แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 นั้น ผู้กระทำต้องมีเจตนาจึงจะเป็นความผิดตามมาตรานี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้บังอาจใช้มือผลักอกพลตำรวจสุวรรณ จูฑะจันทร์ 1 ครั้ง โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นสืบพลตำรวจสุวรรณ จูฑะจันทร์ ผู้เสียหายได้ 1 ปากจึงงดสืบพยาน แล้วพิพากษาว่า ตามคำเบิกความของผู้เสียหายไม่เป็นการส่อแสดงว่าจำเลยมีเจตนาทำร้ายร่างกายแต่อย่างใด สืบพยานโจทก์ต่อไปก็ไม่ทำให้คดีชัดขึ้น พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า การผลักอกผู้เสียหายโดยไม่มีเจตนาทำร้าย ก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 แล้ว
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 เป็นความผิดลหุโทษ ซึ่งมาตรา 104 บัญญัติว่า แม้กระทำโดยไม่มีเจตนาก็เป็นความผิด เว้นแต่ตามบทบัญญัติความผิดนั้นจะมีความบัญญัติให้เห็นเป็นอย่างอื่น ปัญหาจึงมีว่า มาตรา 391 มีความบัญญัติให้เห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่เห็นว่า มาตรา 391 บัญญัติว่า “ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจต้องระวางโทษ…..ฯลฯ” การใช้กำลังย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าต้องมีเจตนา ประกอบกับคำว่า ทำร้าย เป็นการชัดแจ้งว่าต้องมีเจตนากระทำต่อร่างกายหรือจิตใจของผู้อื่น คือ ต้องมีเจตนาทำร้าย เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยใช้กำลังผลักอกผู้เสียหายมิให้ผู้เสียหายขึ้นไปบนอัฒจันทร์ โดยจำเลยมิได้มีเจตนาทำร้าย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้องศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ ชอบด้วยรูปคดีแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน