำหนักรถที่ขับผ่าน เป็นเหตุให้สะพานดังกล่าวพังและรถยนต์ของโจทก์ที่ ๑ พลิกคว่ำตกลงไปในคลอง ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๑๙๒,๕๘๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยและแก่โจทก์ที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถของโจทก์ที่ ๑เป็นเงิน ๓๗,๘๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า สะพานไม้ของจำเลยเป็นสะพานไม้เล็ก ๆ ทำไว้สำหรับประชาชนข้ามสัญจรไปมาและมีป้ายห้ามรถยนต์บรรทุกน้ำหนักเกิน ๖ ตัน ข้ามสะพานลูกจ้างโจทก์ที่ ๑ ขับรถมีน้ำหนักรวมน้ำหนักบรรทุก ๑๕,๒๓๐ กิโลกรัม ขึ้นไปบนสะพาน ทั้งที่ย่อมเล็งเห็นผลแล้วว่าสะพานอาจพังลงมาและสามารถหลีกเลี่ยงใช้ทางอื่นที่ปลอดภัย เป็นเหตุให้สะพานรับน้ำหนักไม่ไหวพังลงมา จำเลยไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหาย ค่าเสียหายของโจทก์ไม่มากดังฟ้อง การกระทำของลูกจ้างโจทก์ที่ ๑ ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเป็นเงิน ๑๓๔,๒๙๖บาท โจทก์ทั้งสองต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่จำเลยพร้อมดอกเบี้ย
โจทก์ที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง
โจทก์ที่ ๒ ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า เหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยฝ่ายเดียว ความเสียหายของสะพานจำเลยไม่เกิน๒๐,๐๐๐ บาท นายสมปอง ลูกจ้างโจทก์ที่ ๑ ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยยอมสะพานใหม่ให้จำเลย มูลละเมิดจึงหมดไปแล้ว
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้จำเลยจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันทำละเมิดคือวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๒๖ เป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ทั้งสองจะชำระเสร็จ เฉพาะโจทก์ที่ ๒ รับผิดไม่เกินวงเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาทตามที่รับประกันภัยจากโจทก์ที่ ๑
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า สะพานที่เกิดเหตุไม่มีป้ายห้ามรถยนต์บรรทุกน้ำหนักเกิน ๖ ตัน ผ่าน แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่าจำเลยซึ่งเป็นสุขาภิบาลมีหน้าที่ดูแลรักษาสะพานให้มีความมั่นคงแข็งแรงและเรียบร้อย เพื่อให้บริการสาธารณูปโภคแก่ประชาชนและผู้ขับรถยนต์ที่สัญจรไปมาโดยสะดวก การที่จำเลยปล่อยปละละเลยไม่แสดงป้ายห้ามรถยนต์บรรทุกหนักผ่านข้ามสะพานจึงเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลย ดังนั้น เหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลย แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงการที่ นายสมปองขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อมีน้ำหนัก ๙ ตัน และบรรทุกรำหนัก ๗,๒๓๐กิโลกรัม ผ่านสะพานไม้ดังกล่าวซึ่งบุคคลทั่วไปเห็นสภาพของสะพานที่เกิดเหตุแล้วย่อมจะไม่แน่ใจว่าสะพานดังกล่าวจะรับน้ำหนักรถและสิ่งของที่บรรทุกรวมกันประมาณ ๑๖ ตัน ได้ เช่นนี้ เหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างมากของนายสมปอง ลูกจ้างการกระทำในทางการที่จ้างของโจทก์ที่ ๑ อยู่ด้วย ถือได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดเพราะความผิดของลูกจ้าง โจทก์ที่ ๑ มีส่วนประกอบด้วยอย่างมาก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๒ค่าสินไหมทดแทนอันโจทก์ควรจะได้รับมากน้อยเพียงใด จึงต้องอาศัยพฤติการณ์แวดล้อมแห่งกรณีดังกล่าวข้างต้นเป็นประมาณ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๓ และปรากฏว่านายสมปองมีส่วนในความประมาทมากกว่าจำเลย โจทก์ที่ ๑ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยตามที่จำเลยได้ฟ้องแย้งไว้ และตามพฤติการณ์แห่งกรณี นี้ แม้จำเลยมีส่วนประมาทด้วย แต่ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนรวม ๕๐,๐๐๐ บาท ให้แก่จำเลยเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่ามูลละเมิดระงับแล้วหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.๕ ซึ่งมีข้อความว่า นางสมปอง ตกลงกับนายสวองว่า นายสมปอง จะทำสะพานให้ใหม่นั้น ไม่มีข้อความที่แสดงว่าคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงมิใช่เป็นสัญญาข้อตกลงระงับหนี้ละเมิดแต่อย่างใดโจทก์ทั้งสองและจำเลยต่างยังคงต้องรับผิดในมูลละเมิดต่อกันอยู่
พิพากษายืน.

Share