คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7617/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์ 74,000 บาท และสั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบให้โจทก์ไว้เพื่อชำระหนี้กู้ยืม จำเลยให้การว่าจำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินจากโจทก์และไม่เคยมอบเช็คให้แก่โจทก์ โจทก์กับจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ ต่อกัน จึงไม่มีมูลหนี้ที่โจทก์จะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็คพิพาทได้ ตามคำฟ้องและคำให้การมีประเด็นข้อพิพาทเพียงว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้กู้ยืมหรือไม่ ไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องโจทก์รับโอนเช็คมาจากผู้อื่นโดยคบคิดกันฉ้อฉลจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 916 ดังนั้นการที่ศาลล่างทั้งสองยกมาตรา 916 มาปรับแล้ววินิจฉัยให้จำเลยรับผิดโดยอาศัยบทมาตราดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง เป็นการวินิจฉัยนอกเหนือไปจากคำฟ้องคำให้การ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน ๗๖,๒๐๔.๔๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๗๔,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๗๔,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๔๐ เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๔๐) ต้องไม่เกินจำนวน ๒,๒๐๔.๔๓ บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ ๖๐๐ บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาในคำพิพากษาศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาร้อยเอ็ด ลงวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๐ จำนวน ๗๔,๐๐๐ บาท ต่อมาโจทก์นำเช็คพิพาทดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารผู้จ่ายปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คและใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ. ๒ และ จ. ๓ ตามลำดับ มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยจะต้องรับผิดตามเช็คหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์ ๗๔,๐๐๐ บาท และสั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบให้โจทก์ไว้เพื่อชำระหนี้กู้ยืม จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินจากโจทก์และไม่เคยมอบเช็คให้แก่โจทก์ โจทก์กับจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ ต่อกัน จึงไม่มีมูลหนี้ที่โจทก์จะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็คพิพาทได้ ตามคำฟ้องและคำให้การประเด็นข้อพิพาทมีเพียงว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้กู้ยืมหรือไม่ ไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องโจทก์รับโอนเช็คมาจากผู้อื่นโดยคบคิดกันฉ้อฉลจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา ๙๑๖ ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองยกมาตรา ๙๑๖ ขึ้นมาปรับ แล้ววินิจฉัยให้จำเลยรับผิดโดยอาศัยบทมาตราดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง เป็นการวินิจฉัยนอกเหนือไปจากคำฟ้อง คำให้การ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๒ คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเพียงว่า จำเลยได้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์หรือไม่ ตามทางนำสืบโจทก์คงมีเพียงตัวโจทก์ปากเดียวเบิกความลอย ๆ ว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์และออกเช็คพิพาทให้โจทก์ไว้ แต่กลับได้ความจากคำเบิกความโจทก์ว่าจำเลยมิได้นำเช็คพิพาทมามอบให้โจทก์ ผู้ที่มอบเช็คของจำเลยให้โจทก์ คือ เพื่อนพนักงานที่ทำงานด้วยกันเป็นผู้นำเช็คมามอบให้ โดยโจทก์ไม่ได้ระบุว่าเป็นใคร เพิ่งจะเบิกความตอบคำถามค้านว่า ผู้นำเช็คพิพาทมามอบคือ นายทองบุญ บุญวิเศษ ทำงานอยู่ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาเดียวกันกับโจทก์ นายทองบุญได้ลาออกและหลบหนีไปแล้ว และกลับเบิกความว่านายทองบุญเป็นผู้รับเงิน และมอบเช็คให้ไว้เป็นประกัน โจทก์ไม่เคยติดต่อกับจำเลยก่อนที่จะมีการมอบเงินให้นายทองบุญไป ครั้นเช็คถึงกำหนด โจทก์ก็ติดต่อทวงถามให้นายทองบุญนำเงินมาชำระ เพิ่งจะทวงถามเอาจากโจทก์ เมื่อนายทองบุญได้ออกไปจากธนาคารกรุงไทย จำกัด แล้ว ข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของโจทก์เองกลับแสดงว่า จำเลยมิได้กู้ยืมเงินโจทก์ เช็คพิพาทนายทองบุญมอบให้โจทก์ไว้เพื่อเป็นหลักประกัน ทั้งก่อนการกู้ยืมและเช็คถูกปฏิเสธแล้วโจทก์ไม่เคยติดต่อและทวงถามให้จำเลยชำระเงิน เพิ่งมาทวงถามเมื่อนายทองบุญได้หลบหนีไปแล้ว ด้วยเหตุนี้เองจึงมีการทวงถามจากจำเลยหลังเช็คถึงกำหนดแล้วประมาณ ๒ เดือนเศษ สรุปแล้วโจทก์นำสืบได้ไม่สมฟ้อง เมื่อจำเลยเบิกความยืนยันว่าจำเลยไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์จึงต้องฟังว่าจำเลยมิได้กู้ยืมเงินโจทก์ดังฟ้อง โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินตามเช็คพิพาท ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยรับผิดนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share