คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7590/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์ย่อมมีสิทธิและหน้าที่เสมือนดังเป็นตัวแทนโจทก์ น่าเชื่อว่าได้ศึกษาเรื่องราวความเป็นมาตลอดจนตรวจสอบพยานหลักฐานในคดีมาเป็นอย่างดีก่อนที่จะเบิกความ นับว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดี และไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามมิให้โจทก์ตั้งผู้อื่นซึ่งมิใช่พนักงานหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นผู้รับมอบอำนาจโจทก์ คำเบิกความของผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์ย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีได้
โจทก์ฟ้องว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จ. ไม่มีความประสงค์ที่จะให้จำเลยที่ 1 มีหนี้ค้างชำระ จึงมอบหมายให้ทนายความมีหนังสือทวงถาม ตามสำเนาหนังสือทวงถามและใบตอบรับไปรษณีย์เอกสารท้ายฟ้อง เอกสารท้ายฟ้องเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องและเป็นหลักฐานเบื้องต้นที่น่าเชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามเอกสาร แม้ชั้นพิจารณาโจทก์มิได้นำเอกสารท้ายฟ้องมาสืบเป็นพยานโจทก์ก็ตาม แต่ผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์เบิกความยืนยันว่า หลังจากโจทก์รับซื้อทรัพย์ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จ. แล้ว โจทก์ได้ให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามการโอนไปยังฝ่ายจำเลย และยังได้ความจากผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์และหลักฐานของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินและชำระดอกเบี้ยตลอดมา เมื่อทางการให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จ. ระงับการดำเนินกิจการ จำเลยที่ 1 กลับอ้างว่าไม่เคยออกตั๋วสัญญาใช้เงินและจำเลยที่ 2 ไม่เคยค้ำประกัน เมื่อพิจารณาคำฟ้อง คำเบิกความ พยานหลักฐานของโจทก์และพฤติกรรมของฝ่ายจำเลย ประกอบเหตุผลว่าตามวิสัยของเจ้าหนี้ย่อมจะต้องบอกกล่าวทวงถามให้ลูกหนี้ที่มีหนี้จำนวนมากชำระหนี้แล้ว เชื่อว่าโจทก์บอกกล่าวทวงถามโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
การซื้อขายทรัพย์สินของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ถูกทางการสั่งระงับการดำเนินกิจการอย่างถาวร เป็นการซื้อขายกันตาม พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษ จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของบทบัญญัติว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 2 ลักษณะ 1 หมวดที่ 4 เรื่องโอนสิทธิเรียกร้อง
ขณะที่จำเลยที่ 1 เปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับสุดท้าย บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จ. มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ตามที่บริษัทประกาศกำหนดโดยอาศัยอำนาจที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังประกาศมอบอำนาจให้ไว้ตามความในมาตรา 30 (1) (2) แห่ง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และกระทรวงการคลังมีอำนาจตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 โดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชำระเงิน 47,657,260.27 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงิน 30,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 47,657,260.27 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงิน 30,000,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 29 ตุลาคม 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 80,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า การที่ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เจ้าพระยา จำกัด โดยที่โจทก์ไม่ได้อ้างประกาศคำสั่งดังกล่าวและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนางสาวปาริชาติ ผู้รับมอบอำนาจช่วง เป็นพยานเบิกความยืนยันถึงเรื่องดังกล่าวแล้ว แม้โจทก์ไม่ได้อ้างส่งประกาศคำสั่งดังกล่าวก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็หาได้นำสืบหักล้างโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่นแต่อย่างใดไม่ จึงรับฟังได้ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เจ้าพระยา จำกัด คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า คำเบิกความของนางสาวปาริชาติผู้รับมอบอำนาจช่วงซึ่งมิได้เป็นพนักงานของโจทก์หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณ จำกัด รับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีได้หรือไม่ เห็นว่า นางสาวปาริชาติเป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงให้ดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ ผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์ย่อมมีสิทธิและหน้าที่เสมือนดังเป็นตัวโจทก์ในคดีนี้ น่าเชื่อว่าได้ศึกษาเรื่องราวความเป็นมาตลอดจนตรวจสอบพยานหลักฐานในคดีนี้มาเป็นอย่างดีก่อนที่จะเบิกความ นับว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีและไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามมิให้โจทก์ตั้งผู้อื่นซึ่งมิใช่พนักงานหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นผู้รับมอบอำนาจโจทก์ เช่นนี้ คำเบิกความของผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์ย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า ได้มีการบอกกล่าวทวงถามจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก่อนฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามฟ้องของโจทก์ โจทก์ฟ้องว่า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เจ้าพระยา จำกัด ไม่มีความประสงค์ที่จะให้จำเลยที่ 1 มีหนี้ค้างชำระกับตนอีกต่อไป จึงมอบหมายให้ทนายความมีหนังสือทวงถาม ให้จำเลยทั้งสามชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินแก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เจ้าพระยา จำกัด ซึ่งจำเลยทั้งสามได้รับหนังสือทวงถามแล้ว แต่เพิกเฉยไม่ชำระหนี้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เจ้าพระยา จำกัด ตามภาพถ่ายหนังสือทวงถามเอกสารท้ายฟ้อง ซึ่งตามเอกสารท้ายฟ้อง เป็นหนังสือที่ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เจ้าพระยา จำกัด บอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ ให้ชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยภายในกำหนด 30 วัน นับแต่รับหนังสือ หากเพิกเฉยจะดำเนินคดี และตามเอกสารท้ายฟ้องเป็นใบตอบรับไปรษณีย์ ที่แสดงว่าได้ส่งหนังสือแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ ไปยังที่อยู่ซึ่งเป็นสำนักงานแห่งใหญ่ของจำเลยที่ 1 มีผู้ลงชื่อรับ เอกสารท้ายฟ้องเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง และเป็นหลักฐานเบื้องต้นที่น่าเชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามเอกสารนั้น แม้ชั้นพิจารณาโจทก์มิได้นำเอกสารท้ายฟ้องมาสืบเป็นพยานโจทก์ก็ตาม แต่นางสาวปาริชาติ ผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์ เบิกความเป็นพยานโจทก์ยืนยันว่า หลังจากโจทก์รับซื้อทรัพย์ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เจ้าพระยา จำกัด ที่ถูกทางการสั่งระงับการดำเนินกิจการ จากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินมาแล้ว โจทก์ได้ให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามการโอนไปยังลูกหนี้ทุกราย และได้ให้ทนายความบอกกล่าวทวงถามไปยังฝ่ายจำเลย และยังได้ความจากคำเบิกความของนางสาวปาริชาติและหลักฐานของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน สัญญาจะใช้เงิน 30,000,000 บาท แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เจ้าพระยา จำกัด ตั้งแต่ปี 2537 เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนด จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยแก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เจ้าพระยา จำกัด แล้วออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่แทนฉบับเดิมหลายครั้งต่อเนื่องกัน ครั้งสุดท้ายเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับตามฟ้องซึ่งออกเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2539 และยังชำระดอกเบี้ยตลอดมา โดยชำระดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2540 หลังจากนั้นไม่ชำระอีกเลย เมื่อทางการให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เจ้าพระยา จำกัด ระงับการดำเนินกิจการ จำเลยที่ 1 กลับอ้างว่าจำเลยที่ 1 ไม่เคยออกตั๋วสัญญาใช้เงินทุกฉบับ จำเลยที่ 2 ก็อ้างว่าจำเลยที่ 2 ไม่เคยค้ำประกันทุกฉบับ ซึ่งเป็นการอ้างที่ไม่เป็นความจริง เมื่อพิจารณาคำฟ้อง คำเบิกความ พยานหลักฐานของโจทก์ และพฤติกรรมของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าว ประกอบเหตุผลที่ว่าตามวิสัยของเจ้าหนี้ย่อมจะต้องบอกกล่าวทวงถามให้ลูกหนี้ที่มีหนี้จำนวนมากชำระหนี้แล้ว จึงเชื่อว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เจ้าพระยา จำกัด และโจทก์ต้องบอกกล่าวทวงถามจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งมีหนี้จำนวนมากให้ชำระหนี้ก่อนฟ้องโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วเช่นกัน ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยทั้งสามจะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด เห็นว่า โจทก์มีผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินสัญญาว่าจะใช้เงิน 30,000,000 บาท ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ครบกำหนดเมื่อทวงถาม จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2540 หลังจากนั้นไม่ชำระ ตามหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้เอกสารท้ายฟ้องมีข้อความระบุชัดเจนว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินสัญญาว่าจะใช้เงิน 30,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เจ้าพระยา จำกัด เมื่อทวงถาม จำเลยที่ 1 ผิดนัดมีหนี้ค้างชำระตามตั๋วสัญญาใช้เงินพร้อมดอกเบี้ย 45,698,630.13 บาท ทนายความผู้รับมอบอำนาจจึงบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 นำต้นเงินมาชำระพร้อมดอกเบี้ยให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน การทวงถามให้ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินทำให้ตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดในวันครบกำหนดที่ทวงถามแล้ว เมื่อปรากฏว่าหนังสือดังกล่าวจัดส่งให้แก่จำเลยทั้งสามตามที่อยู่ที่ให้ไว้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินโดยชอบแล้ว ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างในฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้บอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามทราบโดยชอบนั้น เห็นว่า การซื้อขายทรัพย์สินรายพิพาทเป็นการซื้อขายกันตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษ จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของบทบัญญัติว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 2 ลักษณะ 1 หมวด 4 เรื่องโอนสิทธิเรียกร้อง ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างในฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี นั้น เห็นว่า โจทก์มีตัวผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 เปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับสุดท้าย บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เจ้าพระยา จำกัด มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ตามที่บริษัทดังกล่าวประกาศกำหนดโดยอาศัยอำนาจที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังประกาศมอบอำนาจให้ไว้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว ได้มอบอำนาจให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เจ้าพระยา จำกัด ประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยเอง ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจที่จะออกข้อกำหนดดังกล่าวได้ตามความในมาตรา 30 (1) (2) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และกระทรวงการคลังมีอำนาจตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 โดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย หาใช่กรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่มีอำนาจตามพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 ดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างมาในฎีกาแต่อย่างใดไม่ เมื่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เจ้าพระยา จำกัด มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมาย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 20,000 บาท แทนโจทก์

Share