แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คดีที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งกำหนดให้ชำระเงินจำนวนหนึ่งนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจอายัดเงินที่บุคคลภายนอกจะต้องชำระให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้โดยตรง โดยไม่จำต้องบังคับคดีตามวิธีการที่กำหนดไว้ใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 282 เรียงตามลำดับ และไม่ต้องมีการยึดทรัพย์ก่อนที่จะอายัดทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 310 เมื่อผู้ร้องได้รับหนังสือแจ้งการอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้วไม่ปฏิบัติตาม กลับจ่ายเงินตามที่จำเลยมีสิทธิจะได้รับจากผู้ร้องให้จำเลยไปทำให้โจทก์เสียหายจะถือว่าผู้ร้องชำระหนี้ให้จำเลยโดยสุจริตไม่ได้ผู้ร้องจึงต้องรับผิดส่งเงินตามหนังสืออายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดี
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็คศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 105,625 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงิน 100,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยไม่ชำระหนี้ ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดอายัดทรัพย์สินของจำเลยเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือตามเอกสารหมาย ปร.1 ถึงผู้ร้องแจ้งอายัดเงินส่วนที่ผู้ร้องจะต้องชำระแก่จำเลย แต่ผู้ร้องไม่ปฏิบัติตามเอกสารหมาย ปร.1 กลับจ่ายเงินค่าประกันชีวิตของพันตำรวจตรีสุวิน สร้อยสด สามีจำเลยแก่จำเลยในฐานะผู้รับประโยชน์เป็นเงิน 500,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ศาลทำการไต่สวนและมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 312
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่เคยได้รับคำสั่งอายัดของศาลชั้นต้น คงได้รับแต่หนังสือลงวันที่ 10 มีนาคม 2531ของเจ้าพนักงานบังคับคดี ซึ่งไม่ใช่หมายอายัดของศาล การอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจะกระทำได้เมื่อมีการยึดทรัพย์แล้วหนังสือของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวไม่มีรายละเอียดพอให้ผู้ร้องตรวจสอบได้ ผู้ร้องจ่ายเงินค่าประกันชีวิตในมรณกรรมของสามีจำเลยไปโดยสุจริต
ศาลชั้นต้นไต่สวนพยานโจทก์และพยานผู้ร้องแล้วมีคำสั่งว่าผู้ร้องจ่ายเงินค่าประกันชีวิตของพันตำรวจตรีสุวิน สร้อยสดแก่จำเลยซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์โดยสุจริต ผู้ร้องไม่ต้องส่งเงินตามหนังสืออายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดี
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อแรกว่าหนังสืออายัดหมาย ปร.1 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ในข้อนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีหนังสืออายัดหมาย ปร.1ถึงผู้ร้อง ให้ส่งเงินที่จำเลยมีสิทธิจะได้รับจากผู้ร้อง ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านว่า หนังสืออายัดดังกล่าวมิใช่คำสั่งศาล การอายัดต้องกระทำโดยคำสั่งศาลเท่านั้น และการอายัดจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้มีการยึดทรัพย์สินของจำเลยแล้ว ตามปัญหานี้จึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจออกหนังสืออายัดไปยังผู้ร้องหรือไม่ และการอายัดจะต้องมีการยึดทรัพย์สินของจำเลยก่อนหรือไม่ ประเด็นดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังมิได้วินิจฉัยแต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้ไปวินิจฉัยว่า หนังสืออายัดหมาย ปร.1ไม่มีข้อห้ามผู้ร้องไม่ให้ชำระเงินแก่จำเลย ทั้งไม่ได้กำหนดเวลาให้ผู้ร้องส่งมอบเงินที่อายัดแก่เจ้าพนักงานบังคับคดี จึงไม่ใช่คำสั่งอายัดตามกฎหมายที่ผู้ร้องจะต้องปฏิบัติตามอันเป็นประเด็นที่ผู้ร้องมิได้โต้แย้งคัดค้านในข้อนี้จึงไม่มีประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะยกขึ้นวินิจฉัย คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2ดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น