แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารได้เอาประกันภัยประเภทคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถไว้กับโจทก์ จำเลยที่ 3ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ซ่อมรถยนต์ จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ซ่อมรถยนต์และทดลองขับรถและขับด้วยความประมาทเลินเล่อเฉี่ยวชน ห. ถึงแก่ความตายจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับ ส.มารดาของ ห.ต่อมาโจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ส.เป็นเงิน 50,000 บาท เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายเบื้องต้น 10,000 บาทซึ่งโจทก์จะต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นโดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ ความรับผิดให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับการร้องขอเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 20 โจทก์ย่อมมีสิทธิ ไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 ผู้ขับขี่รถที่ก่อให้เกิดความเสียหาย เพราะประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงได้ตามพระราชบัญญัติ คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ มาตรา 31 อันเป็นสิทธิไล่เบี้ย ที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายเฉพาะ มิใช่การรับช่วงสิทธิ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 ทั้งโจทก์ ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาค่าเสียหายเบื้องต้นดังกล่าว จากจำเลยที่ 2 ในฐานะที่เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1ในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้นได้ด้วย แต่โจทก์ไม่มีสิทธิไล่เบี้ยเอาค่าเสียหายเบื้องต้นส่วนนี้จากจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยได้เพราะจำเลยที่ 3 มิได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทั้งไม่ใช่ผู้ขับขี่รถหรือนายจ้างของจำเลยที่ 1 ตามกรมธรรม์ประกันภัย โจทก์จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ประสบภัยในนามของผู้เอาประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 3 ผู้เอาประกันไม่ต้องรับผิดสำหรับการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1โจทก์จึงไม่จำต้องรับผิดชอบใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ประสบภัยในนามของจำเลยที่ 3 ผู้เอาประกันภัย ดังนั้นการที่โจทก์จ่ายเงินอีก 40,000 บาทให้แก่ ส. ไป จึงเป็นการชำระหนี้โดยปราศจากมูลหนี้ไม่อาจรับช่วงสิทธิมาไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ เพราะกรณีไม่เข้าเหตุที่จะรับช่วงสิทธิตามมาตรา 880 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยย่อมไม่อาจจะรับช่วงสิทธิของจำเลยที่ 3 ผู้เอาประกันภัยฟ้องจำเลยที่ 3 ผู้เอาประกันภัยเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้ทำละเมิดต่อนายหทัยผู้ตาย โจทก์มีหน้าที่จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นเพียง 10,000 บาทเท่านั้น แต่โจทก์กลับจ่ายเงินเต็มจำนวน 50,000 บาทจึงไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะเรียกร้องเงิน 50,000 บาท จากจำเลยที่ 2ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 มิได้ทำละเมิด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงไม่มีนิติพันธ์ใด ๆกับจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้พิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารสาธารณะหมายเลขทะเบียน 11-9106 กรุงเทพมหานคร และจำเลยที่ 3ได้เอาประกันภัยประเภทคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเอกสารหมาย จ.4 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ซ่อมรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวตามสัญญาจ้างซ่อมแซมและบำรุงรักษารถยนต์โดยสารเอกสารหมาย ล.3 ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ทำการซ่อมรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวอันเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ในการซ่อมรถจำเลยที่ 1 ได้ทดลองขับรถและขับด้วยความประมาทเลินเล่อเฉี่ยวชนนายหทัย มิ่งแก้ว ซึ่งขับรถจักรยานยนต์มาในที่เกิดเหตุเป็นเหตุให้นายหทัยถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับนางใสคำ มิสงอนมารดาของนายหทัยตามบันทึกการเจรจาตกลงค่าเสียหายเอกสารหมาย ล.2 และหนังสือประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย ล.1ตามลำดับ ต่อมาโจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นางใสคำเป็นเงิน 50,000 บาท
คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์จะมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยทั้งสามหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทเป็นกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ซึ่งบังคับให้เจ้าของรถจะต้องจัดให้มีการประกันตามมาตรา 7 ดังนั้น เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายเบื้องต้น10,000 บาท ตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทข้อ 4 ซึ่งโจทก์จะต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นโดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ความรับผิดให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับการร้องขอเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 20 และกฎกระทรวงฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 ผู้ขับขี่รถที่ก่อให้เกิดความเสียหายเพราะประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 31 อันเป็นสิทธิไล่เบี้ยที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายเฉพาะ มิใช่การรับช่วงสิทธิตามมาตรา 880แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งโจทก์ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาค่าเสียหายเบื้องต้นดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 ในฐานะที่เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้นได้ด้วย แต่โจทก์ไม่มีสิทธิไล่เบี้ยเอาค่าเสียหายเบื้องต้นส่วนนี้เอาจากจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยได้เพราะจำเลยที่ 3มิได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทั้งไม่ใช่ผู้ขับขี่รถหรือนายจ้างของจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 31แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
ส่วนจำนวนค่าสินไหมทดแทนอีก 40,000 บาท ที่โจทก์จ่ายให้ฝ่ายผู้ประสบภัยจากรถไปนั้น ตามกรมธรรม์ประกันภัยพิพาทข้อ 2.1โจทก์จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ประสบภัยในนามของผู้เอาประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 3ผู้เอาประกันไม่ต้องรับผิดสำหรับการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1โจทก์จึงไม่จำต้องรับผิดชอบใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ประสบภัยในนามของจำเลยที่ 3 ผู้เอาประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถข้อ 2.1 ดังนั้นการที่โจทก์จ่ายเงินจำนวนนี้ให้แก่นางใสคำไปจึงเป็นการชำระหนี้โดยปราศจากมูลหนี้ไม่อาจรับช่วงสิทธิมาไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ เพราะกรณีไม่เข้าเหตุที่จะรับช่วงสิทธิตามมาตรา 880แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยย่อมไม่อาจจะรับช่วงสิทธิของจำเลยที่ 3 ผู้เอาประกันภัยฟ้องจำเลยที่ 3 ผู้เอาประกันภัยเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ได้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วนฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์