คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7622/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3บัญญัติคำนิยามคำว่า “ภาชนะขนส่ง” หมายความว่า ตู้สินค้าไม้รองสินค้า หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันซึ่งใช้บรรจุหรือรองรับของ หรือใช้รวมหน่วยการขนส่งของหลายหน่วยเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ในการขนส่งทางทะเล และคำว่า”หน่วยการขนส่ง” หมายความว่า หน่วยแห่งของที่ขนส่งทางทะเลซึ่งนับเป็นหนึ่ง และแต่ละหน่วยอาจทำการขนส่งไปตามลำพังได้เช่น กระสอบ ชิ้น ถัง ตู้ ม้วน ลัง ลูก ห่อ หีบ อัน หรือหน่วยที่เรียกชื่ออย่างอื่น สินค้าพิพาทบรรจุอยู่ในถุงพลาสติกและมีเชือกรัดปากถุงไว้ และบรรจุอยู่ในถังกระดาษไฟเบอร์มีฝาเหล็กปิดโดยรอบแล้วใช้นอตขันห่วงให้ยึดไว้ แต่ละถังบรรจุของหนัก 25 กิโลกรัม รวม 375 ถัง บรรจุรวมอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์เดียว และตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.2 หรือล.2 ในช่อง “คำพรรณนาสินค้า” ระบุว่า ตู้คอนเทนเนอร์ 1×20 ฟุตบรรจุอาหารสัตว์ 375 ถัง ฯลฯ จึงเป็นการแสดงว่าแต่ละถังที่บรรจุสินค้าคือยารักษาไก่ มีสภาพสามารถทำการขนส่งไปตามลำพังได้ จึงถือว่า แต่ละถังที่บรรจุสินค้าพิพาทเป็น”หนึ่งหน่วยขนส่ง” ตามคำนิยามในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ส่วนตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าพิพาทดังกล่าวถือเป็นภาชนะขนส่ง การคำนวณค่าเสียหาย ที่จำเลยจะต้องรับผิดจึงต้องคำนวณตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 58 วรรคหนึ่งประกอบด้วยมาตรา 59(1) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อเปรียบเทียบจำนวนเงินค่าเสียหายโดยใช้หน่วยการขนส่งของสินค้าพิพาทเป็นหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณจะมากกว่าจำนวนเงินค่าเสียหายโดยใช้น้ำหนักแห่งสินค้าพิพาทเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายในจำนวนเงินที่มากกว่าตามมาตรา 58 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 59(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้เงิน 1,758,883 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 เมษายน 2536จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 281,250 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 เมษายน 2536จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,758,883 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติตามที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังมาว่าโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยความเสียหายหรือสูญหาย สินค้ายารักษาไก่25 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 375 ถึง ๆ ละ 25 กิโลกรัม ซึ่งสินค้าพิพาทถังที่บรรจุสินค้าพิพาทเป็นถังไฟเบอร์ปิดด้วยฝาโลหะ และรัดโดยห่วงล็อคผูกปากถุงด้วยเชือกโพลี่จากบริษัทเอ็ม แอนด์ เอ็ช แมนูแฟคเจอริง จำกัด ผู้เอาประกันภัยเป็นเงิน 1,758,883 บาท ตามกรมธรรม์ประกันภัยพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.1 สินค้าพิพาทผู้เอาประกันภัยซื้อมาจากบริษัทเมอร์ก ชาร์ป แอนด์ โดม อินเตอร์เนชั่นแนล อิ้งค์ จำกัดผู้ขาย และได้บรรจุสินค้าพิพาทรวมอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์จำนวน1 ตู้ เลขที่ อี เอ็ม ซี ยู 2849210 โดยจำเลยเป็นผู้รับจ้างขนส่งทางทะเล สินค้าพิพาทลงเรือ “เอเวอร์ลิงกิ้ง” เดินทางจากเมืองทาโคม่า ประเทศสหรัฐอเมริกา มายังท่าเรือกรุงเทพมหานครแต่ระหว่างทางมีการขนถ่ายสินค้าลงเรืออื่นที่เมืองฮ่องกงอีกต่อหนึ่ง เรือที่ขนส่งสินค้าพิพาทได้เกิดเหตุชนกันกับเรืออื่นทำให้น้ำทะเลทะลักเข้าเรือสินค้าพิพาทเปียกน้ำ เมื่อเรือยูนิเมอร์ซี่ที่ขนส่งสินค้าพิพาทเดินทางต่อมาถึงท่าเรือกรุงเทพมหานครบริษัทเอ็ม แอนด์ เอ็ช แมนนูแฟคเจอร์ริงจำกัด ผู้รับตราส่งได้รับตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งบรรจุสินค้าพิพาทแล้วเปิดตรวจสอบดู ปรากฏว่าสินค้าพิพาทที่บรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์เปียกน้ำทะเลและเสียหายทั้งหมดไม่สามารถใช้การได้ โจทก์ผู้รับประกันภัยสินค้าพิพาทจึงได้จ่ายค่าเสียหายให้แก่บริษัทเอ็ม แอนด์ เอ็ช แมนูแฟคเจอร์ริง จำกัด ผู้เอาประกันเป็นเงิน 1,758,883 บาท ตามสัญญากรมธรรม์ โจทก์รับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวจากจำเลย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าสินค้าพิพาทจำนวน 375 ถังที่บรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ 1 ตู้ ถือเป็นหนึ่งหน่วยการขนส่งอันต้องด้วยข้อจำกัดความรับผิดที่จำเลยต้องชดใช้แก่โจทก์ตามบทบัญญัติในมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ. 2534 หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า นายเหลียง วรพิพัฒน์กำธรผู้รับมอบอำนาจจำเลยและนางสาวชลธร สุวรรณวัฒน์ พยานจำเลยต่างเบิกความยืนยันว่าหน่วยการขนส่งสินค้าพิพาทในคดีนี้มีเพียงหนึ่งหน่วยการขนส่ง เพราะตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าพิพาทถือเป็นหน่วยการขนส่งและตามใบตราส่ง (BILL OF LADING)เอกสารหมาย จ.2 หรือ ล.2 ก็ระบุไว้ชัดเจนว่า “สินค้ามีจำนวน1 ตู้คอนเทนเนอร์” เท่านั้น จำเลยไม่ได้เป็นผู้บรรจุสินค้าลงในตู้คอนเทนเนอร์หรือตรวจนับสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ ดังนั้นสินค้าที่ระบุในใบตราส่งเอกสารหมาย จ.2 ว่า ถังบรรจุสินค้าพิพาทจำนวน 375 ถัง จึงเป็นเรื่องที่ผู้ส่งของเป็นผู้แจ้งเท่านั้นจำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์โดยถือน้ำหนักสินค้าเป็นเกณฑ์ คือกิโลกรัมละ 30 บาท ต่อน้ำหนักสุทธิแห่งของนั้น ซึ่งสินค้าพิพาทน้ำหนักถังละ 25 กิโลกรัม จำนวน 375 ถัง เป็นน้ำหนักรวม7,375 กิโลกรัม คำนวณค่าเสียหายกิโลกรัมละ 30 บาท รวมเป็นเงิน281,250 บาท เป็นการชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 1,758,883 บาทเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ. 2534 มาตรา 3 ซึ่งบัญญัติคำนิยามไว้ว่า “ภาชนะขนส่ง”หมายความว่าตู้สินค้า ไม้รองสินค้าหรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ซึ่งใช้บรรจุหรือรองรับของหรือใช้รวมหน่วยการขนส่งของหลายหน่วยเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ในการขนส่งทางทะเล” และคำว่า”หน่วยการขนส่ง” หมายความว่า หน่วยแห่งของที่ขนส่งทางทะเลซึ่งนับเป็นหนึ่งและแต่ละหน่วยอาจทำการขนส่งไปตามลำพังได้ เช่นกระสอบ ชิ้น ถัง ตู้ ม้วน ลัง ลูก ห่อ หีบ อัน หรือหน่วยที่เรียกชื่ออย่างอื่น และมาตรา 58 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า”ภายใต้บังคับมาตรา 60 ในกรณีที่ของซึ่งผู้ขนส่งได้รับมอบหมายสูญหายหรือเสียหายไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เพียงหนึ่งหมื่นบาทต่อหนึ่งหน่วยการขนส่งหรือกิโลกรัมละสามสิบบาทต่อน้ำหนักสุทธิแห่งของนั้นแล้วแต่เงินจำนวนใดจะมากกว่า ฯลฯ” และมาตรา 59 บัญญัติว่า “ในการคำนวณว่าเงินจำนวนใดจะมากกว่าตามมาตรา 58 วรรคหนึ่งให้ใช้หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่มีการรวมของหลายหน่วยการขนส่งเป็นหน่วยการขนส่งเดียวกันไม่ว่าจะมีการใช้ภาชนะขนส่งบรรจุหรือรองรับหรือไม่ก็ตามถ้าระบุจำนวนและลักษณะของหน่วยการขนส่งที่รวมกันนั้นไว้ในใบตราส่ง ให้ถือว่าของตามใบตราส่งนั้นมีจำนวนหน่วยการขนส่งตามที่ระบุไว้นั้น