คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 757/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

++ เรื่อง ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ++
++ ทดสอบการทำงานในระบบ CW เพื่อค้นหาข้อมูลทาง online ++
++
++
ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคท้าย ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2518 มาตรา 17 ให้อำนาจศาลที่จะนำพยานหลักฐานอันเกี่ยวกับประเด็นในคดีมาสืบเองได้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมการที่ศาลภาษีอากรเรียกพยานอันเกี่ยวกับประเด็นในคดีมาสืบ โดยพยานเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครจำเลยที่เกี่ยวข้องกับการประเมินภาษีโจทก์เพื่อให้การกำหนดค่ารายปีและค่าภาษีเป็นไปโดยถูกต้องเที่ยงธรรม จึงชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวแล้ว แม้โจทก์จะมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานภายในกำหนดและโจทก์ไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบก็ตาม กรณีหาอาจถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปไม่
โจทก์ได้รับแจ้งคำชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่จากกรุงเทพมหานครจำเลย เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2542 และนำคดีมาฟ้องวันที่ 7 กรกฎาคม 2542 ซึ่งการนับระยะเวลานั้น ป.พ.พ. มาตรา193/3 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวันสัปดาห์เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน…” ดังนั้น วันที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจึงเป็นวันครบสามสิบวันพอดี เป็นการฟ้องภายในกำหนดระยะเวลาตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง
หนี้ที่กรุงเทพมหานครจำเลยต้องชำระคืนแก่โจทก์เป็นหนี้เงินโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตาม ป.พ.พ.มาตรา 224 วรรคหนึ่ง การที่ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา39 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าศาลตัดสินให้ลดค่าภาษีท่านให้คืนเงินส่วนที่ลดนั้นภายในสามเดือน โดยไม่คิดค่าอย่างใด” จึงเป็นบทยกเว้นความรับผิดเกี่ยวกับดอกเบี้ยที่จะต้องชำระแก่โจทก์ แต่มีระยะเวลาเพียงสามเดือนเมื่อพ้นกำหนดนี้แล้ว จำเลยยังไม่ชำระโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ จำเลยที่ ๑ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติราชการ เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๑ พนักงานเก็บภาษี สำนักงานเขตคลองเตยของจำเลยที่ ๑ ได้แจ้งรายการประเมินค่ารายปีและค่าภาษีของทรัพย์สินในอาคารชุดมโนรมย์ ตั้งอยู่เลขที่ ๓๓๕๔/๔ และ ๓๓๕๔/๔๓ ถนนพระราม ๔แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ที่ให้ผู้อื่นเช่าประจำปีภาษี ๒๕๔๑ โดยอาคารชุดเลขที่ ๓๓๕๔/๔ ประเมินค่ารายปีจำนวน๙๘๔,๐๐๐ บาท ค่าภาษีจำนวน ๔๑,๐๐๐ บาท อาคารชุดเลขที่ ๓๓๕๔/๔๓ประเมินค่ารายปีจำนวน ๑,๗๖๓,๐๔๐ บาท ค่าภาษีจำนวน ๒๒๐,๓๘๐ บาทพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ประเมินค่ารายปีจากอัตราค่าเช่าเดิมของปีที่ล่วงมาแล้วเพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงอัตราค่าเช่าทั้งปีที่โจทก์ได้รับจริง ซึ่งโจทก์ให้ผู้อื่นเช่าได้ค่าเช่าดังนี้ อาคารชุดเลขที่ ๓๓๕๔/๔โจทก์ได้รับค่าเช่าจำนวน ๓๒๘,๐๐๐ บาท อาคารชุดเลขที่ ๓๓๕๔/๔๓โจทก์ได้รับค่าเช่าจำนวน ๕๓๑,๖๐๐ บาท