อย่างไรก็ตามศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาโจทก์ไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2วินิจฉัยใหม่ ในปัญหาว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจออกหนังสืออายัดเงินค่าประกันชีวิตที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากผู้ร้องหรือไม่เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีและได้มีการออกหมายบังคับคดีโดยให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการยึดทรัพย์สินของจำเลย ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสืออายัดเงินที่จำเลยมีสิทธิจะได้รับจากผู้ร้อง จึงเป็นการดำเนินการคำสั่งยึดอายัดของศาลชั้นต้นเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีอำนาจกระทำได้
ส่วนปัญหาว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีจะมีหนังสืออายัดถึงผู้ร้องได้ ต้องมีการยึดทรัพย์สินของจำเลยก่อนหรือไม่ เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 282 คดีที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งกำหนดให้ชำระเงินจำนวนหนึ่งนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจอายัดเงินที่บุคคลภายนอกจะต้องชำระให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้โดยตรง โดยไม่จำต้องบังคับคดีตามวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตราดังกล่าวเรียงตามลำดับ ส่วนมาตรา 310 ที่บัญญัติว่า”เมื่อได้มีการยึดทรัพย์แล้ว สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้อันมีต่อบุคคลภายนอกนั้น ให้จัดการดังต่อไปนี้ ฯลฯ” นั้น เป็นการบัญญัติวิธีการยึดทรัพย์ก่อนวิธีการอายัดทรัพย์ อันเป็นบทมาตราที่เรียงต่อกันมาเท่านั้น มิได้มีความหมายจำกัดว่า จะต้องทำการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาก่อนแล้วจึงจะอายัดสิทธิเรียกร้องได้ดังที่ผู้ร้องต่อสู้
ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ข้อสุดท้ายมีว่า ผู้ร้องจะต้องรับผิดส่งเงินตามหนังสืออายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือไม่ เห็นว่าตามหนังสือแจ้งการอายัดเงินของจำเลยลงวันที่ 10 มีนาคม 2531ตามเอกสารหมาย ปร.1 ระบุไว้ว่าขออายัดเงินส่วนที่จำเลยจะได้รับจากทางผู้ร้อง ผู้ร้องมีหนังสือตอบลงวันที่ 21 มิถุนายน 2531 ปฏิเสธว่าไม่เคยเป็นหนี้จำเลยและไม่มีเงินของจำเลยในครอบครองแต่ความจริงปรากฏว่า จำเลยและพันตำรวจตรีสุวิน สร้อยสด สามีจำเลยได้เอาประกันชีวิตไว้กับผู้ร้อง สำหรับพันตำรวจตรีสุวินนั้นระบุให้จำเลยและนางสาววชิรา สร้อยสด บุตรจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์ พันตำรวจตรีสุวินถึงแก่ความตายในปี 2530 ผู้ร้องได้จ่ายเงินให้นางสาววชิรา เมื่อเดือนกรกฎาคม 2530 ส่วนของจำเลยที่จะได้รับนั้นผู้ร้องได้จ่ายให้จำเลยรับไปเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2532เห็นได้ว่าจำเลยมีสิทธิได้รับเงินประกันชีวิตของสามีก่อนที่ผู้ร้องจะได้รับหนังสือแจ้งอายัด เอกสารหมาย ปร.1 ซึ่งนายอภิชัยอนุพงษ์กุลกิจ ผู้จัดการแผนกสินไหมทดแทนของผู้ร้องเป็นผู้พิจารณาเรื่องแต่ต้น ตั้งแต่การขอรับชำระเงินและการจ่ายค่าสินไหมทดแทนดังนั้นผู้ร้องย่อมทราบดีว่าจำเลยมีสิทธิจะได้รับเงินจากผู้ร้องจะปฏิเสธว่าผู้ร้องไม่ได้เป็นหนี้จำเลย และไม่มีเงินส่วนใดของจำเลยไว้ในความครอบครองของผู้ร้อง และจะอ้างว่าผู้ร้องไม่เคยได้รับคำสั่งอายัดของศาลชั้นต้นหาได้ไม่ การที่ผู้ร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีและจ่ายเงินตามที่จำเลยมีสิทธิจะได้รับจากผู้ร้องให้จำเลยไป ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายนั้นจะถือว่าผู้ร้องชำระหนี้ให้จำเลยโดยสุจริตมิได้ ผู้ร้องจึงต้องรับผิดส่งเงินตามหนังสืออายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจำนวน114,227.73 บาท ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ผู้ร้องชำระเงิน 114,227.73 บาท แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี