คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6379/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

งานออกแบบปากกาลูกลื่น 2 แบบ ซึ่งประกอบด้วยงานแบบพิมพ์รูปลักษณะปากกาและชิ้นส่วนแม่พิมพ์ งานหุ่นจำลอง งานอิเล็กโทรดหรือแท่งทองแดงที่ใช้ในการทำแม่พิมพ์ งานแม่พิมพ์ และงานรูปทรงและลวดลายตัวปากกา อันเกิดจากการคิดค้นแบบปากกาตั้งแต่ยกร่างรูปทรงและลวดลายในกระดาษร่างให้ปากกามีรูปลักษณะสวยงามสะดุดตาและสะดวกในการใช้สอย แล้วนำมาวิเคราะห์ในเชิงเศรษฐกิจตามหลักวิชาการ ใช้เทคนิคที่เรียกว่าวิศวกรรมคุณค่า คือ วิธีการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ให้มีคุณภาพใช้ได้ดีกว่าสินค้าที่มีอยู่ก่อน และเพื่อให้ได้ต้นทุนการผลิตในราคาต่ำจนได้รูปทรงและลวดลายที่พอใจ แล้วเขียนแบบที่ถูกต้องและทำหุ่นจำลองต่อจากนั้นก็ทำการออกแบบชิ้นส่วนแม่พิมพ์ ออกแบบอีเล็กโทรดหรือแท่งทองแดงที่ใช้ในการทำแม่พิมพ์ ทำอิเล็กโทรดและทำแม่พิมพ์เพื่อใช้ในการทำปากกา เป็นงานสร้างสรรค์อันเกิดจากการนำเอาการสร้างแบบพิมพ์รูปลักษณะของปากกาและแบบแม่พิมพ์ซึ่งเขียนด้วยลายเส้นประกอบเป็นรูปทรงอันเข้าลักษณะศิลปกรรมประเภทงานจิตรกรรม และการสร้างแม่พิมพ์กับหุ่นจำลองของปากกาดังกล่าว ซึ่งเป็นงานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตรที่สัมผัสและจับต้องได้ อันเข้าลักษณะศิลปกรรมประเภทงานประติมากรรม มาประกอบเข้าด้วยกันและสร้างขึ้นเป็นปากกาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการขีดเขียนและเพื่อประโยชน์ทางการค้าอันเป็นประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานจิตรกรรมและประติมากรรมดังกล่าวงานสร้างสรรค์แบบปากกาทั้งสองแบบจึงเป็นงานศิลปประยุกต์อันอาจได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีคุณค่าทางศิลปหรือไม่ หากปรากฏว่างานนั้นผู้สร้างสรรค์ได้ทำหรือก่อให้เกิดงานนั้นด้วยความคิดริเริ่มของตนเองโดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
นายยูเลียน ไมเคิล ฮาร์เลย์ ดีเลย์ นาย ป. นาย ข.กรรมการโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และนายเอิร์น อีริค แวกเนอร์ ผู้รับจ้างจากโจทก์ที่ 1 ได้สร้างสรรค์งานออกแบบปากกาแคนดี้ คอมแพค และแบบปากกาแลนเซอร์ คาเดท ขึ้นขณะที่อยู่ในราชอาณาจักร บุคคลทั้งสี่จึงเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในแบบปากกาทั้งสองแบบ อันเป็นงานศิลปประยุกต์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ.2521 มาตรา 6 ประกอบด้วยมาตรา 4 หลังจากที่ได้ออกแบบปากกาทั้งสองแบบดังกล่าวเสร็จแล้วบุคคลทั้งสี่ได้ทำหนังสือสัญญาโอนลิขสิทธิ์ในแบบปากกาดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสี่ โจทก์ทั้งสี่จึงเป็นผู้ได้ไปซึ่งลิขสิทธิ์และเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในแบบปากกาแคนดี้ คอมแพค และแบบปากกาแลนเซอร์ คาเดทตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 7, 8 และ 15