โจทก์เห็นว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ประเมินค่ารายปีและค่าภาษีไม่ถูกต้องโดยเรียกเก็บค่าภาษีจากโจทก์เกินไปจำนวน ๑๗๒,๑๓๐ บาท จึงได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ ๒ ขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม๒๕๔๑ ต่อมาวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๔๒ โจทก์ได้รับแจ้งคำชี้ขาดจากจำเลยที่ ๒ โดยชี้ขาดให้โจทก์ชำระค่าภาษีตามค่ารายปีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ประเมิน โจทก์นำเงินไปชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามที่จำเลยที่ ๑ ประเมินครบถ้วนแล้ว ขอให้พิพากษาเพิกถอนการประเมินของจำเลยที่ ๑ ลงวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๑ และเพิกถอนคำชี้ขาดของจำเลยที่ ๒ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินค่าภาษีที่เรียกเก็บเงินเกินไปจำนวน ๑๗๒,๑๓๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีนับแต่วันที่จำเลยไม่ยอมชำระคืนตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ กำหนดค่ารายปีสำหรับอาคารทั้งสองดังกล่าวของโจทก์ โดยถือเอาตามค่ารายปีของปีภาษี ๒๕๔๐ อันเป็นปีที่ล่วงแล้วมาเป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียปีภาษี ๒๕๔๑ นอกจากนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ยังได้ประเมินโดยเทียบเคียงกับค่ารายปีของอาคารเลขที่อื่น ๆ ของโจทก์ที่มีลักษณะของอาคาร ขนาดพื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์เป็นอย่างเดียวหรือคล้ายคลึงกัน ซึ่งปรากฏว่าอาคารเลขที่อื่นคิดค่าเช่าในอัตราที่สูงกว่าอัตราค่าเช่าสำหรับอาคารเลขที่พิพาทในคดีนี้ การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ชอบแล้ว ทั้งโจทก์ฟ้องคดีเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษาให้แก้การประเมินตามใบแจ้งการประเมินเล่มที่ ๑๓ เล่มที่ ๖๒ ลงวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ และใบแจ้งคำชี้ขาดเล่มที่ ๒๑ เลขที่ ๒๙ ลงวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๒ โดยให้กำหนดค่ารายปีของโรงเรือนเลขที่ ๓๓๕๔/๔ เป็นเงิน ๙๒๗,๘๗๕.๙๘ บาท (ที่ถูกคือ๓๐๙,๒๙๑.๙๒ บาท ค่ารายปีของโรงเรือนเลขที่ ๓๓๕๔/๔๓ เป็นเงิน๙๒๗,๘๗๕.๙๘ บาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินค่าภาษีให้โจทก์จำนวน๑๐๖,๗๓๔ บาท ภายในสามเดือนนับแต่คำพิพากษาถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันครบกำหนดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๓,๐๐๐ บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วทางพิจารณาพยานที่ศาลภาษีอากรกลางเรียกมาสืบเบิกความว่า เมื่อผู้รับประเมินยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ จะตรวจดูค่ารายปีของปีที่ผ่านมา กับตรวจสอบสัญญาเช่าว่ามีการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าเช่าหรือไม่ หากเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นก็จะประเมินค่ารายปีสูงกว่าค่ารายปีของปีที่ผ่านมา หากอัตราค่าเช่าลดลงพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ไม่มีอำนาจประเมินค่ารายปีลดลง หากผู้รับประเมินประสงค์จะให้ลดค่ารายปีลง จะต้องยื่นคำร้องขอลดค่ารายปีต่อจำเลยที่ ๑ สำหรับโจทก์มิได้ขอลดค่ารายปีพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ จึงประเมินค่ารายปีเท่ากับค่ารายปีของปีที่ผ่านมาโดยเปรียบเทียบกับอัตราค่าเช่าของอาคารข้างเคียงด้วยซึ่งมีอัตราค่าเช่าสูงกว่าอัตราค่าเช่าอาคารของโจทก์มาก
