คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6041/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 65 ที่ดินที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจที่จะประกาศสงวนที่ดินเพื่อประโยชน์แก่งานทางโดยชอบได้นั้น จะต้องเป็นที่ดินของรัฐซึ่งมิได้มีบุคคลเข้าครอบครอง แต่ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง สงวนที่ดินเพื่อประโยชน์แก่งานทางในตำบลบ้านผึ้ง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ที่ประกาศสงวนที่ดินริมทางหลวงหมายเลข 22 จำนวนเนื้อที่ 10 ไร่ 33 ตาราง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2305 ซึ่งออกก่อนวันออกประกาศกระทรวงคมนาคมดังกล่าวกว่า 13 ปี ดังนั้น การขายทอดตลาดที่ดินส่วนดังกล่าวนี้ยังไม่เสียไป โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดิน (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2305 จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมได้สิทธิในที่ดิน (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2305 ไปทั้งแปลง ซึ่งได้มีการจดทะเบียนโอนสิทธิในที่ดิน (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2305 ทั้งแปลงให้แก่โจทก์แล้ว
ตามสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวจากการขายทอดตลาดระบุว่า “เป็นที่เข้าใจกันชัดเจนว่ากรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินรายนี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจขายได้มากน้อยเพียงใด ข้าพเจ้ารับซื้อไว้เท่านั้น การกำหนดเขตที่ดินโดยกว้างยาวและการบอกประเภทที่ดินตามประกาศขายทอดตลาดนั้น เป็นแต่กล่าวไว้โดยประมาณ ถึงแม้ว่าเนื้อที่ดินจะขาดหรือเกินไปหรือบอกประเภทของที่ดินผิดไปประการใดก็ดี ไม่ถือว่าเป็นข้อที่จะทำลายสัญญาซื้อขายนี้ได้” แม้แขวงการทางจะคัดค้านการรังวัดที่ดิน ก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องต่อสู้กับกรมทางหลวง เงินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้จากการขายทอดตลาดที่ดินและจ่ายให้จำเลยเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาถูกต้องตามขั้นตอนการบังคับคดีแพ่ง ไม่เป็นลาภมิควรได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,037,475.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 903,311.34 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 มีนาคม 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องชำระเงิน 903,311.34 บาท ในฐานะลาภมิควรได้พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ตาม คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า แม้การจดจำนองที่ดินดังกล่าวจะกระทำภายหลังที่มีการประกาศสงวนที่ดินเพื่อประโยชน์แก่งานทาง แต่ประกาศดังกล่าวมิได้ยกเลิกสิทธิครอบครองในที่ดิน การยึดและการขายทอดตลาดจึงชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์นำที่ดินไปรังวัดเพื่อเปลี่ยนแปลงเอกสารสิทธิจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปเป็นโฉนดที่ดิน แต่ไม่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ตามเนื้อที่ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่โจทก์เป็นผู้ซื้อทรัพย์มาจากการขายทอดตลาด โจทก์ชอบที่จะเรียกร้องเอาแก่แขวงการทางนครพนม กรมทางหลวง ตามสิทธิของโจทก์ที่สืบต่อจากนางบังอรโดยตรง จำเลยไม่ต้องคืนเงินให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 65 ที่ดินที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจที่จะประกาศสงวนที่ดินเพื่อประโยชน์แก่งานทางโดยชอบได้นั้น จะต้องเป็นที่ดินของรัฐซึ่งมิได้มีบุคคลเข้าครอบครอง แต่ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง สงวนที่ดินเพื่อประโยชน์แก่งานทางในตำบลบ้านผึ้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ประกาศ ณ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2535 ที่ประกาศสงวนที่ดินริมทางหลวงหมายเลข 22 ตอนคอสะพานห้วยฮู่เม่น เนื้อที่ 12 ไร่ 2 งาน ซึ่งรังวัดแล้วมีเนื้อที่ 10ไร่ 33 ตารางวา นั้น เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินในหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2305 เนื้อที่ 35 ไร่ 2 งาน 87 ตารางวา ซึ่งออก ณ วันที่ 5 กรกฎาคม 2522 ก่อนวันออกประกาศกระทรวงคมนาคมดังกล่าวกว่า 13 ปี จึงยังมีข้อแย้งกันอยู่ว่า ที่ดินเนื้อที่ 10 ไร่ 33 ตารางวา ดังกล่าวที่ถูกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมประกาศสงวนที่ดินเพื่อประโยชน์แก่งานทางนั้นเป็นที่ดินของรัฐซึ่งมิได้มีบุคคลเข้าครอบครองอันจะเข้าหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจที่จะออกประกาศสงวนที่ดินเพื่อประโยชน์แก่งานทางได้หรือไม่ ในชั้นนี้ยังฟังไม่ได้ว่า ที่ดินเนื้อที่ 10 ไร่ 33 ตารางวา อันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดิน (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2305 เป็นที่ดินของรัฐซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่จะโอนขายให้แก่กันมิได้ตามกฎหมายอันจะเป็นผลให้การขายทอดตลาดที่ดินส่วนดังกล่าวนี้ตกเป็นโมฆะ ดังนั้น การขายทอด ตลาดที่ดินส่วนดังกล่าวนี้ยังไม่เสียไป โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 2305 จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมได้สิทธิในที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 2305 ไปทั้งแปลง ซึ่งก็ได้มีการจดทะเบียนโอนสิทธิในที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 2305 ทั้งแปลงให้แก่โจทก์แล้วเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2547 และตามสำเนาหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน ซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 2305 จากการขายทอดตลาดที่โจทก์ทำกับเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้น ข้อ 4 ของสัญญาระบุไว้ว่า “เป็นที่เข้าใจกันชัดเจนว่ากรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินรายนี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจขายได้มากน้อยเพียงใด ข้าพเจ้ารับซื้อไว้เท่านั้น การกำหนดเขตที่ดินโดยกว้างยาวและการบอกประเภทที่ดินตามประกาศขายทอดตลาดนั้น เป็นแต่กล่าวไว้โดยประมาณ ถึงแม้ว่าเนื้อที่ดินจะขาดหรือเกินไปหรือบอกประเภทของที่ดินผิดไปประการใดก็ดี ไม่ถือว่าเป็นข้อที่จะทำลายสัญญาซื้อขายนี้ได้” ดังนั้นแม้แขวงการทางนครพนมจะคัดค้านการที่โจทก์ขอนำรังวัดออกโฉนดที่ดินแทน น.ส. 3 ก. เลขที่ 2305 โดยอ้างว่าล้ำที่ดินสงวนเพื่อประโยชน์แก่งานทางที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ขอสงวนไว้นั้น ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดและได้รับโอนสิทธิในที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 2305 มาแล้วทั้งแปลงต้องต่อสู้กับกรมทางหลวงหรือกระทรวงคมนาคมต่อไป เจ้าพนักงานบังคับคดีหรือจำเลยไม่ต้องรับผิดชอบ เงินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้มาจากการขายทอดตลาดที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 2305 จำนวน 3,200,000 บาท จากโจทก์แล้วจ่ายให้แก่จำเลยในฐานะที่จำเลยเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจำนวน 2,946,247 บาท ตามใบคำขอรับเงินนั้น ถูกต้องตามขั้นตอนของการบังคับคดีในทางแพ่ง ไม่มีเงินส่วนใดที่จะถือได้ว่าเป็นเงินที่จำเลยรับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบอันจะทำให้จำเลยต้องคืนให้แก่โจทก์ในฐานที่เป็นลาภมิควรได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในประเด็นเรื่องอายุความเพราะไม่อาจทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไปได้
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share