คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6366/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 นำที่ดินของโจทก์ด้านทิศใต้ไปขอออก น.ส.3 ก.แปลงหนึ่ง จำเลยที่ 2 นำที่ดินของโจทก์ด้านทิศเหนือไปขอออก น.ส. 3 ก.อีกแปลงหนึ่ง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างให้การว่า ที่พิพาทแต่ละแปลงเป็นของตนทรัพย์ที่พิพาทจึงแยกต่างหากจากกัน เมื่อที่ดินแต่ละแปลงมีราคาไม่เกินสองแสนบาทจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ฎีกาของโจทก์ในปัญหาว่า โจทก์ซื้อที่พิพาทจาก ด. และโจทก์ครอบครองที่พิพาทแทนจำเลยทั้งสองหรือไม่ เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ส่วนปัญหาว่า จำเลยทั้งสองไม่ใช่เจ้าของผู้ครอบครองที่พิพาท การออก น.ส. 3 ก. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นโมฆะนั้นเป็นการเถียงข้อเท็จจริงซึ่งเป็นยุติและต้องห้ามฎีกาเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย จึงมีผลอย่างเดียวกับการฎีกาในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 นำที่ดินของโจทก์ตอนทิศเหนือ ไปออก น.ส. 3 ก.เลขที่ 714 เป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ พ.ศ. 2525 และจำเลยที่ 2 นำที่ดินของโจทก์ตอนทิศใต้ไปออก น.ส. 3 ก. เลขที่ 47 เป็นชื่อของจำเลยที่ 2 ตั้งแต่พ.ศ. 2521 ทั้งที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยครอบครองทำประโยชน์ การออกน.ส. 3 ก. ดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ ขอให้พิพากษาว่า ที่ดินตาม น.ส. 3 ก. เลขที่ 714และเลขที่ 47 เป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเกี่ยวข้อง ให้เพิกถอนชื่อจำเลยทั้งสองทางทะเบียนดังกล่าวและใส่ชื่อโจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยที่ 1 ให้การว่า การออก น.ส.3 ก. เลขที่ 714 ให้แก่จำเลยที่ 1 ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 47 การขอออก น.ส.3 ก. ดังกล่าวเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินของโจทก์ด้านทิศเหนือไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 714แปลงหนึ่ง และจำเลยที่ 2 นำที่ดินของโจทก์ด้านทิศใต้ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 47 อีกแปลงหนึ่ง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างให้การว่า ที่พิพาทแต่ละแปลงเป็นของตน ทรัพย์ที่พิพาทจึงแยกต่างหากจากกันโดยราคาทุนทรัพย์ที่พิพาทของจำเลยที่ 1 จำนวน 71,800 บาท และราคาทุนทรัพย์ที่พิพาทของจำเลยที่ 2 จำนวน 193,200 บาท ดังนั้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกา จึงไม่เกินสองแสนบาท ห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฎีกา ในปัญหาว่า โจทก์ได้ซื้อที่พิพาทจากจ่าสิบเอกดลชัยหรือไม่และโจทก์ครอบครองที่พิพาทแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ อันเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงและฎีกาข้อ 3 ที่ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ใช่เจ้าของผู้ครอบครองที่พิพาทการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นโมฆะนั้น เป็นการเถียงข้อเท็จจริงซึ่งเป็นยุติและต้องห้ามฎีกาเพื่อสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์จึงมีผลอย่างเดียวกับการฎีกาในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาโจทก์

Share