คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7591/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 54 บัญญัติว่า ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดเพื่อการสูญหาย เสียหายหรือส่งมอบชักช้า อันเป็นผลจากการใช้มาตรการต่าง ๆ ที่พึงกระทำเพื่อระงับอัคคีภัยหรือหลีกเลี่ยงหรือบรรเทาผลเสียหายจากอัคคีภัย เว้นแต่ผู้ใช้สิทธิเรียกร้องจะพิสูจน์ได้ว่า เป็นความผิดหรือประมาทเลินเล่อของ ผู้ขนส่ง… ในการใช้มาตรการดังกล่าว ดังนั้น ผู้ขนส่งจึงมีภาระการพิสูจน์ในเบื้องต้นว่า ได้ใช้มาตรการต่าง ๆ ที่พึงกระทำเพื่อระงับอัคคีภัยหรือหลีกเลี่ยงหรือบรรเทาผลเสียหายจากอัคคีภัย เพื่อเป็นเหตุให้ไม่ต้องรับผิดใน ความเสียหายของสินค้า
จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเรือเดินทะเลชื่อ ช. ประกอบกิจการรับขนของทางทะเลโดยมีบำเหน็จเป็นทางการค้าปกติเช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 บริษัท ด. ได้ว่าจ้างจำเลยทั้งสองทำการขนส่งสินค้าทางทะเลโดยเรือ ช. แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ออกใบตราส่งสินค้าพิพาทแต่เพียงผู้เดียวก็ตาม แต่เมื่อฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้ามาเกี่ยวข้องในการขนส่งสินค้าพิพาททางทะเลร่วมกับจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่ง โดยได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งให้ทำการขนส่งสินค้าพิพาทจากเมืองฮูสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา มายังกรุงเทพมหานครย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งอื่นตามความหมายใน มาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ตาม มาตรา 3 และ มาตรา 43 ถึง 45 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว
โจทก์ผู้รับประกันภัยสินค้าพิพาทได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันแล้วจึงได้รับช่วงสิทธิในค่าเสียหายโดยชอบที่จะฟ้องคดีนี้และมีสิทธิคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่โจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยโดยมิต้องบอกกล่าวจำเลยที่ 1 และที่ 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ เป็นเงิน ๓๖๙,๕๔๙.๖๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ในต้นเงิน ๓๕๐,๒๖๑.๓๑ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษายกฟ้องค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยความเสียหายของสินค้ากระดาษพิมพ์สมุดโทรศัพท์สีขาวซึ่งเป็นสินค้าพิพาทน้ำหนักสุทธิ ๑,๕๔๘.๗๕ เมตริกตัน คิดเป็นน้ำหนัก ๑,๕๔๘,๗๖๖ กิโลกรัม จากบริษัทอินทรอักษร จำกัด ผู้เอาประกันภัยวงเงิน ๓๑,๓๑๕,๓๕๓ บาท สินค้าพิพาทผู้เอาประกันภัยซื้อมาจากบริษัทเดอะ แจนแนล กรุ๊ป ออฟ นิวยอร์ค อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (THE JANEL GROUP OF NEW YORK, JNC.) ประเทศสหัฐอเมริกา โดยจำเลยที่ ๓ เป็นผู้รับจ้างขนส่งสินค้าทางทะเล โดยเรือ “ชัยนาท นาวี” ของจำเลยที่ ๑ เดินทางจากเมืองท่าฮูสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกามายังท่าเรือกรุงเทพประเทศไทย แต่ระหว่างทางได้แวะขนถ่ายสินค้ารายอื่น ณ เมืองท่า ประเทศสิงคโปร์ และขณะขนถ่ายสินค้านั้นคนงานในท่าเรือ ดังกล่าวได้ใช้ไฟฟ้าเชื่อมเหล็กบนดาดฟ้าใกล้ระวางเรือเกิดประกายไฟและเป็นเหตุให้ไฟลุกไหม้สายพานลำเลียง ลูกเรือใช้น้ำและน้ำยาเคมีดับไฟ ทำให้สินค้าพิพาทที่เก็บอยู่ระวางสินค้าที่ ๒ ได้รับความเสียหาย และเมื่อเรือชัยนาท นาวี จอดเทียบท่าที่ท่าเรือกรุงเทพ เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๔๐ โจทก์ได้ว่าจ้างบริษัทเอเอ็มเอส แอสโซซิเอเต็ด มารีน เซอร์เวเยอร์ส (ไทยแลนด์) จำกัด สำรวจสินค้าที่เสียหายปรากฏว่าสินค้าพิพาทเปื้อนเขม่าสารเคมีที่ใช้ดับไฟ กระดาษถูกฉีกขาด ๒๑ ม้วน เปียกน้ำทั้งหมด ๑๕ ม้วน เปียกน้ำบางส่วน ๖๔ ม้วนบุบยับ บางส่วน ๑๖ ม้วน รวม ๑๑๖ ม้วนและอีก ๓๘ ม้วน แกนกระดาษถูกอัดเสียหายสินค้าที่เสียหายเมื่อหักส่วนที่โจทก์ไม่ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยแล้วคิดเป็นน้ำหนัก ๒๘,๖๒๗.