แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินโจทก์ร่วมแล้วจำเลยที่ 1 มอบเช็คพิพาทให้โจทก์ร่วม โดยปรากฏว่าวันสั่งจ่ายที่ลงในเช็คตรงกับวันที่ครบกำหนดชำระเงินตาม สัญญากู้เงิน แสดงว่าขณะเช็คถึงกำหนดสั่งจ่ายซึ่งถือว่าเป็นวันออกเช็คนั้นมูลหนี้ตามเช็คดังกล่าวมีหลักฐาน การกู้ยืมเป็นหนังสือสามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามกฎหมาย เมื่อหนี้กู้ยืมอันเป็นมูลหนี้ตามเช็คพิพาทเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและสามารถฟ้องร้องบังคับได้ตามกฎหมายการที่จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมดังกล่าวเท่ากับจำเลยที่ 2 ยินยอมชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว แม้ว่าจำเลยที่ 2 จะไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ด้วยก็ตาม เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยที่ 2 ย่อมมีความผิดตามฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4(1)(2)ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต ต่อมาจำเลยที่ 1 หลบหนี ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ไว้ชั่วคราว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4(1)(2)ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุก 8 เดือน
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2538 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินจากโจทก์ร่วม 400,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1.25 ต่อเดือนกำหนดชำระภายในวันที่ 29 มกราคม 2539 ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 โดยจำเลยที่ 1 นำเช็คธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) สาขาสวนจตุจักร ลงวันที่ 29 มกราคม 2539สั่งจ่ายเงินจำนวน 405,000 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อสั่งจ่ายตามเช็คเอกสารหมาย จ.3 มอบให้โจทก์ร่วมไว้เพื่อชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 ครั้นเช็คถึงกำหนดชำระโจทก์ร่วมนำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีโจทก์ร่วมที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนตะนาว เพื่อเรียกเก็บเงิน ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินในวันที่ 29 มกราคม 2539 ว่าบัญชีปิดแล้ว ตามใบแจ้งคืนเช็คและใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5
ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า ขณะจำเลยทั้งสองสั่งจ่ายเช็ค เอกสารหมาย จ.3 จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ทำสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2กับโจทก์ร่วม จำเลยที่ 2 เพิ่งทำสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2กับโจทก์ร่วมหลังจากจำเลยทั้งสองออกเช็คเอกสารหมาย จ.3 แล้วดังนั้น ขณะจำเลยทั้งสองออกเช็ค หนี้ตามเช็คดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่ไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมายนั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1ทำสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 แล้วจำเลยที่ 1 มอบเช็คเอกสารหมาย จ.3 ให้โจทก์ร่วม โดยปรากฏว่าวันสั่งจ่ายที่ลงในเช็คตรงกับวันที่ครบกำหนดชำระเงินตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2แสดงว่า ขณะเช็คถึงกำหนดสั่งจ่ายซึ่งถือว่าเป็นวันออกเช็คนั้นมูลหนี้ตามเช็คดังกล่าวมีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือสามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามกฎหมายและที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2ไม่อาจใช้เอกสารหมาย จ.2 ฟ้องร้องบังคับเอาแก่จำเลยที่ 2 ได้จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่า หนี้กู้ยืมอันเป็นมูลหนี้ตามเช็คนั้นเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและสามารถฟ้องร้องบังคับได้ตามกฎหมาย การที่จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมดังกล่าวเท่ากับจำเลยที่ 2ยินยอมชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยที่ 2 ย่อมมีความผิดตามฟ้อง
พิพากษายืน