แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำให้การของจำเลยที่ว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยก่อนวันสุดท้ายของเดือนหลายครั้งผิดไปจากข้อตกลงในสัญญา แล้วนำดอกเบี้ยไปทบเข้ากับต้นเงินกลายเป็นต้นเงินสำหรับคิดดอกเบี้ยในเดือนต่อไป จึงทำให้ยอดเงินผิดไปจากความจริง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งสองฉบับตามฟ้อง เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยในเดือนใดผิดจากข้อตกลงในสัญญา คิดเป็นเงินดอกเบี้ยจำนวนเท่าใดที่ผิดไปจากความเป็นจริง อันจะทำให้เห็นว่าจำเลยต้องเสียหายเพราะโจทก์คิดคำนวณต้นเงินและดอกเบี้ยผิดจากข้อตกลงในสัญญาอย่างไรและเพียงใด ทั้ง ๆ ที่ฟ้องโจทก์แนบสำเนาใบแจ้งรายการบัญชี ซึ่งมีรายการคิดคำนวณดอกเบี้ยในแต่ละเดือนให้จำเลยทราบแล้ว จึงไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย
ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งสองฉบับจำเลยตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.25 และ 16.75 ต่อปี ตามลำดับและถ้าต่อไปโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้กู้จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามประกาศของธนาคาร จำเลยยอมให้ปรับขึ้นได้ เมื่อสัญญาบัญชีเดินสะพัดและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราตามประกาศของธนาคารโจทก์ คืออัตราร้อยละ 16.50 ต่อปีแบบไม่ทบต้นจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้เสร็จ แต่เมื่อศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์พอใจมิได้อุทธรณ์ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ให้แก่โจทก์นับแต่สัญญาบัญชีเดินสะพัดและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลง มิใช่ว่าไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยไว้ในสัญญาจึงให้ใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเปิดบัญชีกระแสรายวันกับโจทก์ สาขาอุบลราชธานีเมื่อวันที่10 กุมภาพันธ์ 2538 และวันที่ 18 ตุลาคม 2538 จำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ ในวงเงินสัญญาละ 200,000 บาท ตกลงอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15.25 ต่อปี และอัตราร้อยละ 16.75 ต่อปี ตามลำดับ โดยยอมให้โจทก์ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยได้ในอัตราสูงสุด และตกลงจะเบิกเงินเกินบัญชีจากบัญชีกระแสรายวันที่เปิดไว้กับโจทก์ โดยให้โจทก์คิดดอกเบี้ยแบบทบต้นเป็นรายเดือน และยินยอมปฏิบัติตามประเพณีการเบิกเงินเกินบัญชีและการเดินสะพัดทางบัญชีของธนาคารพาณิชย์ จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้เป็นประกันการชำระหนี้ และขอต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 1 ครั้ง ครบกำหนดวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์เรื่อยมาโดยสั่งจ่ายเช็คเบิกถอนเงินเกินบัญชีหลายครั้ง และไม่ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยแบบทบต้นเป็นรายเดือนเรื่อยมาถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2542 ปรากฏยอดหนี้จำนวน 559,121.85 บาท โจทก์บอกเลิกสัญญาและบอกกล่าวบังคับจำนองกับทวงถามให้ชำระหนี้แล้วแต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์คิดดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวไม่ทบต้นในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศของโจทก์ นับแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2542 จนถึงวันฟ้อง คิดเป็นดอกเบี้ย 68,209.62 บาท ขอบังคับให้จำเลยชำระเงิน 627,331.47 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 559,121.85 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 795 ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานีพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะขณะฟ้องโจทก์ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล หนังสือมอบอำนาจกระทำโดยบุคคลซึ่งไม่มีอำนาจและระบุให้ฟ้องจำเลยผู้รับมอบอำนาจไม่มีอำนาจมอบอำนาจช่วง โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยก่อนวันสุดท้ายของเดือนหลายครั้งผิดจากสัญญาทำให้ยอดหนี้ตามฟ้องไม่ถูกต้อง จำเลยไม่ได้เบิกหรือถอนเงินตามที่ปรากฏรายการในบัญชีกระแสรายวันโจทก์คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ตกลง สัญญาสิ้นสุดลงในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยมิได้เดินสะพัดทางบัญชีอีกโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจนถึงวันดังกล่าวเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 559,121.