แต่ถ้ามิได้ระบุ ให้ถือว่าของทั้งหมดที่รวมเป็นหน่วยการขนส่งเดียวกันนั้นเป็นหนึ่งหน่วยการขนส่ง จากบทบัญญัติดังกล่าว แสดงให้เห็นว่ากฎหมายได้บัญญัติกำหนดลักษณะและสภาพของที่ได้ขนส่งทางทะเลไว้แยกต่างหากกับภาชนะที่ใช้บรรจุหรือรองรับของที่ขนส่งนั้น และหากในกรณีเกิดความสูญหายหรือเสียหายแห่งสิ่งของที่ขนส่งนั้นขึ้น ก็กำหนดหลักเกณฑ์การคิดคำนวณค่าเสียหายแห่งของนั้นไว้เพื่อที่ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ส่งของหรือผู้รับตราส่ง สำหรับกรณีพิพาทนี้จากคำเบิกความของนายพิชิต วองคูวานิช พนักงานสำรวจสินค้าที่เสียหายพยานโจทก์กับรายงานการสำรวจในช่องบันทึกสภาพของการบรรจุตามคำแปลเอกสารหมาย จ.4 ได้ความว่าสินค้าพิพาทบรรจุอยู่ในถุงพลาสติกและมีเชือกรัดปากถุงไว้ และบรรจุอยู่ในถึงกระดาษไฟเบอร์มีฝาเหล็กปิดโดยรอบแล้วใช้นอตขันห่วงให้ยึดแน่นไว้แต่ละถังบรรจุของหนัก 25 กิโลกรัม รวม 375 ถัง บรรจุรวมอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์เดียวและตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.2 หรือ ล.2ในช่อง “คำพรรณนาสินค้า” ระบุว่าตู้คอนเทนเนอร์ 1×20 ฟุต บรรจุอาหารสัตว์ 375 ถัง ฯลฯ จึงเป็นการแสดงว่าแต่ละถังที่บรรจุสินค้าคือยารักษาไก่ มีสภาพสามารถทำการขนส่งไปตามลำพังได้ จึงถือว่าแต่ละถังที่บรรจุสินค้าพิพาทเป็น “หนึ่งหน่วยการขนส่ง” ตามคำนิยามในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534ส่วนตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าพิพาทจำนวน 375 ถัง ถือเป็นภาชนะขนส่ง คือ เป็นตู้สินค้าที่ใช้บรรจุสินค้าที่ใช้บรรจุสินค้าพิพาทอันเป็นหน่วยการขนส่งรวม 375 หน่วยเข้าด้วยกัน เพื่อประโยชน์ในการขนส่งทางทะเล ตามคำนิยามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวจะถือเอาตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 1 ตู้ เป็นหนึ่งหน่วยของหน่วยการขนส่งตามที่จำเลยอ้างหาได้ไม่ ดังนั้น การคำนวณค่าเสียหายที่จำเลยจะต้องรับผิดต้องคำนวณตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 58 วรรคหนึ่งประกอบด้วยมาตรา 59(1) แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ. 2534 สำหรับกรณีสินค้าพิพาทที่เสียหาย หากใช้หน่วยการขนส่งเป็นหลักเกณฑ์ในการคำนวณค่าเสียหาย ซึ่งจำกัดความรับผิดค่าเสียหาย10,000 บาท ต่อหนึ่งหน่วยการขนส่งหรือหนึ่งถังรวม 375 ถังซึ่งในใบตราส่งหมาย จ.2 ได้ระบุสินค้าพิพาทจำนวน 375 ถัง อันเป็นหน่วย การขนส่งที่บรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์อันเป็นภาชนะขนส่งแล้วคิดเป็นเงิน 3,750,000 บาท แต่ถ้าใช้หน่วยน้ำหนักสุทธิแห่งสินค้าพิพาทนั้นมาคำนวณเป็นค่าเสียหาย สินค้าพิพาทบรรจุเป็นถังรวม 375 ถัง น้ำหนักถังละ 25 กิโลกรัม รวมน้ำหนักสุทธิ9,375 กิโลกรัม จำกัดความรับผิดค่าเสียหายกิโลกรัมละ 30 บาทรวมเป็นเงิน 281,250 บาท จะเห็นได้ว่าเมื่อเปรียบเทียบจำนวนเงินค่าเสียหายทั้งสองจำนวนดังกล่าวแล้ว จำนวนเงินค่าเสียหายโดยใช้หน่วยการขนส่งของสินค้าพิพาทเป็นหลักเกณฑ์ในการคำนวณจะมากกว่าจำนวนเงินค่าเสียหายโดยใช้น้ำหนักแห่งสินค้าพิพาทเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายในจำนวนเงินที่มากกว่าตามมาตรา 58 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 59(1) แห่งพระราชบัญญัติการรับขนทางทะเล พ.ศ. 2534 แต่โจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยไปเพียง 1,758,883 บาท โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยได้เพียงเท่าจำนวนเงินที่จ่ายไปจริงดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ได้รับนั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share