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของอาคารชุดเลขที่ ๓๓๕๔/๔ และ ๓๓๕๔/๔๓ ถนนพระราม ๔แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม๒๕๔๑ พนักงานเก็บภาษีของจำเลยที่ ๑ แจ้งรายการประเมินค่ารายปีและค่าภาษีของอาคารชุดดังกล่าวประจำปีภาษี ๒๕๔๑ แก่โจทก์ โดยอาคารชุดเลขที่ ๓๓๕๔/๔ ประเมินค่ารายปีจำนวน ๓๒๘,๐๐๐ บาท ค่าภาษีจำนวน๔๑,๐๐๐ บาท อาคารชุดเลขที่ ๓๓๕๔/๔๓ ประเมินค่ารายปีจำนวน๑,๗๖๓,๐๔๐ บาท ค่าภาษีจำนวน ๒๒๐,๓๘๐ บาท โจทก์ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ ๒ ขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ จำเลยที่ ๒ พิจารณาแล้วมีคำชี้ขาดให้โจทก์ชำระค่าภาษีตามค่ารายปีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ประเมิน ก่อนคดีนี้ โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๒ ต่อศาลภาษีอากรกลาง ขอให้เพิกถอนการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ ที่ประเมินค่ารายปีและค่าภาษีประจำปี ๒๕๔๐ ของอาคารชุดทั้งสองห้องดังกล่าวกับอาคารอื่นของโจทก์ตามคดีหมายเลขดำที่๗๑/๒๕๔๑ คดีหมายเลขแดงที่ ๕๒/๒๕๔๒ ของศาลภาษีอากรกลางซึ่งศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและกำหนดค่ารายปีของอาคารชุดเลขที่ดังกล่าวหลังละ ๙๒๗,๘๗๕.๙๘ บาท ศาลฎีกาพิพากษายืน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อแรกมีว่าการที่ศาลภาษีอากรกลางเรียกพยานมาสืบเองเป็นการชอบหรือไม่เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๖ วรรคท้ายประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๑๗ ให้อำนาจศาลที่จะนำพยานหลักฐานอันเกี่ยวกับประเด็นในคดีมาสืบเองได้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ดังนั้น ที่ศาลภาษีอากรกลางเรียกพยานอันเกี่ยวกับประเด็นในคดีมาสืบ โดยพยานทั้งหมดเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินภาษีโจทก์ เพื่อให้การกำหนดค่ารายปีและค่าภาษีเป็นไปโดยถูกต้องเที่ยงธรรมจึงชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว แม้โจทก์จะมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานภายในกำหนดและไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบก็ตาม กรณีหาอาจถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปดังจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ไม่ คำพิพากษาฎีกาที่จำเลยทั้งสองอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อต่อไปมีว่า ค่ารายปีประจำปีภาษี ๒๕๔๑ ของอาคารชุดเลขที่ ๓๓๕๔/๔ และ๓๓๕๔/๔๓ ควรมีจำนวนเท่าใด นางสาวลดาวรรณ ชูติกาญจน์พยานศาลซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ เบิกความว่า พยานประเมินค่ารายปีของอาคารเลขที่ ๓๓๕๔/๔ และ ๓๓๕๔/๔๓ เท่ากับค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้ว โดยเปรียบเทียบกับค่ารายปีของอาคารข้างเคียงด้วย นายประสบโชค ใจเพ็ชร พยานศาลอีกปากหนึ่งเบิกความสนับสนุนว่าได้เปรียบเทียบกับอาคารชุดเลขที่ ๓๓๕๔/๑๘ ของกองมรดก คุณหญิงดุษฎีศุภมงคล ซึ่งประเมินค่ารายปีจำนวน ๑,๑๐๒,๘๐๐ บาท เห็นว่า ตามแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินเอกสารหมาย ล.๑แผ่นที่ ๒๐ ถึง ๒๒ โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี ๒๕๔๑ สำหรับอาคารชุดของโจทก์รวม ๑๓ ห้อง ทุกห้องอยู่ชั้นเดียวกัน และมีขนาดกว้าง ๑๓.๒๕ เมตร ยาว ๒๐.