คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 351/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ที่โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาเพื่อให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงใหม่ แล้วนำไปวินิจฉัยข้อกฎหมาย อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 การเลิกจ้างจะเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ จะต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุจริงหรือไม่ และเหตุนั้นเป็นเหตุสมควรจะเลิกจ้างได้หรือไม่ คดีนี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์กระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ถือได้ว่ามีเหตุอันสมควรที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ข้อ 6 ทวิ และข้อ 7 ระบุว่าในกรณีที่พนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทยมีกรณีต้องหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกสอบสวนหรือฟ้องคดีอาญาหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญา จำเลยจะต้องรอฟังผลการสอบสวนหรือพิจารณาเมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ดำเนินการสอบสวนตามขั้นตอนแล้วจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ฐานประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้เสียหายแก่กิจการจำเลยอย่างร้ายแรงเป็นคำสั่งที่ชอบและเป็นธรรมซึ่งตามข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวไม่จำเป็นต้องรอฟังผลการพิจารณาคดีของศาลก่อน จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างได้ทันที คดีที่จำเลยฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ยังไม่ปรากฏผลของคดี ค่าเสียหายจึงยังไม่แน่นอน จำเลยจะนำเอาค่าเสียหายดังกล่าวมาหักจากเงินสะสมของโจทก์หาได้ไม่ และไม่มีเหตุที่จำเลยจะรอการจ่ายเงินสะสมไว้ได้ จึงต้องคืนเงินสะสมให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย ครั้งสุดท้ายเป็นผู้ปฏิบัติงานระดับ 6 ตำแหน่งพนักงานควบคุมย่านตรี (ย่านโดยสาร)ได้รับเงินเดือน เดือนละ 6,090 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 300 บาทต่อมาจำเลยมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงาน โดยอ้างว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับและระเบียบการเดินรถ พ.ศ. 2524 ข้อ 107(1) กับให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย โจทก์ไม่ได้กระทำผิดและไม่ได้กระทำโดยประมาทดังที่จำเลยอ้างการสอบสวนของคณะกรรมการที่จำเลยตั้งขึ้นมาไม่ชอบ เพราะไม่ได้ส่งคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนให้โจทก์ทราบล่วงหน้า 7 วัน ทั้งการที่จำเลยมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลย เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งไล่ออกของจำเลยที่ พ.1/นท.1/6953/2529ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2529 และบังคับจำเลยจ่ายเงินสะสมพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 44,748.84 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 9 ต่อปีจากต้นเงิน 29,314.36 บาท นับถัดจากวันฟ้อง จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 14,643.75 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 10,650 บาท นับถัดจากวันฟ้อง จ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 52,717.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5ต่อปีจากต้นเงิน 38,340 บาท นับถัดจากวันฟ้อง จ่ายค่าเสียหายจำนวน2,317,188 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเงินทุนจำนวนเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับและระเบียบการเดินรถ พ.ศ. 2524 ข้อ 107(1) เป็นเหตุให้เสียหายแก่กิจการของจำเลยอย่างร้ายแรงซึ่งมีโทษถึงไล่ออกจำเลยตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์ตามข้อบังคับแล้วจึงไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์กระทำผิดวินัยและกระทำความผิดทางอาญาด้วย จำเลยจึงลงโทษไล่โจทก์ออกจากงานได้โดยไม่ต้องรอฟังผลคดีอาญา โจทก์ไม่มีสิทธิกลับเข้าทำงานและไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย คำฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุม จำเลยใช้สิทธิหักกลบลบหนี้เงินสะสมของโจทก์กับค่าเสียหายที่โจทก์ก่อขึ้นซึ่งยังไม่เพียงพอกับที่จำเลยเสียหาย จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์กระทำผิด โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย โจทก์ถูกไล่ออกจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือน เงินสงเคราะห์ตกทอดแก่ทายาทโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับ จึงนำมาเป็นฐานเรียกร้องค่าเสียหายไม่ได้ ส่วนค่าเสียหายหากโจทก์เสียหายก็ควรได้รับเท่ากับเงินเดือนสุดท้ายเป็นเวลา 2 ปี ดอกเบี้ยในเงินต่าง ๆ ที่โจทก์เรียกมาส่วนที่เกินกว่า 5 ปี ขาดอายุความแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมไม่เคลือบคลุม จุดที่โจทก์รับผิดชอบไม่ใช่ทางประธาน จึงนำข้อบังคับและระเบียบเกี่ยวกับการเดินรถ พ.ศ. 2524 ข้อ 107(1) มาใช้กับกรณีนี้ไม่ได้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรงวันเกิดเหตุโจทก์เป็นผู้ควบคุมรับผิดชอบประแจกลไฟฟ้าหมายเลข 33 ก.เหล็กตกรางหมายเลข 1 โจทก์ทำการกลับประแจเวลา 8.10 นาฬิกาหน้าที่ของโจทก์เมื่อเปิดประแจแล้วไม่มีเหตุที่จะทิ้งไว้นานถึง 33นาที โดยไม่ทำการตรวจสอบ เพราะแผงควบคุมการเดินรถที่หอสัญญาณจะแสดงอินดิเคเตอร์เป็นสีแดงให้ทราบตลอดเวลาแสดงว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่เอาใจใส่ ขาดความระมัดระวัง ขาดความรับผิดชอบและโจทก์เลินเล่อเพราะเข้าใจว่า ทางถูกปิดซ่อมจึงไม่ตรวจสอบแม้โจทก์จะถูกฟ้องคดีอาญาข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง แต่คดีนี้ไม่เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีอาญา เมื่อโจทก์ประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยเสียหายอย่างร้ายแรงการกระทำของโจทก์จึงเป็นความผิดตามข้อ 47(5) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน การเลิกจ้างของจำเลยเป็นคำสั่งที่ชอบและเป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์ถูกไล่ออกจากงานจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือน เงินสงเคราะห์ตกทอดแก่ทายาทโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องสำหรับเงินสะสมจำเลยฟ้องคดีโจทก์ให้ชดใช้ค่าเสียหายจำเลยจึงสงวนสิทธิที่จะไม่คืนเพื่อรอการหักกลบลบหนี้ได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า การกระทำของโจทก์เป็นการประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่16 เมษายน 2515 ข้อ 47(5) หรือไม่ โจทก์กล่าวในอุทธรณ์โดยยกข้อเท็จจริงว่า โจทก์เปิดประแจโดยคนงานของฝ่ายบำรุงทางขอให้เปิด เมื่อเปิดประแจแล้วอินดิเคเตอร์ไม่ได้มีสีแดงตลอดเวลาการเปิดประแจและเหล็กตกรางไว้นานเท่าใดไม่ใช่สาระสำคัญที่จะฟังว่า โจทก์กระทำโดยประมาทเลินเล่อเพราะผู้ที่อยู่บนหอสัญญาณจะมองไม่เห็นที่ตั้งประแจกลไฟฟ้าหมายเลข 33 ก. และเหล็กตกรางหมายเลข 1 จึงไม่อาจรู้ว่ารถบำรุงทางได้ผ่านประแจหรือยัง หากยังไม่ได้รับแจ้งจากผู้ขอก็จะยังไม่ปิด สาระสำคัญจึงอยู่ที่ว่าได้มีการแจ้งให้โจทก์ทราบหรือยังว่าทำการตามที่ขอให้เปิดเสร็จแล้วหากแจ้งแล้วโจทก์ยังไม่ปิดจึงจะถือว่าโจทก์กระทำการโดยประมาทเลินเล่อ เห็นว่า เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมา เพื่อให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงใหม่ แล้วนำไปวินิจฉัยข้อกฎหมายที่โจทก์ยกขึ้นดังกล่าวมาแล้วข้างต้น อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์อุทธรณ์ประการที่สองว่า จำเลยดำเนินการสอบสวนโจทก์โดยไม่ชอบด้วยข้อบังคับ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้นเห็นว่าการที่จะพิจารณาว่าการเลิกจ้างจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่จะต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุจริงหรือไม่ และเหตุนั้นเป็นเหตุที่สมควรจะเลิกจ้างได้หรือไม่ ส่วนกรณีที่จะต้องมีการสอบสวนและการสอบสวนจะต้องปฏิบัติอย่างไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง จะนำมาเป็นหลักในการพิจารณาว่าการสอบสวนของจำเลยไม่ถูกต้องตามข้อบังคับแล้วจะถือว่าไม่มีเหตุนั้นในการเลิกจ้างหาได้ไม่ คดีนี้ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยแล้วว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์กระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ถือได้ว่ามีเหตุอันสมควรที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ถูกสอบสวนและถูกฟ้องเป็นคดีอาญาในกรณีเดียวกันซึ่งตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทยฉบับที่ 3.5 ระเบียบวินัยและการลงโทษพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ปรับปรุงใหม่)จำเลยจะกระทำได้แต่เพียงสั่งให้ผู้ถูกสอบสวนออกจากงานไว้ก่อนตามข้อ 6 ทวิ หรือสั่งให้พักงานไว้ก่อนตามข้อ 7 เพื่อรอฟังผลการพิจารณาคดีอาญาเท่านั้น จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่รอฟังผลการพิจารณาคดีของศาลจึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับและเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เห็นว่าตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทยดังกล่าวข้อ 6 ทวิ และข้อ 7 ในกรณีที่พนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทยมีกรณีต้องหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกสอบสวนหรือฟ้องคดีอาญาหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญา และจำเลยจะต้องรอฟังผลการสอบสวนหรือพิจารณา นั้น กรณีของโจทก์ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ดำเนินการสอบสวน ตามขั้นตอนแล้วจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ฐานประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้เสียหายแก่กิจการจำเลยอย่างร้ายแรง เป็นคำสั่งที่ชอบและเป็นธรรม ซึ่งตามข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวไม่จำเป็นต้องรอฟังผลการพิจารณาคดีของศาลก่อน จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้ทันที อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์อุทธรณ์ประการที่สามว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้กระทำผิด จำเลยจึงต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์นั้นเห็นว่า สำหรับค่าเสียหายได้วินิจฉัยแล้วว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายที่โจทก์คิดคำนวณจากค่าจ้างที่จะได้รับในอนาคตรวมทั้งเงินสงเคราะห์รายเดือนและเงินสงเคราะห์ตกทอดแก่ทายาทที่โจทก์อ้างว่าควรจะได้รับหากไม่ถูกไล่ออกจากงาน ส่วนค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ศาลแรงงานกลางฟังว่าโจทก์กระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2514 ข้อ 47(5)ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ และตามข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ 3.5 ระเบียบวินัยและการลงโทษพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ปรับปรุงใหม่) เอกสารหมาย ล.6ข้อ 4 กำหนดว่า “การไล่ออกจะกระทำได้เมื่อพนักงานผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงดังต่อไปนี้
(จ) ประมาทเลินเล่อในหน้าที่การงานเป็นเหตุให้เสียหายหรืออาจจะเสียหายแก่กิจการรถไฟแห่งประเทศไทยอย่างร้ายแรง”
โจทก์กระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยดังกล่าว จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
โจทก์อุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า จำเลยจะต้องคืนเงินสะสมจากกองทุนเงินสะสมเฉพาะส่วนที่เป็นสิทธิของโจทก์ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในข้อนี้จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยใช้สิทธิหักกลบลบหนี้เงินสะสมของโจทก์กับค่าเสียหายที่จำเลยได้รับเนื่องจากการกระทำของโจทก์แล้ว เห็นว่า กรณีคงฟังได้ตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงแต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเงินเท่าใด และที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยฟ้องคดีโจทก์ให้ชดใช้ค่าเสียหายจำเลยจึงสงวนสิทธิที่จะไม่คืนเงินสะสมเพื่อรอการหักกลบลบหนี้ได้นั้นคดีที่จำเลยฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ยังไม่ปรากฏผลของคดีค่าเสียหายของจำเลยจะเป็นจำนวนเงินเท่าใดยังไม่ยุติ ค่าเสียหายจึงยังไม่แน่นอน จำเลยจะนำเอาค่าเสียหายดังกล่าวมาหักจากเงินสะสมของโจทก์หาได้ไม่ และไม่มีเหตุที่จำเลยจะรอการจ่ายเงินสะสมไว้ได้จำเลยจึงต้องคืนเงินสะสมให้แก่โจทก์ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นแต่ศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินสะสมคืนจากจำเลยจำนวนเท่าใด ตั้งแต่เมื่อใด ดอกเบี้ยของเงินสะสมเป็นจำนวนเท่าใด เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในประเด็นเรื่องเงินสะสมตามนัยดังกล่าวข้างต้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางบางส่วนเฉพาะประเด็นเรื่องเงินสะสม ให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาใหม่ในประเด็นข้อนี้ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share