คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7531/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ทำขึ้นเพื่ออำพรางสัญญาซื้อขาย จึงต้องนำบทบัญญัติกฎหมายซื้อขายมาใช้บังคับ จำเลยที่ 1 เพียงแต่ส่งมอบรถยนต์คันพิพาทโดยยังไม่ส่งมอบเอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนแก่จำเลยที่ 2 ทั้งมีข้อตกลงตามสัญญาว่ากรรมสิทธิ์ของรถยนต์ยังไม่โอนให้แก่ผู้ซื้อจนกว่าจะชำระราคาครบถ้วน แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยังไม่มีเจตนาโอนกรรมสิทธิ์ให้จนกว่าจำเลยที่ 2 จะชำระราคาครบถ้วน เมื่อจำเลยที่ 2 ชำระราคายังไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ยังไม่ตกเป็นของจำเลยที่ 2 โจทก์ซื้อรถยนต์คันพิพาทจากจำเลยที่ 2 จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์และไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนสัญญาซื้อขายรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ๗ ฐ – ๓๓๘๖ กรุงเทพมหานคร กับเพิกถอนแบบคำขอจดทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าวซึ่งจำเลยที่ ๑ ยื่นต่อกรมการขนส่งทางบก และแสดงว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันดังกล่าวดีกว่าจำเลยที่ ๑ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันยื่นแบบคำขอจดทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าวต่อกรมการขนส่งทางบกเพื่อให้โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และนายสมศักดิ์ ศักดิ์เจริญ เป็นผู้ครอบครอง หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนา และให้ร่วมกันหรือแทนกันส่งมอบใบคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวแก่โจทก์ หากไม่ดำเนินการดังกล่าวให้ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน ๖๒๒,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนแบบคำขอจดทะเบียนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ๗ ฐ – ๓๓๘๖ กรุงเทพมหานคร ซึ่งจำเลยที่ ๑ ได้ยื่นคำขอต่อกรมการขนส่งทางบก กรุงเทพมหานคร และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันยื่นแบบคำขอจดทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าวต่อกรมการขนส่งทางบกที่รับผิดชอบให้แก่โจทก์ ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง หากไม่สามารถจดทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์ได้ไม่ว่ากรณีใด ๆ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ๔๕๔,๕๓๗.๒๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๒ ชำระเงินจำนวน ๔๕๔,๕๓๗.๒๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้จำหน่ายรถยนต์โอเปิลแต่ผู้เดียวในประเทศไทย จำเลยที่ ๒ เป็นผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ของจำเลยที่ ๑ ในเขตจังหวัดชลบุรี รถยนต์โอเปิลรุ่นแอสตร้าคันพิพาท เดิมเป็นของจำเลยที่ ๑ ต่อมาวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๖ จำเลยที่ ๒ ขายให้แก่โจทก์ และในวันเดียวกันนั้น โจทก์ให้นายสมศักดิ์เช่าซื้อไป ต่อมานายสมศักดิ์ผิดสัญญาเช่าซื้อ และคืนรถยนต์คันพิพาทแก่จำเลยที่ ๒ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา และเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๓๗ จำเลยที่ ๑ ยื่นคำขอจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทต่อกรมการขนส่งทางบกในนามของจำเลยที่ ๑ และขายให้แก่จำเลยที่ ๑ เอง เจ้าพนักงานได้จดทะเบียนให้และออกแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์เป็นหมายเลข ๗ ฐ – ๓๓๘๖ กรุงเทพมหานคร
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ ๑ จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่เพียงใด จำเลยที่ ๑ อ้างว่า รถยนต์คันพิพาทเป็นของจำเลยที่ ๑ ให้จำเลยที่ ๒ เช่าซื้อไปโดยกำหนดชำระค่าเช่าซื้อให้เสร็จสิ้นภายใน ๓ งวดเดือน เห็นว่า สัญญาดังกล่าวกำหนดระยะเวลาการชำระค่าเช่าซื้อไว้เพียง ๓ งวดเดือน ผิดจากสัญญาเช่าซื้อ ที่โจทก์ทำกับนายสมศักดิ์ซึ่งกำหนดระยะเวลาการชำระค่าเช่าซื้อไว้ถึง ๔๘ งวดเดือน ผิดปกติประเพณีของการเช่าซื้อโดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ ๒ เป็นผู้จำหน่ายรถยนต์ของจำเลยที่ ๑ เงื่อนไขของกำหนดระยะเวลาในการชำระค่าเช่าซื้อน่าจะเป็นคุณแก่จำเลยที่ ๒ มากกว่าลูกค้าทั่วไป ทั้งตามสัญญาเช่าซื้อยังระบุโดยหมายเหตุไว้ด้วยว่า กรรมสิทธิ์ของรถยนต์ยังไม่ได้โอนให้แก่ผู้ซื้อจนกว่าจะชำระราคาครบถ้วน จึงเชื่อว่านิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ ดังกล่าวไม่ใช่ตัวการหรือตัวแทน แต่เป็นสัญญาซื้อขายที่กำหนดเงื่อนไขในการชำระราคาให้ผ่อนชำระเป็น ๓ งวด สัญญาเช่าซื้อทำขึ้นโดยเจตนาเพื่ออำพรางสัญญาซื้อขาย จึงต้องนำบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวด้วยการซื้อขายมาใช้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๕ วรรคสอง การขายรถยนต์คันพิพาท จำเลยที่ ๑ ยังไม่ส่งมอบเอกสารเกี่ยวกับรถยนต์คันพิพาทที่จะต้องใช้เพื่อการจดทะเบียน เพียงแต่ส่งมอบรถยนต์คันพิพาทให้อย่างเดียว แสดงว่าจำเลยที่ ๑ ยังไม่มีเจตนาโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ จนกว่าจำเลยที่ ๒ จะชำระราคาครบถ้วน เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ ๒ ชำระราคาแก่จำเลยที่ ๑ ยังไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันพิพาทจึงไม่ตกเป็นของจำเลยที่ ๒ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๕๙ การที่โจทก์ซื้อรถยนต์คันพิพาทจากจำเลยที่ ๒ โจทก์จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ ๑ รับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนจำเลยที่ ๑ โดยกำหนดค่าทนายความ ๕,๐๐๐ บาท.

Share