คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2696-2697/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.รัษฎากร มาตรา 86 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 86/1 มาตรา 86/2 และมาตรา 86/8 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการทุกครั้ง และต้องจัดทำในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น พร้อมทั้งให้ส่งมอบใบกำกับภาษีนั้นแก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ…” และมาตรา 86/13 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้บุคคลซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือมิใช่ผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้ตามหมวดนี้ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้” เห็นว่า ผู้ที่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้นั้นนอกจากจะต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ต้องห้ามมิให้ออกใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/1 และมาตรา 86/2 แล้วจะต้องเป็นการออกใบกำกับภาษีที่ได้มีการขายสินค้าหรือให้บริการจริง โดยเป็นการออกให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการที่เป็นคู่สัญญาเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเท่านั้น ดังนั้น คำว่า “มิใช่ผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้ตามหมวดนี้” ตามมาตรา 86/13 จึงไม่ได้หมายความเฉพาะผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86/1 ซึ่งถูกห้ามมิให้ออกใบกำกับภาษีเท่านั้น หากหมายความรวมถึงผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษีที่ไม่มีการขายสินค้ากันจริงด้วย ทั้งตามมาตรา 88/2 วรรคสอง ก็บัญญัติด้วยว่า “ในการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานประเมินเมื่อมีกรณีตามมาตรา 88 (6) ให้ถือว่าผู้ประกอบการซึ่งยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/1 แต่มิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีความรับผิดในการเสียภาษีเสมือนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน” ใบกำกับภาษีที่จำเลยที่ 1 ขายให้แก่สายลับจึงเป็นใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ไม่มีสิทธิออกตามมาตรา 86/13 ซึ่งมีบทลงโทษตามมาตรา 90/4 (3)
เมื่อข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 1 ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออก มิใช่เป็นตัวการดังที่โจทก์ฟ้อง ก็มิใช่เป็นการแตกต่างในสาระสำคัญ ย่อมลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดไม่ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง เมื่อฟังว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดฐานออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออก ตาม ป.อ. มาตรา 86 ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้สนับสนุนได้โดยมิใช่เป็นการแตกต่างในสาระสำคัญ ไม่จำต้องยกฟ้อง
กรณีของจำเลยที่ 5 เป็นการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออกตามมาตรา 86/13 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 5 เป็นตัวการ เมื่อทางพิจารณาข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 5 เป็นผู้ใช้จึงแตกต่างในสาระสำคัญ ย่อมลงโทษจำเลยที่ 5 ฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดไม่ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง แต่การกระทำของจำเลยที่ 5 ถือได้ว่าเป็นความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดฐานออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออกเอกสารดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 5 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออก

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1824/2560 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนนี้ว่า โจทก์ เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ เรียกจำเลยในสำนวนที่สองว่า จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ตามลำดับ แต่คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1824/2560 ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีสองสำนวนนี้
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77, 77/1, 77/2, 78, 86/13, 90/4 (3) พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 และสั่งริบใบกำกับภาษีของบริษัทเอสพีเอส เทคโนโลยี แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด 42 ฉบับ และโทรศัพท์เคลื่อนที่สีดำ 1 เครื่อง ของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพข้อหามีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่ระหว่างสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 2 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง
จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 มีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77/2, 78, 86/13, 90/4 (3) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคสอง วรรคสาม การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนมีเครื่องหมายทะเบียนของผู้อื่นกับฐานมีเครื่องกระสุนปืนเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานมีอาวุธปืนมีเครื่องหมายทะเบียนของผู้อื่น ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี ฐานเป็นผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออก จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 กระทงละ 3 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 1 รวม 3 กระทง จำเลยที่ 2 รวม 5 กระทง จำเลยที่ 5 รวม 4 กระทง จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพฐานมีอาวุธปืนมีเครื่องหมายทะเบียนของผู้อื่น และคำรับกับทางนำสืบฐานเป็นผู้สนับสนุนการออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออกเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 สำหรับจำเลยที่ 1 ฐานมีอาวุธปืนมีเครื่องหมายทะเบียนของผู้อื่น ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน ฐานเป็นผู้สนับสนุนการออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออก ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม คงจำคุกกระทงละ 2 ปี 2 เดือน 20 วัน รวม 3 กระทง จำคุก 6 ปี 6 เดือน 60 วัน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี 12 เดือน 60 วัน จำเลยที่ 2 ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 1 ปี 8 เดือน รวม 5 กระทง จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 5 ปี 40 เดือน จำเลยที่ 5 ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสี่ รวม 4 กระทง จำคุกจำเลยที่ 5 มีกำหนด 8 ปี 24 เดือน ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ริบใบกำกับภาษีรวม 42 ฉบับ และโทรศัพท์เคลื่อนที่สีดำ 1 เครื่อง ของกลาง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม ให้จำคุก 6 เดือน ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 3 เดือน เมื่อรวมกับโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนการออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิจะออกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี 9 เดือน 60 วัน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 5 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้ฎีกาโต้แย้งรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 พันตำรวจโทกิตติพงศ์ เจ้าพนักงานตำรวจประจำกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจได้รับแจ้งว่า มีกลุ่มบุคคลร่วมกันออกใบกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออก เพราะไม่มีการซื้อขายสินค้าตามรายการที่ระบุในใบกำกับภาษี แต่เป็นการออกใบกำกับภาษีตามรายการและมูลค่าสินค้าที่ต้องการ มีภาษีมูลค่าเพิ่มรวมภาษีท้องถิ่นแล้วร้อยละ 7 ของมูลค่าสินค้า แล้วขายใบกำกับภาษีในอัตราภาษีต่ำกว่าร้อยละ 7 ให้แก่ผู้ที่ต้องการนำใบกำกับภาษี ซึ่งเป็นภาษีซื้อที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนนำไปหักจากยอดภาษีขายของตน เจ้าพนักงานตำรวจจึงสืบสวนและวางแผนจับกุม ระหว่างเดือนเมษายน 2557 ถึงเดือนมีนาคม 2558 เจ้าพนักงานตำรวจวางแผนล่อซื้อใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่มีการขายสินค้ากันจริงหลายครั้ง จากกลุ่มบุคคลตามที่ได้ข้อมูลพบว่า ใบกำกับภาษีที่ล่อซื้อมีผู้ประกอบการที่เป็นผู้ออกใบกำกับภาษี 3 ราย คือ จำเลยที่ 3 บริษัทเอสพีเอส เทคโนโลยี แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และบริษัทเวิลด์ เซ็นเตอร์ เทรดดิ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2558 เจ้าพนักงานตำรวจร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรนำหมายค้นเข้าตรวจค้นสถานที่ต่าง ๆ และในวันเดียวกันได้นัดหมายให้ผู้ขาย 2 ราย ส่งมอบใบกำกับภาษีที่ติดต่อล่อซื้อไว้ให้แก่สายลับ จำเลยที่ 1 นัดหมายให้สายลับมารับใบกำกับภาษีที่ร้านของจำเลยที่ 1 เลขที่ 111/390 ตำบลบึงยี่โถ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ส่งมอบใบกำกับภาษีให้แก่สายลับ และนัดหมายผู้ขายอีกหนึ่งรายให้ส่งมอบใบกำกับภาษาที่สถานีบริการก๊าซแอลพีจี ถนนเจ้าพระยา ตำบลลาดสวาย อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ซึ่งมีนายชัชวาล ขับรถจักรยานยนต์รับจ้างนำใบกำกับภาษีมาส่งมอบให้แก่สายลับ ในวันนั้น เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 ได้ หลังจากนั้นจึงจับกุมจำเลยอื่นและฟ้องเป็นคดีทั้งสองสำนวนนี้ สำหรับจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนการออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิจะออก ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่อุทธรณ์ คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ประมวลรัษฎากร มาตรา 86 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 86/1 มาตรา 86/2 และมาตรา 86/8 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการทุกครั้ง และต้องจัดทำในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น พร้อมทั้งให้ส่งมอบใบกำกับภาษีนั้นแก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ…” และมาตรา 86/13 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้บุคคลซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือมิใช่ผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้ตามหมวดนี้ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้” เห็นว่า ผู้ที่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้นั้นนอกจากจะต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ต้องห้ามมิให้ออกใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/1 และมาตรา 86/2 แล้วจะต้องเป็นการออกใบกำกับภาษีที่ได้มีการขายสินค้าหรือให้บริการจริง โดยเป็นการออกให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการที่เป็นคู่สัญญาเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเท่านั้น ดังนั้น คำว่า “มิใช่ผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้ตามหมวดนี้” ตามมาตรา 86/13 จึงไม่ได้หมายความเฉพาะผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86/1 ซึ่งถูกห้ามมิให้ออกใบกำกับภาษีตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกา หากหมายความรวมถึงผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษีที่ไม่มีการขายสินค้ากันจริงด้วย ทั้งตามมาตรา 88/2 วรรคสอง ก็บัญญัติด้วยว่า “ในการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานประเมินเมื่อมีกรณีตามมาตรา 88 (6) ให้ถือว่าผู้ประกอบการซึ่งยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/1 แต่มิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีความรับผิดในการเสียภาษีเสมือนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน” ใบกำกับภาษีที่จำเลยที่ 1 ขายให้แก่สายลับจึงเป็นใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ไม่มีสิทธิออกตามมาตรา 86/13 ซึ่งมีบทลงโทษตามมาตรา 90/4 (3) ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาต่อมาว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขายใบกำกับภาษีจึงเป็นการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการ จำเลยที่ 1 หลงต่อสู้ว่าไม่ได้เป็นตัวการหรือเป็นผู้ออกหรือร่วมกันออกใบกำกับภาษี เป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงแตกต่างจากคำฟ้องในสาระสำคัญ และไม่ใช่เรื่องที่โจทก์จะประสงค์ให้ลงโทษ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ได้นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 1 ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออก มิใช่เป็นตัวการดังที่โจทก์ฟ้อง ก็มิใช่เป็นการแตกต่างในสาระสำคัญ ย่อมลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง เมื่อฟังว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดฐานออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้สนับสนุนได้โดยมิใช่เป็นการแตกต่างในสาระสำคัญ ไม่จำต้องยกฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 5 ว่า จำเลยที่ 5 กระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ เห็นว่า แม้การติดต่อสั่งซื้อใบกำกับภาษีทางโทรศัพท์จะไม่สามารถยืนยันได้ว่า ผู้ที่สายลับติดต่อจะใช่จำเลยที่ 5 หรือไม่ และสายลับไม่ได้มาเบิกความยืนยันว่าสั่งซื้อใบกำกับภาษีจากจำเลยที่ 5 ก็ตาม แต่ก็ได้ความว่าบัญชีเงินฝากที่พันตำรวจโทกิตติพงษ์โอนเงินไปชำระค่าใบกำกับภาษีเป็นชื่อบัญชีของจำเลยที่ 5 และหมายเลขโทรศัพท์และโทรสารที่สายลับใช้ติดต่อกับจำเลยที่ 5 ก็เป็นหมายเลขเดียวกันกับที่จำเลยที่ 5 ให้ไว้กับธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้หมายเลขโทรสารที่จำเลยที่ 1 ให้สายลับใช้ส่งรายการในใบกำกับภาษีเป็นหมายเลขเดียวกับที่สายลับติดต่อกับจำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 5 ให้ไว้กับธนาคารอีกเช่นกัน สอดคล้องกับที่จำเลยที่ 1 เบิกความว่า หากลูกค้าต้องการใบกำกับภาษี