๙๐ เมตรเท่ากัน เว้นแต่อาคารชุดเลขที่ ๓๓๕๔/๕ ที่มีเนื้อที่เพียง ๑๓.๙๐ ตารางเมตรนอกจากอาคารชุดเลขที่ ๓๓๕๔/๔ และ ๓๓๕๔/๔๓ แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ประเมินค่ารายปีเกินจำนวน ๙๐๐,๐๐๐ บาทเพียงห้องเดียว คือ อาคารชุดเลขที่ ๓๓๕๔/๔๐ ซึ่งประเมินค่ารายปีจำนวน ๙๑๕,๔๒๐ บาท นอกจากนี้ประเมินค่ารายปีต่ำกว่า๙๐๐,๐๐๐ บาท ทั้งสิ้น อาคารชุดทั้งหมดตั้งอยู่ในอาคารหลังเดียวกันมีลักษณะของอาคาร ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่อาคารดังกล่าวได้รับประโยชน์ใกล้เคียงกัน การนำค่ารายปีมาเปรียบเทียบจึงต้องนำค่ารายปีของอาคารชุดอื่นมาเปรียบเทียบด้วย มิใช่นำค่ารายปีเฉพาะของอาคารชุดเลขที่ ๓๓๕๔/๑๘ มาเปรียบเทียบเท่านั้น เมื่ออาคารส่วนใหญ่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ประเมินค่ารายปีจำนวน ๗๐๐,๐๐๐ บาทเศษเท่านั้น การที่ศาลภาษีอากรกลางกำหนดค่ารายปีของอาคารชุดเลขที่ ๓๓๕๔/๔ และ ๓๓๕๔/๔๓ เท่ากับค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วในอัตราตารางเมตรละ ๒๗๙.๒๒ บาท ต่อเดือนตามคำพิพากษาศาลฎีกาคิดเป็นค่ารายปีหลังละ ๙๒๗,๘๗๕.๙๘ บาท โดยคำนวณค่ารายปีของโรงเรือนเลขที่ ๓๓๕๔/๔ เพียง ๔ เดือน ตามการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ จึงเหมาะสมแล้ว
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อต่อไปมีว่าโจทก์ฟ้องคดีภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ปัญหาข้อนี้ว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นสามสิบวันนับแต่วันรับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาดแล้ว เห็นว่า โจทก์ได้รับแจ้งคำชี้ขาดเมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน๒๕๔๒ และนำคดีมาฟ้องวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๔๒ ซึ่งการนับระยะเวลานั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓ วรรคสองบัญญัติว่า”ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวันสัปดาห์เดือนหรือปี มีให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน…” ดังนั้นวันที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจึงเป็นวันครบสามสิบวันพอดี เป็นการฟ้องภายในกำหนดระยะเวลาตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.๒๕๗๕ มาตรา ๓๑ วรรคหนึ่ง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นข้อสุดท้ายตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองมีว่าที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ด้วยเป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า หนี้ที่จำเลยทั้งสองต้องชำระแก่โจทก์เป็นหนี้เงินปกติโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง การที่พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.๒๕๗๕ มาตรา ๓๙ วรรคสองบัญญัติว่า “ถ้าศาลตัดสินให้ลดค่าภาษี ท่านให้คืนเงินส่วนที่ลดนั้นภายในสามเดือน โดยไม่คิดค่าอย่างใด” จึงเป็นบทยกเว้นความรับผิดเกี่ยวกับดอกเบี้ยของจำเลยทั้งสองที่จะต้องชำระแก่โจทก์ แต่มีระยะเวลาเพียงสามเดือนเท่านั้น เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้ว จำเลยทั้งสองยังไม่ชำระโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี แก่จำเลยทั้งสองได้ ดังนั้นที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินค่าภาษีแก่โจทก์ภายในสามเดือนนับแต่คำพิพากษาถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์จำนวน ๓,๐๐๐ บาท แทนโจทก์.

Share