คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5502/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ร้องขอให้บังคับคดีแก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา การที่ผู้ซื้อทรัพย์ดำเนินการบังคับคดีต่อเนื่องจากโจทก์ จึงไม่ต้องยื่นคำขอให้บังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาตามที่ ป.วิ.พ. มาตรา 271 บัญญัติไว้
ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี บัญญัติว่า “เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ขายให้แก่ผู้ซื้อ หากทรัพย์สินที่โอนนั้นมีลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารอาศัยอยู่ และลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารไม่ยอมออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้น ผู้ซื้อทรัพย์ชอบที่จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ให้ออกคำบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้นภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด แต่ไม่น้อยกว่าสามสิบวัน…” คดีนี้ผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์พิพาทจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ผู้ซื้อทรัพย์จึงมีสิทธิยื่นคำขอต่อศาลให้ออกคำบังคับให้จำเลยที่ 3 และบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์พิพาท โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่อันเป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย หาขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 2,392,254.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมให้แก่โจทก์ กับออกคำบังคับให้จำเลยทั้งสามปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว จำเลยทั้งสามไม่ชำระ โจทก์ขอให้บังคับคดีและศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 10026 เลขที่ดิน 82 ตำบลเมืองปัก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 65 ตารางวา พร้อมอาคารพาณิชย์ 2 ชั้น เลขทะเบียน 144/117 จำนวน 2 คูหา ซึ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินดังกล่าว มีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และประกาศขายทอดตลาด นายนรินทร์เป็นผู้ซื้อทรัพย์ทั้งสองรายการได้ และต่อมายื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ขอให้ออกคำบังคับให้จำเลยทั้งสามและบริวารออกไปจากที่ดินและอาคาร ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสามและบริวารออกไปจากที่ดินและอาคารภายใน 30 วัน
จำเลยที่ 3 ยื่นคำคัดค้านขอให้เพิกถอนคำบังคับ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง (ที่ถูก ให้ยกคำคัดค้าน)
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนผู้ซื้อทรัพย์
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ผู้ซื้อทรัพย์ร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามและบริวารออกจากที่ดินและอาคารเกินกำหนด 10 ปี นับแต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 บัญญัติว่า “ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น” คดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2541 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ กับออกคำบังคับจำเลยทั้งสามให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว จำเลยทั้งสามไม่ชำระ ต่อมาวันที่ 19 พฤศจิกายน 2544 โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีและเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ร้องขอต่อศาลชั้นต้นให้บังคับคดีแก่จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีและเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา และวันที่ 1 ตุลาคม 2545 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินและอาคารพาณิชย์ของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา เห็นว่า โจทก์ได้ร้องขอให้บังคับคดีแก่จำเลยทั้งสามภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 แล้ว แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารพาณิชย์ที่ขายทอดตลาดให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2551 และเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2552 ผู้ซื้อทรัพย์ขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาและบริวารซึ่งยังครอบครองและอาศัยอยู่ในที่ดินและอาคารดังกล่าวออกไปจากที่ดินและอาคาร การที่ผู้ซื้อทรัพย์ขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับดังกล่าว ถือว่าเป็นการบังคับคดีต่อเนื่องจากที่โจทก์ได้บังคับคดีไว้ก่อนแล้ว ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 309 ตรี บัญญัติให้ถือว่า ผู้ซื้อทรัพย์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารที่อยู่อาศัยในอสังหาริมทรัพย์เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา อันมีผลเท่ากับให้ผู้ซื้อทรัพย์สวมสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อโจทก์ได้ร้องขอให้บังคับคดีแก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2544 ซึ่งเป็นเวลาภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ดังนั้น การที่ผู้ซื้อทรัพย์ดำเนินการบังคับคดีต่อเนื่องจากโจทก์ จึงไม่ต้องยื่นคำขอให้บังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 บัญญัติไว้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ประการสุดท้ายว่า การที่ผู้ซื้อทรัพย์ต้องการให้จำเลยที่ 3 และบริวารออกไปจากที่ดินและอาคารพาณิชย์ที่ขายทอดตลาดต้องฟ้องเป็นคดีใหม่หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ตรี บัญญัติว่า “เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ขายให้แก่ผู้ซื้อ หากทรัพย์สินที่โอนนั้นมีลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารอาศัยอยู่ และลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารไม่ยอมออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ ผู้ซื้อทรัพย์ชอบที่จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่ในเขตศาลให้ออกคำบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด แต่ไม่น้อยกว่าสามสิบวัน…” คดีนี้ผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์พิพาทจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ดังนั้น ผู้ซื้อทรัพย์จึงมีสิทธิยื่นคำขอต่อศาลให้ออกคำบังคับให้จำเลยที่ 3 และบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์พิพาทโดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ อันเป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย หาขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกา 5,000 บาท แทนผู้ซื้อทรัพย์

Share