จำเลยที่ 11 ได้ลักลอบเอาแบบพิมพ์อิเล็กโทรดและเอกสารเกี่ยวกับการจัดทำปากกาแคนดี้ คอมแพค และปากกาแลนเซอร์ คาเดทหรือคลิคทูของโจทก์ทั้งสี่ไป แล้วจำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 11 ให้จัดทำแม่พิมพ์ปากกาแคนดี้ คอมแพค โดยจำเลยที่ 12 และที่ 13 ได้ร่วมทำแม่พิมพ์ด้วย และจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ได้นำหุ่นจำลองปากกาท่อนล่างไปจ้างโรงกลึงทำแม่พิมพ์มีลักษณะเหมือนปากกาแลนเซอร์ คาเดท โจทก์ที่ 2 ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 และโรงกลึงทราบว่าโจทก์ที่ 2 เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในแบบปากกาแคนดี้คอมแพค และแลนเซอร์ คาเดท ขอให้ยุติการผลิตและจำหน่ายปากกาลูกลื่นทั้งสองแบบ จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ผลิตและจำหน่ายปากกาติ๊กแต๊ก ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับปากกาแลนเซอร์ คาเดท กับยังคงจำหน่ายปากกาจ๊อตจอยซึ่งเลียนแบบปากกาแคนดี้ คอมแพคต่อไป ตามพฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 11 ที่ 12 และที่ 13 ได้ร่วมกันทำซ้ำและดัดแปลงแบบปากกาแคนดี้ คอมแพค และจำเลยที่ 1 และที่ 11 ร่วมกันทำซ้ำและดัดแปลงแบบปากกาแลนเซอร์ คาเดท ของโจทก์ทั้งสี่โดยการทำแม่พิมพ์เลียนแบบและปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมแบบปากกาทั้งสองแบบดังกล่าวจากแบบพิมพ์หุ่นจำลอง แม่พิมพ์ และเอกสารเกี่ยวกับการจัดทำปากกาดังกล่าวที่จำเลยที่ 11ลักเอาไป แล้วจำเลยที่ 1 ผลิตปากกาจ๊อตจอยและปากกาติ๊กแต๊กออกจำหน่ายโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นการทำซ้ำและดัดแปลงแบบปากกาที่โจทก์ทั้งสี่เป็นผู้มีลิขสิทธิ์อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทำให้โจทก์ทั้งสี่เสียผลประโยชน์ในทางการค้าและได้รับความเสียหาย จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่ ส่วนจำเลยที่ 3รับว่า จำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 11 ทำแม่พิมพ์และได้มอบหุ่นจำลองปากกาจ๊อตจอยให้จำเลยที่ 11 ไป จำเลยที่ 3 ยังให้จำเลยที่ 11 ทำแบบ 16 แควิตี้ของปากกาจ๊อตจอยให้ จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 3 มีส่วนรู้เห็นและร่วมกับจำเลยที่ 1ทำปากกาจ๊อตจอย อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในแบบปากกาแคนดี้ คอมแพค
ที่โจทก์ที่ 2 ต้องจัดทำกล่องพิเศษบรรจุปากกาทำให้ต้องเพิ่มต้นทุนการผลิตอีกด้ามละ 21 สตางค์ เพื่อป้องกันมิให้เสียลูกค้าไป เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 2 ต้องเสียหายเพราะขาดประโยชน์ที่ควรได้เพิ่มขึ้นอีกนั้น เป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 2 ลงทุนเพิ่มเติมเพื่อเป็นการจูงใจผู้บริโภคและให้สินค้าของโจทก์ที่ 2จำหน่ายได้ดีขึ้น อันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการค้าขาย ยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่าเป็นความเสียหายที่เป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 1ที่ 3 และที่ 11 ถึงที่ 13 โจทก์ที่ 2 จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ได้
แม้พยานหลักฐานของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์จะสามารถจำหน่ายปากกาของโจทก์ได้ถึงจำนวนตามฟ้อง แต่การที่จำเลยผลิตและจำหน่ายปากกาที่เลียนแบบโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในแบบปากกาของโจทก์ ย่อมทำให้โจทก์จำหน่ายปากกาดังกล่าวได้ลดลง ศาลมีอำนาจกำหนดค่าขาดประโยชน์ของโจทก์ได้ตามควร

Share