แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความในมาตรา 8 แห่ง ป.ม.กฎหมายลักษณะอาญาทหาร มีบัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า ถ้านายทหารผู้มีอำนาจตั้งศาลทหาร เห็นสมควรให้นำความผิดฟ้องร้องต่อศาลแล้ว ผู้บังคับบัญชาจะสั่งลงโทษทางวินัยไม่ได้ จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของนายทหารผู้มีอำนาจตั้งศาลทหาร
จำเลยเป็นนายสิบเวรของกองร้อย ได้ละทิ้งหน้าที่ไปจนคนร้ายลักปืนกลเบาของกองร้อยไป ผู้บังคับบัญชาของจำเลยได้สั่งลงทัณฑ์ขัง 15 วัน แล้วต่อมาผู้มีอำนาจตั้งศาลทหารได้มีคำสั่งตั้งกรรมการศาลขึ้นพิจารณาพิพากษาการกระทำของจำเลย ซึ่งเป็นอำนาจสูงกว่าคำสั่งผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ได้สั่งให้ลงทัณฑ์ ดังนี้ ไม่ตัดอำนาจของผู้มีอำนาจตั้งศาลทหาร ที่จะสั่งฟ้องร้องจำเลยได้.
ย่อยาว
ความว่า จำเลยมีหน้าที่เป็นนายสิบเวรของกองร้อย ในระยะเวลาอันเป็นหน้าที่ราชการของจำเลย ๆ ได้ละทิ้งหน้าที่ออกจากกองร้อยไปเสีย ระหว่างจำเลยละทิ้งหน้าที่ไป ได้มีคนร้ายลักปืนกลเบาไป ๕ กระบอก ผู้บังคับบัญชากองร้อยและกองทัพ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยเห็นว่าการกระทำผิดของจำเลยเป็นฐานผิดวินัย จึงสั่งให้ลงทัณฑ์ขังจำเลย ๑๕ วัน ครั้นต่อมาได้ทำการสอบสวน และฟ้องเป็นคดีนี้ขึ้น ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.ม.กฎหมายลักษณะอาญาทหาร มาตรา ๒๙ (๓) จำเลยให้การรับว่าได้ละทิ้งหน้าที่จริง แต่ได้ถูกลงทัณฑ์ทางวินัยแล้ว ศาลจังหวัดทหารบกอุบล เห็นว่า ผู้บังคับบัญชาได้ลงทัณฑ์ไปแล้ว ศาลจะลงโทษซ้ำอีกไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง ศาลทหารกลางพิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ให้จำคุก ๓ ปี ลดฐานสารภาพ คงจำคุก ๒ ปี
จำเลยฎีกา,
ศาลฎีกาเห็นว่า ความในมาตรา ๘ แห่ง ป.ม.กฎหมายลักษณะอาญาทหาร มีบัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า ถ้านายทหารผู้มีอำนาจตั้งศาลทหาร เห็นสมควรให้นำความผิดฟ้องร้องต่อศาลแล้ว จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของนายทหารผู้มีอำนาจตั้งศาลทหาร เรื่องนี้ผู้มีอำนาจตั้งศาลทหารได้มีคำสั่งตั้งกรรมการศาลขึ้นพิจารณาพิพากษาการกระทำของจำเลย ซึ่งเป็นอำนาจสูงกว่าผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ได้สั่งลงทัณฑ์
พิพากษายืน.