จำเลยที่ 1 จะติดต่อกับจำเลยที่ 5 โดยตรง ลูกค้าต้องแจ้งชื่อ รายการที่ต้องการระบุในใบกำกับภาษีว่าเป็นผู้ซื้อสินค้าเพื่อให้จำเลยที่ 5 ตรวจสอบว่าจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ ส่วนใหญ่จำเลยที่ 5 จะให้คนขับรถจักรยานยนต์รับจ้างเป็นผู้ส่งใบกำกับภาษีมาให้ มีบางครั้งจำเลยที่ 5 หรือสามีของจำเลยที่ 5 เป็นผู้มาส่งด้วยตนเอง ก่อนที่จำเลยที่ 5 จะให้รถจักรยานยนต์รับจ้างมาส่งจะโทรศัพท์มาบอกว่าให้นายชัชวาลเป็นคนมาส่ง และนายชัชวาลจะเป็นผู้มาส่งใบกำกับภาษีให้เป็นประจำและตกลงให้ชำระเงินค่าใบกำกับภาษีไปยังบัญชีของจำเลยที่ 5 ชื่อบัญชีนางปิ่นอนงค์ บางครั้งฝากให้นายชัชวาลไป ประกอบกับนายชัชวาลให้การในชั้นสอบสวนว่า เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2558 ได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 5 ให้ไปรับใบกำกับภาษีจากชายไทยไม่ทราบชื่อ แล้วนำไปส่งให้แก่หญิงไทยอายุประมาณ 40 ปี นายชัชวาลได้รับเงินมา 65,000 บาท ก่อนหน้านี้เคยนำใบกำกับภาษีไปส่งให้ลูกค้าตามคำสั่งของจำเลยที่ 5 เช่นเดียวกับที่นางสาววลัยพร ให้การในชั้นสอบสวนว่ารายชื่อเซลล์ที่ซื้อขายใบกำกับภาษีจากข้าพเจ้า คือ คุณน้ำ หมายเลขโทรศัพท์ 08 6779 xxxx แม้คำเบิกความของจำเลยที่ 1 จะมีลักษณะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกัน และคำให้การในชั้นสอบสวนของนายชัชวาลกับนางสาววลัยพรเป็นพยานบอกเล่า ตามที่จำเลยที่ 5 ฎีกาก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 หาได้ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่า พยานซัดทอด เสียทีเดียวไม่ หากแต่ศาลพึงต้องกระทำด้วยความระมัดระวังและไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่มีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีหรือมีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน ซึ่งคำเบิกความของจำเลยที่ 1 เป็นการรับว่า นำใบกำกับภาษีมาขายให้แก่ลูกค้าเช่นกันจึงไม่ได้เป็นการปัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ให้เป็นความผิดของจำเลยที่ 5 แต่เพียงลำพังเท่านั้น หากเป็นการให้รายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนสั่งซื้อใบกำกับภาษี ส่วนคำให้การชั้นสอบสวนของนายชัชวาลและนางสาววลัยพรได้ให้การทันทีในวันที่ถูกจับกุม สอดคล้องกับพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ นับเป็นพยานหลักฐานที่สามารถรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์เพื่อสนับสนุนให้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังมากขึ้น ที่จำเลยที่ 5 ฎีกาว่า จำเลยที่ 5 มิได้อยู่ในสถานที่เกิดเหตุหรือที่มีการตรวจค้นจับกุม โทรศัพท์หมายเลข 08 6779 xxxx จดทะเบียนในชื่อนายมงคล มิใช่ของจำเลยที่ 5 หมายเลขโทรสารเป็นของร้านทรัพย์เพิ่มพูนค้าวัสดุก่อสร้าง นั้น เห็นว่า การติดต่อสั่งซื้อเป็นการติดต่อกันทางโทรศัพท์ไม่จำเป็นที่จำเลยที่ 5 ต้องอยู่ในขณะเกิดเหตุ หากหมายเลขโทรศัพท์และหมายเลขโทรสารดังกล่าวไม่ใช่ของจำเลยที่ 5 แล้ว ไม่ปรากฏว่าเหตุใดจำเลยที่ 5 จึงให้ไว้กับธนาคารในการติดต่อ ทั้งที่บัญชีเงินฝากดังกล่าวเป็นบัญชีส่วนตัวของจำเลยที่ 5 ทั้งไม่ปรากฏว่าเป็นบัญชีของร้านทรัพย์เพิ่มพูนค้าวัสดุก่อสร้างแต่อย่างใด ประกอบกับนายมงคลเป็นสามีของจำเลยที่ 5 ถือว่าเป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจำเลยที่ 5 เป็นอย่างมาก ทั้งบัญชีผู้ใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ที่สายลับติดต่อสั่งซื้อใบกำกับภาษีกับจำเลยที่ 5 ก็ปรากฏว่าเป็นบัญชีของนายมงคลอีกเช่นกัน พยานหลักฐานของจำเลยที่ 5 ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 5 เป็นผู้ขายใบกำกับภาษีโดยขายให้แก่สายลับ 2 ครั้ง และจากการที่จำเลยที่ 1 ส่งรายการข้อมูลทางโทรสารมาให้จำเลยที่ 5 จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 5 ขายใบกำกับภาษีให้แก่จำเลยที่ 1 อีก 2 ครั้งด้วย รวม 4 กระทง กรณีของจำเลยที่ 5 เป็นการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออก ตามมาตรา 86/13 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 5 เป็นตัวการ เมื่อทางพิจารณาข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 5 เป็นผู้ใช้จึงแตกต่างในสาระสำคัญ ย่อมลงโทษจำเลยที่ 5 ฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง แต่การกระทำของจำเลยที่ 5 ถือได้ว่าเป็นความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดฐานออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออกเอกสารดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 5 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 5 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share