คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 757/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

วัดเป็นเสมือนหนึ่งสมบัติส่วนกลางซึ่งชาวบ้านใช้สอย ร่วมกันสิ่งใดที่ราษฎรได้กระทำไปเพื่อประโยชน์ร่วมกันแล้ว ย่อมเป็นที่เข้าใจกันว่าทำได้ การจับปลาในสระของวัดเกิดจากอาหารไม่เพียงพอเลี้ยงดูกันสำหรับมื้อ กลางวันในวันเกิดเหตุ จึงปรารภกันทอดแหจับปลาในสระของวัดขึ้นมาประกอบอาหารรับประทานกันด้วยความรู้สึกร่วมกันของทุกคน ณ ที่นั้นว่าพึงทำได้ แม้จำเลยทั้งสองกับ ม. และ ส. ทำกันเพียง 4 คน ก็ทำด้วยความยินยอมพร้อมใจในบรรดาราษฎรในสถานที่นั้นด้วยกันทุกคน เพราะในที่สุดจะได้รับประทานด้วยกัน เป็นการกระทำด้วยความรู้สึกว่าเจ้าอาวาสวัดยินยอมโดยปริยาย ประกอบกับจำเลยทั้งสองกับพวกจับปลาขึ้นมาเพียง6 ตัว และเมื่อถูกพระทักท้วง จำเลยทั้งสองกับพวกก็มิได้ดื้อดึงทำต่อไป พฤติการณ์ดังกล่าวเห็นได้ว่าเป็นการกระทำด้วยวิสาสะคิดว่ามีสิทธิทำได้อาจเป็นเพราะว่าเจ้าอาวาสได้พูดเป็นนัยไว้ก่อนหน้าวันเกิดเหตุให้ใช้ของวัดในกรณีขาดแคลนก็ได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองกับพวกจึงขาดเจตนาทุจริต.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา83, 334, 335
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 วรรคแรก, 83 วางโทษจำคุกคนละหนึ่งปีพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วให้รอการลงโทษไว้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 มีกำหนดสองปี
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในปัญหาที่ว่าจำเลยได้ร่วมกับพวกจับปลาในสระของวัดหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์มีพยานทั้งฆราวาสและบรรพชิตเบิกความยืนยันว่า จำเลยได้ร่วมกับนายมูลและนายสวยทอดแหจับปลาในสระของวัดโจทก์ ไม่มีพยานปากใดที่น่าจะเบิกความปรักปรำจำเลย คดีฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกับพวกจับปลาในสระของวัดโจทก์จริงดังโจทก์กล่าวหา ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามฟ้องหรือไม่นั้นศาลฎีกาเห็นว่า อันวัดนั้นเป็นเสมือนหนึ่งสมบัติส่วนกลางซึ่งชาวบ้านใช้สอยร่วมกัน เช่นใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศลและสาธารณประโยชน์ สมบัติของวัดเองชาวบ้านก็ร่วมกันใช้ประกอบกิจการต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมดังกรณีสาธิตการทำปุ๋ยหมักในวันเกิดเหตุ สิ่งใดที่ราษฎรได้กระทำไปเพื่อประโยชน์ร่วมกันแล้ว ย่อมเป็นที่เข้าใจกันว่าทำได้ การจับปลาในสระของวัดในวันเกิดเหตุนั้นก็เช่นกัน เกิดจากอาหารไม่เพียงพอในการเลี้ยงดูกันสำหรับมื้อกลางวันนั้นนั่นเอง จึงได้ปรารภกันทอดแหจับปลาในสระของวัดโจทก์ขึ้นมาประกอบอาหารรับประทานกันด้วยความรู้สึกร่วมกันของทุกคน ณ ที่นั้นว่าพึงทำได้ แม้จำเลยทั้งสองกับนายมูลและนายสวยทำกันเพียง 4 คนก็ทำด้วยความยินยอมพร้อมใจในบรรดาราษฎรในสถานที่นั้นด้วยกันทุกคนเพราะในที่สุดจะได้รับประทานด้วยกัน เป็นการกระทำด้วยความรู้สึกว่าเจ้าอาวาสวัดโจทก์ยินยอมโดยปริยาย จะเห็นได้ว่า จำเลยทั้งสองกับพวกจับปลาขึ้นมาเพียง 6 ตัว เท่านั้น และเมื่อถูกพระบุญธรรมทักท้วง จำเลยทั้งสองกับพวกก็มิได้ดื้อดึงทำต่อไป พฤติการณ์ดังกล่าวเห็นได้ว่าเป็นการกระทำด้วยวิสาสะคิดว่ามีสิทธิทำได้ อาจเป็นเพราะว่าเจ้าอาวาสได้พูดเป็นนัยไว้ก่อนหน้าวันเกิดเหตุให้ใช้ของวัดในกรณีขาดแคลนก็ได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองกับพวกจึงขาดเจตนาทุจริตไม่มีความผิด…”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.

Share