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่เมื่อคำนวณดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าวจนถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 3 พฤษภาคม 2543) ต้องไม่เกินจำนวน 68,209.62 บาท หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์จำนองตามฟ้องคือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 795 ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 387,779.41 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้นำเงินจำนวน 17,000 บาท มาหักชำระด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาในปัญหาข้อแรกว่า การที่โจทก์เรียกดอกเบี้ยก่อนวันถึงกำหนดชำระตามข้อตกลงในสัญญาและนำดอกเบี้ยที่ก่อนถึงกำหนดมารวมเป็นต้นเงินและนำต้นเงินคิดดอกเบี้ยในเดือนถัดไปผิดจากข้อตกลงในสัญญา จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น ในปัญหาดังกล่าวจำเลยให้การว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยก่อนวันสุดท้ายของเดือนหลายครั้งผิดไปจากข้อตกลงในสัญญา แล้วนำดอกเบี้ยไปทบเข้ากับต้นเงินกลายเป็นต้นเงินสำหรับคิดดอกเบี้ยในเดือนต่อไป จึงทำให้ยอดเงินผิดไปจากความจริง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งสองฉบับตามฟ้อง เห็นว่า คำให้การดังกล่าวของจำเลยมิได้ให้การต่อสู้อย่างชัดแจ้งว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยในเดือนใดผิดจากข้อตกลงในสัญญา คิดเป็นเงินดอกเบี้ยจำนวนเท่าใดที่ผิดไปจากความเป็นจริง อันจะทำให้เห็นว่าจำเลยต้องเสียหายเพราะโจทก์คิดคำนวณต้นเงินและดอกเบี้ยผิดจากข้อตกลงในสัญญาอย่างไร และเพียงใด ทั้ง ๆ ที่ฟ้องโจทก์แนบสำเนาใบแจ้งรายการบัญชีตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 15 ซึ่งมีรายการคิดคำนวณดอกเบี้ยในแต่ละเดือนให้จำเลยทราบแล้ว ดังนั้น คำให้กาของจำเลยในปัญหาดังกล่าวจึงไม่ชัดแจ้งไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงไม่วินิจฉัยปัญหาดังกล่าว เมื่อจำเลยยังคงหยิบยกปัญหาดังกล่าวฎีกาขึ้นมาอีก ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปมีว่า หลังจากสัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลง โจทก์ชอบที่จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ไม่ใช่อัตราร้อยละ15 ต่อปี ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยนั้น เห็นว่า ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งสองฉบับ เอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 ข้อ 2 จำเลยตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.25 และ 16.75 ต่อปี ตามลำดับ และถ้าต่อไปโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้กู้จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามประกาศของธนาคาร จำเลยยอมให้ปรับขึ้นได้ เมื่อสัญญาบัญชีเดินสะพัดและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2540 เป็นต้นไปหลังจากสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงแล้วโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราตามประกาศของธนาคารโจทก์เอกสารหมาย จ.15 แผ่นที่ 7 คืออัตราร้อยละ 16.50 ต่อปี แบบไม่ทบต้นจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้เสร็จดังที่ระบุไว้ในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 ข้อ 2 ดังกล่าว แต่เมื่อศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์พอใจมิได้อุทธรณ์ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ให้แก่โจทก์นับแต่สัญญาบัญชีเดินสะพัดและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลง หาใช่ว่าไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยไว้ในสัญญาจึงให้ใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ดังจำเลยฎีกาไม่ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน