คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2487/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯข้อ 47ที่กำหนดให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างประจำ ที่ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันนั้นมุ่งหมายมิให้ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่ครั้งเดียวกันหลายวันทำงานฉะนั้น เมื่อลูกจ้างละทิ้งหน้าที่ในวันที่ 18, 19, 20, 21, 22และ 23 แม้วันที่ 19, 21 และ 22 จะเป็นวันหยุดก็ตาม ก็เป็นการละทิ้งหน้าที่ครั้งเดียวกัน ความเสียหายของนายจ้างไม่น้อยไปกว่าลูกจ้างละทิ้งหน้าที่สามวันทำงานโดยไม่มีวันหยุดคั่นจึงถือได้ว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่ตามประกาศดังกล่าวแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด ไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชย ขอศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าและค่าชดเชย
จำเลยให้การว่า โจทก์ละทิ้งหน้าที่การงานเกินกว่า ๓ วันติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายจำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
ชั้นพิจารณาโจทก์จำเลยท้ากันขอให้ศาลวินิจฉัยว่า โจทก์ขาดงานโดยไม่มีเหตุอันสมควรติดต่อกันสามวันทำงานหรือไม่ ถ้าเป็นให้ศาลพิพากษายกฟ้อง ถ้าไม่เป็นก็ให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินแก่โจทก์ตามฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การขาดงานของโจทก์เป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ ๔๗ กำหนดว่า “นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างประจำซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้(๑) ฯลฯ (๔) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร (๕) ฯลฯ” บทบัญญัตินี้มีความมุ่งหมายมิให้ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่ครั้งเดียวกันหลายวันทำงาน เพราะทำให้นายจ้างเสียหายมากโจทก์ขาดงานโดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นการละทิ้งหน้าที่คือ วันที่ ๑๘ โจทก์ขาดงานวันที่ ๑๙ เป็นวันหยุด วันที่ ๒๐ โจทก์ขาดงาน วันที่ ๒๑, ๒๒ เป็นวันหยุดวันที่ ๒๓ โจทก์ขาดงาน ดังนี้ การละทิ้งหน้าที่ของโจทก์เป็นครั้งเดียวกันความเสียหายของจำเลยไม่น้อยไปกว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่สามวันทำงานโดยไม่มีวันหยุดคั่น ถือว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันตามประกาศดังกล่าวแล้ว
พิพากษายืน

Share