คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7600/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมโจทก์ใช้ทางพิพาทโดยผ่านที่ดินของ น.และบ.ไปออกถนนสาธารณะเพื่อขนส่งผลิตผลการเกษตร แต่ที่ดินของ น.และ บ. เป็นนาลึกฤดูฝนน้ำท่วมถึงอก ส่วนหน้าแล้งสามารถเดินด้วยเท้า รถยนต์ไม่สามารถผ่านได้เพราะเป็นที่นานอกจากทางพิพาทนี้แล้วโจทก์ไม่มีทางอื่นที่จะออกสู่ทางสาธารณะดังนี้ เมื่อที่ดินของโจทก์มีที่ดินของผู้อื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้และเส้นทางพิพาทซึ่งผ่านที่ดินของจำเลยที่ 1มีระยะทางสั้นเพียง 40 เมตร การใช้ทางพิพาทดังกล่าวผ่านที่ดินของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการใช้ที่ดินส่วนน้อยไม่ทำให้จำเลยที่ 1รับภาระเกินไป และจำเลยที่ 1 ไม่ได้ปลูกสร้างสิ่งใดในบริเวณนั้น อีกทั้งเป็นบริเวณที่โจทก์เคยใช้เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะทางพิพาทจึงเป็นทางจำเป็นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 โจทก์ได้ใช้เส้นทางพิพาทเข้าออกมาประมาณ 30 ปีแล้วโดยใช้มาก่อนมีการสร้างผนัง กั้นน้ำเค็ม ซึ่งได้ทำขึ้นทับเส้นทางเดิม หลังจากสร้างผนังกั้นน้ำเค็ม แล้วก็ได้ใช้ทางพิพาทบนผนังกั้นน้ำเค็ม ตลอดมา เมื่อโจทก์ใช้ทางพิพาทมาเกินกว่า 10 ปี ทางพิพาท จึงเป็นภารจำยอมด้วย ซึ่งทางพิพาทนี้เป็นทั้งทางจำเป็นและเป็นทางภารจำยอมในขณะเดียวกันได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของและครอบครองที่ดิน น.ส.3เลขที่ 55 จำเลยเป็นเจ้าของครอบครองที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 102ที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 102 เป็นที่นา ได้มีทางที่โจทก์ใช้เป็นเส้นทางสู่ทางสาธารณะผ่านที่ดินน.ส.3 เลขที่ 102 ในขณะที่ยังเป็นของนางบุญส่งเป็นเวลานานกว่า 30 ปี ด้วยความสงบและเปิดเผยต่อมาปี 2534 มีการก่อสร้างทำทางเป็นผนังกั้นน้ำเค็มป้องกันน้ำทะเลหนุน และผนังกั้นน้ำเค็มดังกล่าวได้ผ่านที่ดิน น.ส.3เลขที่ 102 ผ่านที่ดินของนายนับ คงสมบัติ และผ่านที่ดินของโจทก์ในปัจจุบัน ซึ่งมีทางกว้างประมาณ 4 เมตรยาวประมาณ 200 เมตรเศษ ที่ดินของโจทก์อยู่ด้านหลังและอยู่ในที่ล้อมซึ่งไม่มีทางออกติดต่อกับทางสาธารณะได้ ต่อมาปี 2536นางบุญส่งเจ้าของที่ดินขุดทางที่เป็นผนังกั้นน้ำเค็มในส่วนที่ผ่านที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 102 ทิ้งไป และสร้างบ้านพักและประตูน้ำนากุ้งจดกับถนนสาธารณะที่โจทก์ใช้สัญจรไปมาโจทก์เคยบอกกล่าวให้นางบุญส่งและบริวารให้เปิดทางและทำทางให้โจทก์ใหม่ทดแทนทางเก่าที่ได้ขุดทิ้งไป แต่นางบุญส่งเพิกเฉยและได้โอนขายที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 102 นั้นให้แก่จำเลยโดยไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบ โจทก์ไม่มีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะ คงมีแต่ทางออกที่ผ่านที่ดินของจำเลยและนายนับสำหรับทางผ่านที่ดินของนายนับนั้น นายนับยินยอมให้โจทก์ผ่านได้โดยไม่ขัดข้องทางที่ผ่านที่ดินของนายนับและที่ดินโจทก์ที่มีอยู่แล้วกว้างประมาณ 4 เมตร ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับที่ดินของจำเลยในส่วนที่ได้ขุดทิ้งไปนั้น ทางที่ขุดทิ้งไปดังกล่าวเป็นทางจำเป็นและทางภารจำยอม ขอให้บังคับจำเลยเปิดทางและทำทางให้โจทก์กว้าง 4 เมตร ยาวตลอดแนวที่ผ่านที่ดินของจำเลยจดทางสาธารณะ หากจำเลยไม่ยอมเปิดทางและทำทางให้โจทก์ ขอให้ถือเอาคำพิพากษาให้โจทก์มีอำนาจเปิดทางและทำทางเอง โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการทำทางและเปิดทางและห้ามจำเลยเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ไม่มีทางภารจำยอมและทางจำเป็นผ่านที่ดินของจำเลย เดิมที่ไม่มีทางเก่าตามที่โจทก์อ้างว่าใช้เป็นทางสัญจรสู่ทางสาธารณะเป็นเวลานานเกินกว่า 30 ปีบริเวณดังกล่าวก่อนจะสร้างเป็นผนังกั้นน้ำเค็มเป็นที่ลุ่มน้ำทะเลท่วมถึง ไม่มีทางเดิน โจทก์และนายนับมีเส้นทางอื่นใช้เป็นทางสัญจรเข้าออกที่ดินของตนกับทางสาธารณะมาเป็นเวลา 30 ปีเป็นเส้นทางผ่านที่ดินของโจทก์ นายนับ นางบุญชู และผ่านที่ดินบางส่วนของจำเลยทางด้านทิศใต้ออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้วในที่ดินของจำเลยไม่มีทางพิพาทตามแผนที่เอกสารท้ายฟ้องของโจทก์ จำเลยไม่ได้ปิดกั้นทางเดินของโจทก์ โจทก์มีทางเดินเส้นอื่นออกถนนสาธารณะได้อยู่แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 1 เปิดทางให้แก่โจทก์กว้าง 4 เมตร ผ่านที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 102ของจำเลยที่ 1 จดทางสาธารณะตามแนวแผนที่กลางเส้นประสีแดงคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกและให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1ว่า มีทางจำเป็นหรือทางภารจำยอมในที่ดินของจำเลยที่ 1 หรือไม่ประเด็นเรื่องทางจำเป็นนั้น เมื่อศาลฎีกาพิจารณาที่ดินของโจทก์ตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 และแผนที่กลางแล้วเห็นว่า ที่ดินของโจทก์มีที่ดินของผู้อื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ ที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่าโจทก์สามารถใช้เส้นทางสีน้ำตาล ตามแผนที่กลางออกสู่ทางสาธารณะได้นั้น โจทก์ก็นำสืบว่าเส้นทางดังกล่าวจะต้องผ่านที่ดินของนายนับและนายทอง นาคเวช ซึ่งเป็นนาลึกฤดูฝนมีน้ำลึกถึงหน้าอกส่วนหน้าแล้งสามารถเดินทางเท้าได้แต่รถยนต์ไม่สามารถผ่านได้เพราะเป็นที่นา ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 มีนายคลิ่นเบิกความสนับสนุนว่า โจทก์มีทางเดินอยู่แล้ว ตามภาพถ่ายหมาย ล.2นั้น เห็นว่าสภาพที่ดินตามภาพถ่ายหมาย ล.2 มีลักษณะเป็นทุ่งนาป่ารก เป็นสวนมะพร้าวและไม้ยืนต้นอื่น ๆ ไม่มีลักษณะเป็นทางเดินหรือทางที่จะใช้ยานพาหนะผ่านได้ทั้งเมื่อพิจารณาแผนที่กลางประกอบแล้ว ย่อมเห็นได้ชัดเจนว่าเส้นทางพิพาทที่เป็นเส้นประสีแดงซึ่งผ่านที่ดินของจำเลยที่ 1 มีระยะทางสั้นเพียง40 เมตร การใช้ทางพิพาทดังกล่าวผ่านที่ดินของจำเลยที่ 1จึงเป็นส่วนน้อย ไม่ทำให้จำเลยที่ 1 รับภาระเกินไปและจำเลยที่ 1ไม่ได้ปลูกสร้างสิ่งใดในบริเวณนั้น อีกทั้งเป็นบริเวณที่โจทก์เคยใช้เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะ ส่วนทางที่จำเลยที่ 1 นำชี้เส้นสีน้ำตาลนั้นมีระยะทางจากที่ดินของโจทก์ไปออกทางสาธารณะเป็นระยะทางไกลมาก และต้องผ่านที่ดินของผู้อื่นหลายรายซึ่งได้ความจากคำเบิกความของนายคลิ่นว่าเป็นเส้นทางที่ลำบาก ดังนั้น เมื่อที่ดินของโจทก์มีที่ดินของผู้อื่นล้อมอยู่ย่อมถือได้ว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349
ส่วนประเด็นที่ว่าเส้นทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมตามฟ้องหรือไม่นั้น เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานจำเลยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ใช้ทางพิพาทมาเกินกว่า 10 ปี จนได้ภารจำยอมแล้ว ซึ่งทางพิพาทเป็นทั้งทางจำเป็นและเป็นทางภารจำยอมในขณะเดียวกันได้
พิพากษายืน

Share