๗๕ กิโลกรัม ค่าเสียหายเป็นเงิน ๕๗๘,๘๔๐.๒๕ บาท และทางโจทก์ได้ประมูลขายซากกระดาษไป คิดเป็นเงิน ๒๓๖,๑๗๘.๙๔ บาท เมื่อหักออกจากค่าเสียหายดังกล่าว เป็นเงิน ๓๔๒,๖๖๑.๓๑ บาท ประกอบกับค่าจ้างซ่อมแกนกระดาษที่เสียหายเป็นเงิน ๗,๖๐๐ บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยต้องรับผิดทั้งสิ้น ๓๕๐,๒๖๑.๓๑ บาท โจทก์รับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวจากจำเลยทั้งสาม
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะขอให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์เท่านั้น ดังนั้น คดีของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ ๓ จึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่าความเสียหายของสินค้าพิพาทเป็นผลจากการใช้มาตรการต่าง ๆ ที่พึ่งกระทำเพื่อระงับอัคคีภัย หรือหลีกเลี่ยงหรือบรรเทาผลเสียหายจากอัคคีภัยบนเรือที่ขนส่งครั้งนี้ อันทำให้จำเลยที่ ๒ ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ตามมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดเพื่อการสูญหาย เสียหายหรือส่งมอบชักช้า อันเป็นผลจากการใช้ มาตรการต่าง ๆ ที่พึงกระทำเพื่อระงับอัคคีภัย หรือหลีกเลี่ยงหรือบรรเทาผลเสียหายจากอัคคีภัย เว้นแต่ผู้ใช้สิทธิเรียกร้อง จะพิสูจน์ได้ว่า เป็นความผิด หรือประมาทเลินเล่อของผู้ขนส่ง หรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ขนส่งในการใช้มาตรการดังกล่าว” ดังนั้น จำเลยที่ ๒ ผู้ขนส่งจึงมีภาระการพิสูจน์ในเบื้องต้นว่าได้ใช้มาตรการต่าง ๆ ที่พึงกระทำเพื่อระงับอัคคีภัย หรือหลีกเลี่ยงหรือบรรเทาผลเสียหายจากอัคคีภัยเพื่อเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าพิพาทตามบทบัญญัติข้างต้น ตามคำเบิกความของนายพงษ์เกียรติ พยานจำเลยซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการกับรายงานสมุดปูมเรือ สรุปข้อเท็จจริงว่า ในขณะที่เรือชัยนาท นาวี แวะเทียบท่าที่เมืองท่าประเทศสิงคโปร์เพื่อทำการขนถ่าย สินค้าของเจ้าของสินค้ารายอื่นอยู่ ในขณะขนถ่ายสินค้าอยู่นั้นคนงานในท่าเรือได้ใช้ไฟฟ้าเชื่อมเหล็กบนดาดฟ้าใกล้ระวางเรือน ทำให้เกิดประกายไฟลุกไหม้ถูกสายพานลำเลียง ต้นเรือได้ปิดช่องระบายอากาศและฝาระวางเรือแล้วปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปในท่อกับฉีดน้ำเข้าไปในระวางเรือ เป็นเหตุให้สินค้าพิพาทที่เก็บในระหว่างสินค้าที่ใกล้เคียงเสียหาย จากพฤติการณ์ดังกล่าว แสดงว่าตัวแทนเรือผู้ขนส่งได้ใช้วิธีการหรือมาตรการดับอัคคีภัยครั้งนี้ โดยไม่เหมาะสมและสมควรเพราะมิได้ใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือดับไปที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพในการดับไฟ ทั้งในขณะนั้นไม่ปรากฏมีเครื่องมือดังกล่าวอยู่บนเรือติดไว้พร้อมเพื่อใช้งานได้ทันท่วงทีกับผู้ขนส่งไม่ได้ใช้เจ้าหน้าที่เฉพาะปฏิบัติหน้าที่ในการดับไฟครั้งนี้ เพราะเจ้าหน้าที่เฉพาะจะรู้ถึงวิธีการดับไฟโดยถูกต้องตามหลักวิชาเพื่อมิให้ ไฟลุกลามไปถูกสินค้าบนเรือเสียหาย การที่กับตันเรือหรือตัวแทนเรือในขณะนั้น เพียงแต่ปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปในท่อกับฉีดน้ำเข้าไปในระวางเรือเพื่อดับไปเพื่อมิให้ไฟลุกลามไปนั้น ยังไม่เพียงพอ ที่จะถือว่าฝ่ายตัวแทนเรือผู้ขนส่งได้ใช้มาตราการที่พึงกระทำในการระงับอัคคีภัยโดยเหมาะสมและสมควร อันจะทำให้ผู้ขนส่งพ้นความรับผิดตามกฎหมายไว้ เพราะมิฉะนั้นผู้ขนส่งเพียงแต่ใช้วิธีการหรือมาตรการดับไฟเพียงเล็กน้อยหรือไม่สมควร ก็ทำให้หลุดพ้นความรับผิดซึ่งไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของบทบัญญัติของกฎหมาย ตามมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อพยานหลักฐานของจำเลยที่ ๒ ไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยที่ ๒ ได้ใช้มาตรการต่าง ๆ ที่พึงกระทำเพื่อระงับอัคคีภัยหรือหลีกเลี่ยงหรือบรรเทาผลเสียหายจากอัคคีภัย จำเลยที่ ๒ ผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดใน ความเสียหายของสินค้าพิพาทต่อโจทก์ เมื่อเป็นเช่นนี้ โจทก์ก็ไม่ต้องมีภาระการพิสูจน์ว่าเป็นความผิดหรือประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ ๒ ผู้ขนส่งหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ในการใช้มาตรการดังกล่าว
ปัญหาข้อที่สองที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ ๑ ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๒ ผู้ขนส่งต่อโจทก์ในสินค้าพิพาทที่เสียหายตามฟ้องหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า ที่ศาลชั้นต้นฟังว่าโจทก์ไม่นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีความสัมพันธ์กันอย่างไรนั้นไม่ถูกต้อง เพราะจากการนำสืบของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ แสดงเห็นได้ชัดว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้ประกอลการขนส่งร่วมกันโดยกับตันเรือและลูกเรือของเรือ “ชัยนาท นาวี” ยังรับค่าจ้างจาก จำเลยที่ ๑ และไม่ว่าอุปกรณ์ที่ใช้ดับเพลิงในเรือหรืออุปกรณ์การขนถ่ายสินค้าต่าง ๆ ในเรือก็เป็นของจำเลยที่ ๑ ดังนั้น จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จึงต้องรับผิดร่วมกันในความเสียหายของสินค้าที่เกิดขึ้นนั้น เห็นว่า โจทก์มีนางสาววาสนา เจ้าหน้าที่ฝ่ายสินไหมทดแทนของโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า จำเลยที่ ๑ ประกอบอาชีพรับขนทางทะเลโดยมีบำเหน็จเป็นทางการค้าปกติและเป็นเจ้าของเรือเดินทะเลชื่อ “ชัยนาท นาวี” จำเลยที่ ๒ ประกอบกิจการรับขนของทางทะเล โดยมีบำเหน็จเป็นทางการค้าปกติของตนเช่นกัน สินค้ากระดาษพิมพ์สมุดโทรศัพท์สีขาวที่ขนส่งทางเรือนั้น บริษัทเดอะ แจนแนล กรุ๊ป ออฟ นิวยอร์ค อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (THE JANEL GROUP OF NEW YORK, INC.) ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ทำการขนส่งสินค้ากระดาษดังกล่าวทางทะเลโดยเรือ “ชัยนาท นาวี” ซึ่งเป็นเรือของจำเลยที่ ๑ ขนส่งจากประเทศสหรัฐอเมริกามายังกรุงเทพมหานคร เมื่อจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ขนกระดาษพิมพ์ สมุดโทรศัพท์บรรทุกลงเรือแล้ว จากนั้นจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้ออกใบตราส่งชนิด “บรรทุกแล้ว” (CLEAN ON BOARD) ให้แก่ ผู้ส่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกาไว้เป็นหลักฐานการรับบรรทุกสินค้าลงเรือดังกล่าวตามใบตราส่ง แต่ในการเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ ๑ นางสาววาสนาพยานโจทก์เบิกความว่า ไม่ปรากฏชื่อของจำเลยที่ ๑ ในใบตราส่ง คงมีแต่ชื่อของจำเลยที่ ๒ เท่านั้นที่เป็นผู้ขนส่ง และเมื่อพิจารณาใบตราส่งดังกล่าวแล้ว ก็ไม่ปรากฏชื่อของจำเลยที่ ๑ แต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ออกใบตราส่ง อย่างไรก็ตาม หนังสือรับรองจดทะเบียนของจำเลยที่ ๑ ระบุวัตถุประสงค์ไว้ว่าประกอบกิจการขนส่งและขนถ่ายสินค้าทางบก ทางน้ำ ฯลฯ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และใบตราส่ง ก็ระบุว่าเรือ “ชัยนาท นาวี” เที่ยว ๓๐๘ เป็นผู้บรรทุกสินค้าพิพาทประเทศสหรัฐอเมริกามายังกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย แม้จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ออกใบตราส่งสินค้าพิพาท แต่เพียงผู้เดียวก็ตาม แต่จากพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ ได้เข้ามาเกี่ยวข้องในการขนส่งสินค้าพิพาททางทะเลร่วมกับจำเลยที่ ๒ ผู้ขนส่งแล้ว โดยได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ ๒ ผู้ขนส่งให้ทำการขนส่งสินค้าพิพาทจากเมืองท่าฮูสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา มายังกรุงเทพมหานครย่อมถือว่าจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ขนส่งอื่น ตามความหมายในมาตรา ๓ แห่ง พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ ส่วนที่จำเลยที่ ๑ อ้างว่าได้ให้จำเลยที่ ๒ เช่าเรือ “ชัยนาท นาวี” ซึ่งเป็นเรือที่บรรทุกสินค้าพิพาทที่เสียหาย โดยจำเลยที่ ๑ ไม่ได้เกี่ยวข้องในการขนส่งนั้น ไม่มีเหตุผลรับฟังได้เพราะการทำสัญญาเช่าเรือระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ นั้น สามารถทำขึ้นเองโดยง่าย ไม่เป็นหลักฐานเพียงพอที่จะหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้ออ้างของจำเลยที่ ๑ กับที่ ๒ เลื่อนลอย รับฟังไม่ได้ ดังนั้น จำเลยที่ ๑ จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๒ ต่อโจทก์ตามมาตรา ๓ และมาตรา ๔๓ ถึง ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
ปัญหาข้อที่สามที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า โจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิโดยชอบที่จะมาฟ้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า ประเด็นข้อนี้ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยมิต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยใหม่ นางสาววาสนาพยานโจทก์ได้ทำบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่า เมื่อบริษัทอินทรอักษร จำกัด ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้รับตราส่งพบว่ากระดาษพิพาทเสียหาย จึงทวงถามให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหาย จำนวน ๓๕๐,๒๖๑.๓๑ บาท แต่จำเลยทั้งสามไม่ยอมชำระผู้เอาประกันภัยจึงมาทวงถามโจทก์ผู้รับประกันภัยให้ชำระหนี้โดยติดต่อผ่านบริษัทเอออน ริสค์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทนายหน้าประภันภัย โจทก์จึงชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๓๕๐,๒๖๑.๓๑ บาท แก่ผู้เอาประกันภัย เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๔๐ ตามใบรับช่วงสิทธิ นางสาววาสนาพยาน โจทก์เบิกความตอบคำถามค้านทนายความจำเลยที่ ๑ ว่าพยานขอยืนยันว่า บันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นความจริง ส่วนทนายจำเลยที่ ๒ ไม่ได้ถามค้านพยานโจทก์ดังกล่าวในประเด็นเรื่อง การรับช่วงสิทธิของโจทก์ แต่อย่างใด พยานหลักฐานโจทก์จึงฟังได้ว่า โจทก์ผู้รับประกันภัยสินค้าพิพาทได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ ผู้เอาประกันภัยแล้ว จึงได้รับช่วงสิทธิในค่าเสียหายโดยชอบที่จะฟ้องคดีนี้ และมีสิทธิคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่โจทก์ได้ใช้สินไหมทดแทน แก่ผู้เอาประกันภัยโดยมิต้องบอกกล่าวจำเลยที่ ๑ และที่ ๒…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันชำระเงินจำนวน ๓๖๙,๕๔๙.๖๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีในต้นเงิน ๓๕๐,๒๖๑.๓๑ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share