แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การกระทำความผิดของจำเลยต้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา340วรรคท้าย,340ตรีซึ่งตามมาตรา340ตรีเป็นเรื่องที่จะต้องวางโทษจำเลยหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรา340วรรคท้ายกึ่งหนึ่งที่ศาลอุทธรณ์ภาค3เห็นด้วยดับศาลชั้นต้นใช้คำว่าจึงไม่เพิ่มโทษตามมาตรา340ตรีอีกยังไม่ถูกต้องเพราะมาตรา340ตรีเป็นเพียงบทกำหนดโทษไม่ใช่บทเพิ่มโทษแต่เนื่องจากจำเลยต้องได้รับโทษประหารชีวิตตามมาตรา340วรรคท้ายกรณีไม่มีทางที่จะวางโทษหนักขึ้นกึ่งหนึ่งตามที่มาตรา340ตรีบัญญัติไว้จึงนำมาตรา340ตรีมาปรับด้วยไม่ได้จำเลยคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา340วรรคท้ายเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289, 340,340 ตรี, 83 กับให้จำเลยคืนทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนหรือชดใช้เงินจำนวน10,000 บาท แก่ทายาทของเจ้าของทรัพย์
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 340 ตรีให้ลงโทษประหารชีวิต ตามมาตรา 340 วรรคท้าย เมื่อศาลวางโทษประหารชีวิตแล้ว จึงไม่เพิ่มโทษตามมาตรา 340 ตรี อีกให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 10,000 บาท แก่ผู้มีสิทธิตามกฎหมาย ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นายชาตรี ส่องสุริยะนายสุพรรณหรือพรรณ แซ่ลิ้ม นายสำรวยหรือสมคิดหรือหรั่ง มะลิเครือและนายวันดี ชมขวัญ ได้ร่วมกันปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โดยนายสุพรรณและนายสำรวยร่วมกันฆ่านายสำเนา พิกุลทองและนายสุมงคล พิกุลทองอีกด้วย ทั้งนี้โดยมีและใช้อาวุธปืนและใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะในการกระทำความผิด ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษคดีถึงที่สุดแล้วตามสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 644/2528 ของศาลชั้นต้นคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยได้ร่วมกระทำความผิดหรือไม่ เห็นว่าโจทก์มีนางวัจณีย์ นายสำราญและสิบตำรวจเอกประสิทธิ์ เป็นพยานแวดล้อมระหว่างเวลาเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุตามลำดับ ซึ่งนางวัจณีย์รู้จักจำเลยและบิดามารดาจำเลยเป็นอย่างดี ทั้งได้เคยเบิกความยืนยันไว้ในคดีที่นายชาตรีกับพวกถูกฟ้องตั้งแต่ปี 2528 เช่นเดียวกับที่เบิกความในคดีนี้จึงเชื่อว่านางวัจณีย์จำจำเลยได้โดยแม่นยำไม่ผิดตัวสำหรับสิบตำรวจเอกประสิทธิ์ก็เบิกความยืนยันว่า นายอ่างเป็นคนขับรถนำนายชาตรีกับพวกมาชวนพยานไปเที่ยว ย่อมสอดคล้องกับคำเบิกความของนายวัจณีย์ อีกทั้งพันตำรวจโทไพศาลพนักงานสอบสวนก็เบิกความยืนยันว่า พยานได้สอบสวนนายสุพรรณผู้ร่วมกระทำความผิดรายนี้ซึ่งศาลพิพากษาลงโทษไปแล้วในฐานะเป็นพยานนายสุพรรณให้การว่านายอ่างร่วมกระทำความผิดคดีนี้ด้วย โดยร่วมวางแผนและดูต้นทางแล้วนำรถไปรับนายสุพรรณกับพวกเมื่อกระทำความผิดสำเร็จแล้ว พยานให้นายสุพรรณดูภาพถ่ายของจำเลยนายสุพรรณก็ยืนยันว่าเป็นนายอ่างผู้ร่วมกระทำผิดและลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วยตามบันทึกการดูภาพถ่ายและบันทึกคำให้การของพยานเอกสาร ป.จ.4 และป.จ.5 (ศาลจังหวัดสงขลา) แม้ในชั้นพิจารณานายสุพรรณจะปฏิเสธว่าในปี 2534 พนักงานสอบสวนไม่เคยสอบคำให้การนายสุพรรณและไม่เคยให้นายสุพรรณดูภาพถ่ายก็ดีแต่นายสุพรรณก็ยอมรับว่าลายมือชื่อในช่องพยานในบันทึกการดูภาพถ่ายและบันทึกคำให้การของพยานเอกสารหมาย ป.จ.4และ ป.จ.5 (ศาลจังหวัดสงขลา) เป็นลายมือชื่อของนายสุพรรณจริง ประกอบกับจำเลยเองก็ให้การยอมรับในชั้นสอบสวนว่าภายหลังเกิดเหตุจำเลยเดินทางเข้ากรุงเทพมหานครและทราบจากหนังสือพิมพ์ว่านายชาตรีกับพวกซึ่งเป็นคนร้ายรายนี้ถูกจับกุมได้โดยคนร้ายที่หลบหนีคนหนึ่งชื่อนายอุทิตย์ ไตรรัตน์ ซึ่งเป็นชื่อของจำเลย จำเลยจึงประกอบอาชีพอยู่ที่กรุงเทพมหานครโดยไม่ได้กลับบ้านเลย ตามบันทึกคำให้การผู้ต้องหาเอกสารหมาย ป.จ.1(ศาลจังหวัดสงขลา) พฤติการณ์แสดงแจ้งชัดว่านายสุพรรณเบิกความบ่ายเบี่ยงในลักษณะช่วยเหลือจำเลย จึงเชื่อว่าคำให้การของนายสุพรรณในฐานะพยานในชั้นสอบสวนตามเอกสารหมายป.จ.5 (ศาลจังหวัดสงขลา) เป็นการให้การตามความจริง ดังนี้พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวแล้วเมื่อนำมาประกอบกันมีน้ำหนักให้เชื่อได้ว่าจำเลยร่วมเป็นคนร้ายกระทำความผิดคดีนี้จริงพยานฐานที่อยู่ของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ดี ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำความผิดของจำเลยต้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคท้าย,340 ตรี ซึ่งตามมาตรา 340 ตรี เป็นเรื่องที่จะต้องวางโทษจำเลยหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรา 340 วรรคท้าย กึ่งหนึ่งที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นด้วยกับการที่ศาลชั้นต้นใช้คำว่าจึงไม่เพิ่มโทษตามมาตรา 340 ตรี อีก ยังไม่ถูกต้อง เพราะมาตรา 340 ตรีเป็นเพียงบทกำหนดโทษไม่ใช่บทเพิ่มโทษ แต่เนื่องจากจำเลยต้องได้รับโทษประหารชีวิตตามมาตรา 340 วรรคท้าย กรณีไม่มีทางที่จะวางโทษหนักขึ้นกึ่งหนึ่งตามที่มาตรา 340 ตรี บัญญัติไว้จึงนำมาตรา 340 ตรี มาปรับด้วยไม่ได้ จำเลยคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคท้าย เท่านั้น นอกจากนี้ปรากฏตามสำเนาประกาศนียบัตรของกระทรวงศึกษาธิการเอกสารหมายล.1 ว่า จำเลยเกิดวันที่ 18 มิถุนายน 2509 นับถึงวันกระทำความผิดจำเลยอายุยังไม่ครบ 19 ปี ยังเป็นผู้เยาว์อ่อนต่อความรู้สึกนึกคิดรูปคดีเห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคท้าย จำเลยอายุกว่า 17 ปี แต่ยังไม่เกิน 20 ปีพิเคราะห์ความรู้ผิดชอบและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76ประกอบด้วยมาตรา 52(1) ให้จำคุกตลอดชีวิต นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3